
เจ้า Jack สุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซลที่ถูกสุนัขพันธุ์ร็อตต์ไวเลอร์ฆ่าตาย
17 ธ.ค. 2015 ข่าวนี้กลายเป็นกรณี “หมาเห่าร้ายแรงกว่าหมากัด” หรือ bark worse than bite ไปแล้ว เมื่อสุนัขใหญ่พันธุ์ร็อตต์ไวเลอร์พ้นจากความผิดใด ๆ ในข้อหาสังหารเจ้า Jack สุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซล เนื่องจากเจ้าสุนัขตัวเล็กเป็นฝ่ายเห่า “ยั่วยุ” และ “ตั้งท่าโจมตีก่อน”
ในคดีนี้นาง Sarah James วัย 76 ปีแห่งย่าน Lorna Harris ได้ต่อสู้กับเทศบาลในนครเมลเบิร์นมานับตั้งแต่เธอสูญเสียเจ้า Jack สุนัขตัวโปรดวัย 12 ปีจากการต่อสู้ระหว่างสุนัขภายในสวนสาธารณะเมื่อปีที่ผ่านมา
เหตุการณ์สุนัขใหญ่สังหารสุนัขเล็กเกิดขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 29 ธันวาคมปี 2014 ที่ผ่านมา เมื่อนาง James จูง Jack สุนัขเพศเมียเดินเล่นภายในสวนสาธารณะ Wattle Glen War Memorial Park ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเมลเบิร์น ปรากฎว่ามีสุนัขร็อตต์ไวเลอร์วิ่งเล่นอย่างอิสระในบริเวณพื้นที่กำหนดให้ต้องใช้สายลากจูง
เธอกล่าวว่า เมื่อสุนัขสองพันธุ์มาเจอกัน Jack ไม่มีโอกาสป้องกันตัวเองมันถูกเจ้าร็อตต์ไวเลอร์ขย่ำแบบไม่ปล่อยและสบัดอย่างแรงจนหัวของ Jack หลุดออกปลอกคอและสายเชือกที่ล่ามไว้ กว่าที่เจ้าของสุนัขตัวใหญ่จะห้ามได้ Jack ก็อยู่ในอาการร่อแร่แล้ว
Jack ถูกรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลสัตวที่ใกล้ที่สุด แต่มันทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในคืนนั้น ในขณะที่นาง Jamesได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เทศบาล Nillumbik Shire เจ้าของพื้นที่รับทราบ
ในฐานะที่เธอเป็นคนรักสุนัข และเห็นใจเจ้าของสุนัขที่ยอมรับผิด เธอไม่ต้องการให้สุนัขร็อตต์ไวเลอร์ต้องถูกลงโทษถึงขั้นประหารด้วยวิธีปรานีพิฆาต แต่ต้องการลงโทษโดยให้ขึ้นบัญชีเจ้าร็อตต์ไวเลอร์ตัวนี้เป็นสุนัขอันตราย

นาง Sarah James ชูภาพ Jack สุนัขตัวโปรด ที่ถูกฆ่าโดยสุนัขพันธุ์รอตต์ไวเลอร์ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. Herald Sun
แต่ต่อมานาง James ต้องหัวเสียเมื่อได้รับแจ้งว่าเทศบาล Nillumbik Shire จะไม่ดำเนินการเอาผิดใด ๆ กับสุนัขร็อตต์ไวเลอร์ เนื่องจาก “ไม่มีหลักฐานเพียงพอ” ที่จะเอาผิดทางกฎหมายทั้งเจ้าของและตัวสุนัข
นาง James ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังออมบัดส์แมน (คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานราชการ)
เจ้าพนักงานออมบัดส์แมนทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่ของเทศบาล ไม่พบประวัติเสื่อมเสียของสุนัขตัวนี้ และยอมรับคำชี้แจ้งของนาย Phil Lovelace ผู้จัดการฝ่ายสำนักงานกฎระเบียบของเทศบาล Nillumbik Shire โดยอาศัยน้ำหนักของหลักฐาน พบว่าสุนัข James เป็นฝ่าย “เริ่มการต่อสู้” ด้วยการแยกเขี้ยวคำรามขู่สุนัขร็อตต์ไวเลอร์ก่อน
นาย Lovelace กล่าวว่าเทศบาลได้พิจารณาเห็นว่าการเห่าหรือขู่คำรามใส่สุนัขตัวอื่นสามารถถือตามหลักกฎหมายว่าเป็นการทำร้าย (constitute an assault) ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์เลี้ยง เข้าข่ายการป้องกันตัวหากการต่อสู้เกิดขึ้นเพราะว่าสุนัขตัวนั้นถูก “ยั่วยุ, ข่มเหงดูหมิ่น หรือขู่จะประทุษร้าย”
อย่างไรก็ตามข้อกฎหมายนี้ เดิมทีหลายคนเข้าใจว่าเป็นกฎหมายสำหรับปกป้องคนเพื่อกระทำการป้องกันตัวจากการถูกขู่ทำร้ายจากสัตว์ แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะรวมถึงการป้องกันตัวของสัตว์ต่อสัตว์ด้วย
นาย Stuart Burdack ผู้อำนวยการบริหารของเทศบาล Nillumbik Shire ออกมากล่าวย้ำว่า เทศบาลได้ปฏิบัติไปภายใต้คำแนะนำทางกฎหมาย และเห็นว่าการดำเนินคดีต่อไปจะไม่เหมาะสมและเสียงบประมาณภาษีเทศบาล (rate) ที่ได้รับจากประชาชนโดยใช่เหตุ
ในขณะที่นาง James กล่าวว่า สิ่งที่เทศบาลทำไปยังไม่เป็นที่พอใจและไม่เพียงพอสำหรับเธอ
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply