.
สู่เดือนกุมภาพันธ์ 2559
.

ภาพเปิดเทอม Back to school จาก Kidspot.com
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถือเป็นวันเปิดเทอมวันแรกของปีการศึกษา 2016 ในบางรัฐ แต่ในบางรัฐก็เปิดเทอมไปก่อนหน้านี้แล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์
วันเปิดเทอมเป็นวันที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ดีใจที่จะได้กลับมาพบเพื่อน ๆ หรือคนที่เพิ่มเข้าโรงเรียนก็จะพบเพื่อนใหม่
แต่สำหรับผู้เป็นพ่อแม่แล้วถือว่าเป็นภาระหนักเอาเรื่องกับค่าใช้จ่าย แม้รัฐบาลจะเข้ามาแบกรับภาระส่วนหนึ่งไปแล้ว โดยผ่านผลประโยชน์ทางสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร แต่ก็ยังมีค่าเครื่องแบบนักเรียนและ ค่าอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ที่จะต้องจ่าย
Heritage Bank เคยทำวิจัยไว้ในปี 2013 พบว่าผู้ปกครองต้องจ่ายเงินให้กับบุตรหลานของพวกเขาในวันเปิดเทอมในแต่ละรัฐแตกต่างกันออกไป รัฐควีนสแลนด์จ่ายสูงสุดเป็นเงินเฉลี่ยคนละ 346 เหรียญ, ตามด้วยรัฐเซาท์ออสเตรเลีย 344 เหรียญ, รัฐวิกตอเรีย 327 เหรียญ, นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี 324 เหรียญ, รัฐแทสมาเนีย 309 เหรียญ, รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย 304 เหรียญ, รัฐนิวเซาท์เวลส์และออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี่ถูกสุดที่ 283 เหรียญ หากเปรียบเทียบเป็นค่าเงินปี 2016 ก็ประมาณคูณด้วย 1.1 ครับ
เก็บข่าวตกเดือนมกราคม ๑๖
ขออนุญาตตามเก็บข่าวตกในเดือนมกราคม โดยจะเสนอความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเดือนมกราคม 2016 ที่ผ่านมา แบบย่อสุด ๆ เพราะเวลาจำกัดครับ
เริ่มจากวันที่ 4 มกราคม 2016 หนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph พาดหัว “SMS ทำวุ่น” ที่มาของเหตุก็สืบเนื่องมาจากข่าววันที่ 30 ธันวาคม 2015 กับการที่รัฐบาลกลางของนาย Malcolm Turnbull ต้องเสียรัฐมนตรีในวันเดียวถึงสองคน หนึ่งในจำนวนนี้คือนาย Jamie Briggs ร.มว.สิ่งแวดล้อมจากกรณีจุมพิตซอกคอเจ้าหน้าที่สาววัย 25 ปีของสถานกงสุลใหญ่ประจำฮ่องกง จนต้องหลุดออกจากตำแหน่ง
เรื่องของนาย Briggs ถูกนาง Samantha Maiden บรรณาธิการข่าวการเมืองของนสพ. The Telegraph นำมารายงานแบบยำเละ ด้วยการพาดหัวข่าว “Briggs Trouble in Little China” รายละเอียดเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ โดยจะไม่ขอกล่าวในที่นี้
แต่เรื่องมาเกิดขึ้นกับนาย Peter Dutton ร.มว.กระทรวงการเข้าเมืองเมื่อเขาส่งข้อความ SMS ไปให้กำลังใจนาย Briggs โดยเอ่ยถึงนาง Maiden ว่า “เป็นแม่มดเสียสติ” แต่แทนที่เขาจะส่งไปให้นาย Briggs กลับกดผิดส่งไปถึงนาง Maiden
เมื่อรู้ตัวว่าทำผิดพลาดครั้งใหญ่นาย Dutton ก็รีบส่งข้อความขอโทษและอธิบายว่าส่งผิดคน นาง Maiden ก็ไม่ว่าอะไรเพราะรู้เขารู้เราและเคยโดนมามากกว่านี้ จึงไม่ถือสาในฐานะคนเห็นหน้ากันประจำเวลาทำงาน แต่อย่างไรเสียด้วยสัญชาตญาณนักข่าว เรื่องนี้นางจึงขอเอาไปทำข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ดั่งที่ปรากฎออกมาข้างบน
ผลที่ตามมานาย Dutton ออกมาขอรับผิดชอบตัวเองด้วยการขอลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีอิมฯ แต่นายกฯ Turnbull ต้องออกมาห้ามไว้ เพราะขืนมีรัฐมนตรีออกไปอีกคน ต้องยุ่งแน่ จะหาคนขึ้นมารับตำแหน่งแทนในเวลานี้ยากเต็มที ในขณะที่นาง Maiden ก็ออกมาห้ามปราม โดยอ้างว่าเป็นภาษาพูดที่ใช้เป็นประจำวันในวงผู้สื่อข่าวและนักการเมือง ย่อมไม่มีใครถือสากัน
วันที่ 13 มกราคม สื่อทุกฉบับงานข่าวนายกฯ Turnbull เป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกที่กล้าปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐต่อการส่งทหารไปร่วมรบในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเยื่อไย ผิดกับนายกฯในอดีตที่ใช่การเจรจาต่อรอง
นสพ. The SMH ฉบับ 14 มกราคม 2016 ได้เสนอข่าวว่าในสับดาห์หน้านายกฯ Turnbull และนาย Barack Obama ผู้นำสหรัฐมีกำหนดนั่งจับเขาคุยภาษาเดียวกันในเรื่องของนวัตกรรมใหม่, สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, พหุวัฒนธรรม และที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องของการรับมือกับการก่อการร้าย
นสพ. The Australian ฉบับ 20 มกราคม 2016 เสนอข่าวนายกฯ Turnbull ได้ออกมาเตือนว่า การเลือกตัวแทนผู้สมัครส.ส.ลงศึกเลือกตั้งอาจก่อให้เกิดศึกภายในพรรค (รัฐบาล)
เมื่อส.ส.รุ่นลายครามจำนวนหนึ่งไม่ยอมวางมือจากการเมือง แต่จะขอลงสมัครรับเลือกตั้งต่อในการเลือกตั้งที่จะถึง ในจำนวนนี้รวมถึงส.ส. Bronwyn Bishop อดีตประธานรัฐสภาที่ถูกนาย Tony Abbott อดีตนายกฯปลดออก แต่ตอนนี้กลับมาสมานไมตรีกันในฐานะคนหัวอกเดียวกัน เธอยืนยันว่าจะขอลงเลือกตั้งส.ส.เขตเลือกตั้ง Mackellar ต่อ
ไม่ต้องเดาก็พอรู้ว่าส.ส.รุ่นเก๋ากึ้กเหลานี้หากกลับมาเข้าสภาอีกสมัยพวกเขาพอใจที่จะอยู่มุ้งของใคร
นสพ. The Telegraph ฉบับ 20 มกราคม 2016 เช่นกัน ฟันธงไปเลยว่า นาย Tony Abbott (ลูกศรเหลืองชี้) จะกลับมาท้าทายและวางแผนเพื่อเป็นช่วงชิงตำแหน่งนายกฯอีกครั้งหนึ่ง
คงจะจำกันได้ว่า เมื่อครั้งนาย Abbott กลายเป็นนายกฯคนที่สามในรอบสามปีที่ถูกปฏิบัติการแทงข้างหลังทะลุหัวใจจนต้องเสียตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิเบอรัลและผู้นำประเทศไปให้กับนาย Turnbull เขาเคยลั่นวาจาไว้ว่า จะไม่มีการเล่นการเมืองน้ำเน่าเพื่อช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา จนทำให้ประเทศชาติเสียหายเหมือนที่เกิดขึ้นกับพรรคเลเบอร์ แต่ถึงขณะนี้ ชายผู้นี้มีทีท่าว่าจะกลืนน้ำลายตัวเองเสียแล้ว ด้วยการประกาศจะลงสมัครส.ส.เขตฯ Warringah ต่อ
แต่จะโทษใครได้ เพราะตลอดเวลาที่นาย Turnbull ขึ้นท็อปจ๊อบเขาก็ได้หักหาญน้ำใจนาย Abbott ด้วยการยกเลิกนโยบายของอดีตผู้นำจอมมุทะลุโดยไม่เกรงใจหลายต่อหลายนโยบาย
การออกมาฟันธงของ the Telegraph มีน้ำหนัก ก็ตรงที่นาย Abbott ซึ่งนั่งเงียบเป็นส.ส.แถวหลังอยู่เป็นเวลาปีกว่า แต่ขณะนี้ออกมาพูดเรื่องนโยบายที่ต่างมุมมองกับนาย Turnbull เหมือนอย่างที่นาย Turnbull เคยทำเมื่อครั้งที่นาย Abbott เป็นนายกฯ แบบหนามยอกเอาหนามบ่ง
และอีกประเด็นหนึ่งก็คือสื่อค่าย the Fairfax ออกมาเปิดประเด็นข่าว “Why Tony Abbott should go” (ทำไมนาย Abbott ถึงต้องไป) ในขณะสื่อคู่แข่งจากค่าย News Corp เกทับหัวข้อข่าวว่า “Abbott move sure to rile Turnbull” (นาย Abbott เคลื่อนไหวเพื่อขว้างลำนาย Turnbull อย่างแน่นอน)
นสพ. the SMH ของค่าย Fairfax ฉบับ 21 มกราคม 2016 เปิดประเด็นใหม่ ด้วยการเสนอข่าวนาย Dick Smith (ลูกศรเหลืองชี้) เข้ามาเสียบแทนผู้ท้าชิงคนเดิมเพื่อแย่งสิทธิเป็นผู้สมัครส.ส.ของพรรคลิเบอรัลในเขตเลือกตั้ง Mackellar กับนาง Bronwyn Bishop ซึ่งคู่นี้พอสมน้ำสมเนื้อกัน
เมื่อครั้งที่มีการสำรวจถึงผู้เหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของออสเตรเลียในกรณีที่ออสเตรเลียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตนำลิ่วมาก็คือนาย Dick Smith คนนี้แหละ ดังนั้นเรื่องนี้ฟันธงได้เลยว่ามีผู้วางหมากอยู่ในมุมมืด…แน่นอน!!
ในช่วงก่อนวันชาติออสเตรเลียที่ 26 มกราคม 2016 นายกฯ Turnbull อดีตประธานผู้นำประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรณรงค์เพื่อนำประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง นสพ. The Telegraph ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2012 ภาพหัวเขา “สหรัฐออสเตรเลีย : นายกฯจากรัฐต่าง ๆ รวมพลังสนับสนุน (การนำประเทศสู่) ระบอบสาธารณะรัฐ” ด้านล่างมุมขวาเป็นภาพนาย Mike Baird นายกรัฐมนตรีรัฐน.ซ.ว.ออกมาเปิดตัวครั้งแรกด้วยการสนับสนุนกับเขาด้วย
สื่อค่าย News Corp เปิดประเด็นครั้งนี้เหมือนกับว่า พยายามจะเปิดไพ่ออกมาให้สังคมรู้ว่า “ใครอยู่ฝ่ายไหน”
แต่แล้วเกิดเหตุหักมุมเอาดื้อ ๆ….!!!
หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2016 พาดหัวว่า “Turnbull ขัดขวางการผลักดันสู่สาธารณรัฐ” ในขณะที่นสพ. The Telegraph ขึ้นหน้าหนึ่งด้วยภาพนายกฯ Turnbull ในชุดทหารอังกฤษโบราณพร้อมพาดหัวว่า “Turnbull ทำชาวสาธารณรัฐหัวใจสลาย ด้วยการหนุนพระราชินีครองแผ่นดิน (ต่อไป)” เรื่องนี้นายกฯ Turnbull ให้เหตุผลสั้น ๆ ว่ายังไม่นโยบายสำคัญกว่าที่รัฐบาลของเขาต้องสะสาง
มูลเหตุที่ทำให้นายกฯ Turnbull ผู้นำการผลักดันประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐแบบเต็มสูบเปลี่ยนใจเหยียบเบรคกระทันหันเอาดื้อ ๆ ก็คงเป็นเพราะฉุกคิดขึ้นได้ว่า ผู้ได้ประโยชน์คือพรรคเลเบอร์ ผู้เสียประโยชน์ก็คือตัวเขา เพราะสมาชิกพรรคลิเบอรัลจำนวนไม่น้อยเป็นฝ่ายจงรักภัคดีต่อระบอบการปกครองปัจจุบัน หากขื้นดันทุรังต่อไปมีหวังถูกมีดเสียบข้างหลังทะลุหัวใจเป็นรายที่สี่ภายในสี่ปีกว่า ๆ ดังนั้นเขาจึงต้องเพลย์เซฟไว้ก่อน
ข่าวในวันที่ 31 ธันวาคม บงชี้ให้เห็นว่า แม้นาย Turnbull ยังได้รับความนิยมสูงภายในประเทศ แต่นาย Abbott กับได้รับความนิยมสูงในหมู่ประเทศพันธมิตรแบบ (น่าจะ) จงใจแสดงให้เห็น
ที่สหรัฐอเมริกานาย Abbott ได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ (สุด) จากประธานาธิบดี Obama นอกจากนั้นเขายังได้รับการตอนรับจากผู้เฒ่า Henry Kissinger อดีตร.มว.ต่างประเทศสหรัฐที่บ้านหกเสาคอนกรีต, นาย James Clapper ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ, นาย James Wolfensohn อดีตประธานธนาคารโลก และนาย Richard Haass ประธานสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นต้น
ส่วนสหราชอาณาจักรพันธมิตรระดับบิ๊กอีกประเทศ ตอนนี้มีนาย David Cameron จากพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นนายกรัฐมนตรี แค่ชื่อพรรคก็พอทำให้วงพนันไม่รับแทงแล้วว่าเขาจะให้การต้อนรับใครระหว่างนาย A กับนาย T
งานนี้ถือว่าเดินเกมการเมืองตามอำเภอใจไปนิดเดียว เสียหายไปจนแทบกู่ไม่กลับ
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป
Leave a Reply