
นสพ. Herald Sun Sunday ฉบับวันที่ 29 พ.ค. 2016 เสนอข่าวการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านอิสลามและกลุ่มต่อต้านการรังเกียจเชื้อชาติ
29 พ.ค. 2016 การเดินกระบวนประท้วงเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาในหลายจุดในนครเมลเบิร์นและตามเมืองใหญ่ในรัฐวิกตอเรีย ได้เกิดการปะทะกันตามความคาดหมายระหว่างนักประท้วงอาชีพจากกลุ่มต่อต้านอิสลามและกลุ่มต่อต้านการรังเกียจเชื้อชาติ
การปะทะที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่ภายนอกหอสมุดติดกับโรงเรียนประถมของย่าน Coburg ทางเหนือของนครเมลเบิร์น โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 400 คนยกพวกตีกัน แต่หัวโจกของทั้งสองฝ่ายได้สวมหน้ากากและผ้าคลุมศีรษะทำให้ตำรวจทำงานลำบากมากขึ้นในการติดตามเอาผิดบุคคลเหล่านี้ในภายหลัง
นอกจากการปะทะกันที่ย่าน Coburg แล้ว ยังมีเหตุปะทะกันประปรายที่เมือง Bendigo และในย่านธุรกิจกลางในเมืองของนครเมลเบิร์น
นาย John Pesutto ผู้ดูแลงานด้านกระทรวงสำนักงานอัยการของพรรคฝ่ายค้านรัฐวิกตอเรียกล่าวว่า นักประท้วงมืออาชีพพวกนี้ไม่เคารพกฎหมาย, ตำรวจและทรัพย์สิน ตำรวจควรมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการรับมือกับผู้ไม่เคารพกฎหมายเหล่านี้ ตามร่างกฎหมายที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ เช่นกฎหมายห้ามผู้ประท้วงสวมหน้ากากและผ้าคลุมหัว เขาเห็นว่าการใช้พฤติกรรมรุนแรงไม่ควรเป็นสิ่งที่จะต้องอดทนกันอีกต่อไป
สำหรับแกนนำของกลุ่มต่อต้านการรังเกียจเชื้อชาติคือกลุ่ม Antifa ร่วมกับกลุ่มสังคมนิยมหัวรุ่นแรง, กลุ่มอนาธิปไตย (anarchists กลุ่มต่อต้านกฎหมายและการปกครองของบ้านเมือง) และกลุ่มต่อต้านการรังเกียจเชื้อชาติซึ่งถือเป็นกลุ่มซ้ายตกของ มักจะมีเหตุปะทะกับกลุ่มขวาตกขอบซึ่งมีแกนนำคือกลุ่ม United Patriots Front และกลุ่มเกิดใหม่ True Blue Crew ที่มีความรักชาติอย่างเกินตัว
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างออกมาอ้างว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยกลุ่ม United Patriots Front อ้างว่าพวกเขาเพียงจัดกำลังเฝ้าระวังป้องกันอันตรายให้กับผู้ประท้วงของตน แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามที่เริ่มโจมตีก่อน พวกเขาจึงต้องต่อสู้กลับ
ทางด้านแถลงการณ์ของสำนักงานตำรวจรัฐวิกตอเรียกล่าวว่า ตำรวจสามารถรับสถานการณ์ได้ แต่มีข้อกฎหมายบางอย่างที่ตำรวจไม่สามารถจัดการกับคนร้ายในภายหลัง เนื่องจากหลายคนปิดบังใบหน้าของตนจากการถูกบันทึกภาพจากกล้อง CCTV
ในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคมเช่นกันที่ซิดนีย์ได้จัดให้มีการเดินขบวนถือป้ายประท้วงเช่นกันแต่ไม่ดุดันเหมือนที่นครเมลเบิร์น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายที่เข้มงวดกว่าและการขาดผู้เติมเชื้อไฟจากฝ่ายตรงข้าม เป็นผลให้ไม่มีการปะทะกันระหว่างสองฝ่าย
แต่การประท้วงที่ดูมีสีสันเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม จัดโดยพรรคกรีนส์และกลุ่มสังคมนิยมหัวรุนแรงสามารถรวบรวมผู้ประท้วงได้กว่า 6,000 คนรวมตัวกันที่ Town Hall ก่อนเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภารัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นการประท้วงแบบกลุ่มใดจะประท้วงอะไรก็จัดมา (สังเกตจากป้ายประท้วงที่ต่างฝ่ายต่างหากันมา ไม่ได้จัดตั้งและผลิตจากโรงงานเดียวกันแล้วมาแจกจ่ายกันถือ)
สื่อมวลชนจากค่าย the Daily Telegraph ได้สรุปว่าพวกเขาถือป้ายประท้วงทุกอย่างเช่น ต่อต้านรัฐบาลรัฐน.ซ.ว.ของนาย Mike Baird, ต่อต้านนาย Andrew Scipione ผู้ว่าการตำรวจรัฐน.ซ.ว., ต่อต้านโครงการแก๊สถ่านหินตะเข็บ หรือ coal seam gas, การทำเหมืองแร่, การใช้สุนัขตำรวจดมกลิ่น, เรือนจำเอกชน, การตัดต้นไม้เพื่อก่อสร้างระบบรถไฟรางเบาสายซิดนีย์ตะวันออก, ยุติการก่อสร้างสนามบินที่สองไม่ว่าจะเป็นที่ Badgerys Creek หรือที่อื่น ๆ, ต่อต้านการย้ายสถานีผลิตไฟฟ้าไปยังซิดนีย์ตะวันตก, ต่อต้านบริษัทห้างร้าน, ต่อต้านระบบทุนนิยม, ต่อต้านโครงการถนนเชื่อมต่อ WestConnex, ต่อต้านการเก็บเงินค่าผ่านทาง, ต่อต้านกฎหมายล็อคเอ๊าท์ให้ปิดผับหลังตีหนึ่ง, ต่อต้านการสร้างคาสิโนที่ Barangaroo, ต่อต้านการขายอาคารของรัฐ, ต่อต้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย, ต่อต้านโฆษณาแฮลกอฮอล์ในการแข่งขันกีฬา, ต่อต้านการรวมเทศบาลเขต โดยมีการถือป้ายที่พวกเขาสนับสนุนเพียงป้ายเดียวคือ ecosexual ซึ่งเป็นแนวความคิดของกลุ่มกรีนส์ในการนำเอาแนวความคิดของกลุ่มกรีนส์เดิมในเรื่องของระบบนิเวศมาผสมผสานกับเพศสภาพของมนุษย์ (human sexuality)
โดยการชุมนุมประท้วงเป็นอย่างดุดัน, เอาจริงเอาจัง แต่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

การประท้วงทุกอย่างยกเว้น ecosexual ที่ Town Hall เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2016 : ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph
หมายเหตุ ขณะนี้จิงโจ้นิวส์อยู่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ตามที่แจ้งไว้ในสู่เดือนพฤษภาคมครับ
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply