เดวิด คัง หนุ่มเกาหลี ผู้ก่อเหตุประทุษร้ายเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ดาร์ลิงฮาร์เบอร์

626 tamjai-03

เดวิด คัง หนุ่มเกาหลี ผู้ก่อเหตุประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ดาร์ลิงฮาร์เบอร์

บทความเรื่อง “เดวิด คัง หนุ่มเกาหลีผู้ก่อเหตุประทุษร้ายเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ดาร์ลิงฮาร์เบอร์ ” ถือเป็นบทความที่ 625 ของไม้ชีกขีด และเป็นบทความลำดับ ๒ ที่ไม้ซีคขีดมอบให้จิงโจ้นิวส์นำเผยแพร่โดยเฉพาะดังนี้ครับ

.

 หนังสือพิมพ์เดอะเดลีเทเลกร๊าฟฉบับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ เสนอข่าวการเสด็จมาเยือนซิดนีย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

หนังสือพิมพ์เดอะเดลีเทเลกร๊าฟฉบับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ เสนอข่าวการเสด็จมาเยือนซิดนีย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ที่ผ่านมา ชาวซิดนีย์ได้มีโอกาสต้อนรับการเสด็จกลับมาเยื่อนนครซินีย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์* เจ้าชายแห่งเวลส์อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีคุณคามิลลา ปากเกอร์โบลส์พระชายาตามเสด็จมาด้วย

(หมายเหตุ * ตามหลักสะกดคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Charles น่าจะเขียนว่า ชาลส์ เหมือนคำ world ต้องเขียนว่า เวิลด์ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับชื่อบุคคล อนุโลมให้ตามใจฉันได้มั้ง!)

การเสด็จมาเยือนของพระองค์ทำให้ผมนึกถึงภาพนายเดวิด คัง (David Kang) นักศึกษาเชื้อสายเกาหลีใต้ผู้ถือปืนวิ่งขึ้นเวทีอีกประมาณ ๓ เมตรก็ถึงองค์เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โชคดีที่ตำรวจและแขกผู้มีเกียรติผู้ร่วมงานอยู่บนเวทีช่วยกันตะครุบตัวเขาไว้ได้ทัน

ผมยังจำภาพเหตุการณ์ในวันนั้นและชื่อของบุคคลสองท่านที่ร่วมวีรกรรมได้จนถึงวันนี้ คนหนึ่งคือนายจอห์น เฟย์ นายกฯรัฐมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ในขณะนั้นและอีกคนหนึ่งคือนายเอียน เคอร์แนนนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งวันทำความสะอาดออสเตรเลีย (Clean Up Australia Day) ส่วนท่านอื่น ๆ เดี๋ยวลองไปค้นข้อมูลกันครับ

@@@@

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันชาติออสเตรเลียที่ ๒๖ มกราคมปี ๑๙๙๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีที่สวนสาธารณะทัมบาลองปาร์ค ในดาร์ลิงฮาร์เบอร์ สถานที่เดียวกับที่จัดงานสงกรานต์ไทยเป็นประจำในทุก ๆ ปี

ขณะทรงเริ่มกล่าวคำปราศัย นายคังวัย ๒๓ ปี นักศึกษาวิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ได้ปีนข้ามรั้วกั้นเตี้ย ๆ หน้าเวที เขาถืออาวุธปืนสำหรับปล่อยนักกีฬาอยู่ในมือได้วิ่งขึ้นไปบนเวที แล้วยิงปืนขึ้นหนึ่งนัดในขณะที่พยายามวิ่งตรงไปยังเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ในวินาทีที่เขาลั่นไกปืน (ไม่มีกระสุนแต่ให้เสียงดัง) นัดที่สองไปที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ นายตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งได้จับนายคังเหวี่ยงลงกับพื้น รายงานกล่าวว่ามีตำรวจและแขกผู้มีเกียรติบนเวทีอย่างน้อย ๑๕ คนเข้าช่วยในการจับตัวนายคัง รวมถึงนายจอห์น เฟย์ (John Fahey) นายกฯรัฐน.ซ.ว.ในขณะนั้นและนายเอียน เคอร์แนน (Ian Kiernan) ซึ่งปีนั้นเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลออสเตรเลียแห่งปี นอกจากนั้นยังมีแขกผู้มีเกียรติอื่น ๆ บนเวทีอาทิเช่นนายพลเรือตรีปีเตอร์ ซินแคลร์ (Peter Sinclair) ผู้แทนพระองค์ฯประจำรัฐนิวเซาท์เวลส์ในขณะนั้น, นายแฟรง ซาเตอร์ (Frank Sator) นายกเทศมนตรีเทศบาลซิตี้ออฟซิดนีย์ในขณะนั้น และนายโทนี ลอเออร์ (Tony Lauer) อธิบดีตำรวจรัฐน.ซ.ว.ในขณะนั้นเป็นต้น

นายคังเองในตอนนั้น เขาคาดหวังว่า เขาคงจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่อารักขาเจ้าฟ้าชายยิงเสียชีวิต แต่เขาตัดสินใจยอมสละชีวิตเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนหันมาร่วมกันแก้ปัญหาผู้ขอลี้ภัยทางเรือชาวกัมพูชา โดยเขาเชื่อว่าการตายของเขาจะทำให้ผู้นำชาวโลก หันมาสนใจในข้อเรียกร้องของเขา

แต่สถานการณ์ความมั่นคงของประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น ความปลอดภัยจากการก่อการร้ายใด ๆ อยู่ในระดับต่ำมาก โจรผู้ร้ายยังไม่ชุกชุมเหมือนค.ศ.นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแทบจะไม่พกปืน

ผิดกับสมัยปัจจุบันที่ระดับความปลอดภัยจากการก่อการร้ายได้ปรับเป็นสีแดง (ระดับสูง) เมื่อเดือนมกราคม ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ที่ผ่านมา และสำนักงานตำรวจรัฐน.ซ.ว.เพิ่งออกระเบียบให้ตำรวจทุกนายที่แต่งเครื่องแบบจะต้องพกปืนประจำกาย อันเป็นไปตามคำแนะนำขององค์กรความมั่นคงและข่าวกรองออสเตรเลีย หรือ ASIO หลังจากเหตุการณ์การสังหารนายเคอร์ติส เช็ง (Curtis Cheng) ข้าราชการฝ่ายการเงินที่หน้าสำนักงานใหญ่ตำรวจรัฐน.ซ.ว. เมื่อเดือนตุลาคมปี ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ที่ผ่านมา ถ้าการกระทำของนายคัง เกิดขึ้นในค.ศ.นี้ เชื่อได้ว่าเขามีโอกาสสูงที่จะถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ชักปืนออกมาแล้ว

มีพฤติกรรมหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ในสถานการณ์ที่มีเสียงปืนหรือระเบิดดังขึ้น มนุษย์ในโลกปัจจุบันผู้ได้รับการเรียนรู้ถึงภัยอันตราย จะวิ่งหนีออกห่างอย่างไม่คิดชีวิต แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นพอได้ยินเสียงปืน ทุกคนกลับวิ่งเข้าใส่ตัวผู้ก่อเหตุ ไม่มีใครหนีเอาตัวรอด แม้แต่เด็กและสตรีที่อยู่บนเวที

.

ภาพนายเดวิด คังขณะถูกแขกผู้มีเกียรติช่วยกันจับตัวเขา : เข้าใจว่าภาพนี้ต้นฉบับมาจากนสพ. The Daily Telegraph

ภาพนายเดวิด คังขณะถูกแขกผู้มีเกียรติช่วยกันจับตัวเขา : เข้าใจว่าภาพนี้ต้นฉบับมาจากนสพ. The Daily Telegraph

ดังปรากฎในภาพข้างบน คนซ้ายสุดน่าจะเป็นนายตำรวจนอกเครื่องแบบที่จับนายคังคนสวมเสื้อยืดสีขาวและสวมกางเกงยีนส์สีฟ้าอ่อนเหวี่ยงล้มลงกับพื้น คนต่อมาคือนายจอห์น เฟย์โดดเข้าช่วยจับศีรษะนายคังกดกับพื้น และนายเอียน เคอร์แนนคนใส่กางเกงสีน้ำตาลวิ่งเข้าช่วย ในขณะที่เจ้าหน้าองครักษ์เอาร่างของเขาเข้ากันเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (องค์ขวาสุด) ชายผู้นี้ใช้ความเร็วเตะปืนของนายคังออกไปอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเข้าปกป้ององค์เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เองก็ทรงมีจิตใจเข็มแข็ง หลังจากตำรวจนำตัวนายคังออกไปแล้ว พระองค์ทรงกล่าวสุนทรพจน์ต่อไปอย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน

นายจอห์น เฟย์ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ในขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กำลังจะขึ้นมอบรางวัลวันชาติออสเตรเลีย (Australia Day Awards) และกล่าวปราศรัย นางคอลลีน เฟย์ภรรยาของเขากระซิบบอกเขาว่า “จอห์น มีชายคนหนึ่งวิ่งตรงเข้ามาหาเรา…เขามีปืน!” ทันทีที่ภรรยาเขาพูดยังไม่จบก็มีเสียงดัง “ปัง!” เกิดขึ้น

@@@@

นายเดวิด คังขณะถูกรวบตัวได้แล้ว : ภาพจากสำนักข่าว ABC

นายเดวิด คังขณะถูกรวบตัวได้แล้ว : ภาพจากสำนักข่าว ABC

หลังจากนั้นนายคังถูกนำตัวไปสอบปากคำยังสถานีตำรวจกลางที่ถนนโกลเบิร์น (Goulburn St.) ก่อนถูกตั้งข้อหาความผิดอาญาว่าด้วยบุคคลได้รับความคุ้มครองระหว่างชาติปีค.ศ. ๑๙๗๖ จำนวน ๒ คดี, ครอบครองอาวุธปืน, ใช้อาวุธปืนอย่างผิดกฎหมาย, ก่อเหตุต่อสู้ในที่สาธารณะ และทำร้ายร่างกาย รวม ๖ กระทงความ หากศาลพบว่าเขามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา จะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง ๒๐ ปี

นายคังผู้เป็นบุตรชายของอดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ ต้องนอนอยู่ในห้องขังเป็นเวลา ๘ คืนจึงได้รับการให้ประกันตัวออกมา

ในระหว่างการพิจารณาคดี คณะลูกขุนพบว่านายคังเป็นผู้หมกหมุ่นอยู่กับความเห็นอกเห็นใจเรือมนุษย์ชาวกัมพูชา เขาได้เขียนหนังสือแสดงความเป็นห่วงผู้ลี้ภัยไปถึงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, ประธานาธิบดีสหรัฐฯ, เลขาธิการสหประชาชาติ, สมเด็จพระสันตะปาปา โดยได้รับจดหมายตอบจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เพียงฉบับเดียว

ผมจำรายงานข่าวที่ออกมาในตอนนั้นได้ว่า นายคังหลุดพ้นข้อกล่าวหาใหญ่คือคดีทำร้ายบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างชาติ เนื่องจากศาลตีความว่า เจ้าฟ้าชาร์ลส์ไม่เข้าข่ายเป็นอาคันตุกะองค์สำคัญจากนานาชาติ แต่พระองค์เป็นส่วนหนึ่งของบุคคลแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย

นายคังจึงถูกตัดสินมีความผิดในคดีเล็ก ๆ ด้วยโทษทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา ๕๐๐ ชั่วโมง นับจากนั้นเรื่องราวของนายคังหนุ่มเชื้อสายเกาหลีได้เงียบหายไปนานถึง ๑๑ ปี

@@@@

นายเดวิด คังก่อนและขณะเป็นเนติบัณฑิตใหม่ ๆ

นายเดวิด คังก่อนและขณะเป็นเนติบัณฑิตใหม่ ๆ

นายคังมาปรากฎเป็นข่าวอีกครั้งในปี ๒๐๐๕ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ซึ่งตรงกับปีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จมาเยือนออสเตรเลียอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนจะตามไปขุดคุ้ยเรื่องของนายเดวิด คังเพื่อนำเสนออีกครั้ง ว่าเขาทำอะไร? อยู่ที่ไหน?

แต่สื่อฯต้องประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพบว่า นายเดวิด คังได้กลายเป็นเนติบัณฑิตมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๔ กล่าวคือหลังจากคดีจบสิ้น นายคังได้กลับไปศึกษาต่อจนจบปริญญามนุษยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแมคคอวรี แล้วต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ซิดนีย์ จากนั้นจึงได้เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ จนได้รับปริญญานิติศาสตร์เกียรตินิยม และต่อมาได้เป็นเนติบัณฑิต

แม้ว่านายคังจะมีความผิดอาญา แต่เนติบัณฑิตสภาแห่งรัฐน.ซ.ว.กลับพบว่านายคังมีคุณสมบัติต่อการเป็นเนติบัณฑิต บัจจุบันเขาทำงานเป็นเนติบัณฑิตผู้ชำนาญกฎหมายอาญา, กฎหมายห้างหุ้นส่วนและบริษัท, กฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมายการละเมิดทางการแพทย์

ในปีนั้น (๒๐๐๕) เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงดีพระทัย เมื่อทราบเรื่องราวของนายคัง ว่าเขาสามารถประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานที่มีเกียรติและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

นายคังในวัย ๔๕ ณ ปีค.ศ. ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) มีความสุขอยู่กับการดูแลมารดา ภรรยา และบุตรสองคนที่บ้านในย่านฮันเตอร์ฮิวล์ (Hunters Hill)   พร้อมกับลืมเรื่องอดีตที่ไม่น่าจดจำของเขา…… พบกันใหม่ในโอกาสต่อไปครับ

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , ,

Leave a Reply

%d