นายกฯคนแรกของออสเตรเลีย “เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” (ส่วนแรก)

467 tamjai-02.

นายกฯคนแรกของออสเตรเลีย “เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” (ส่วนแรก)

บทความตามใจฉัน “นายกฯคนแรกของออสเตรเลีย เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” เป็นบทความลำดับที่ 467 ของไม้ซีกขึดถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับวันที่ 3 ถึง 16 ตุลาคม 2007 จำนวน 2 หน้าครึ่ง ไม้ซีกขีดได้อนุญาตให้จิงโจ้นิวส์เผยแพร่ แต่เนื้อหายาว จึงขอแบ่งเป็นสองส่วนดังนี้

.

บทความ “นายกฯคนแรกของออสเตรเลีย เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์

บทความ “นายกฯคนแรกของออสเตรเลีย เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก… ในฉบับนี้ผมขอนำเรื่องของเซอร์ “เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” (Edmund Barton) มาแนะนำให้รู้จักกันครับ

เมื่อปี ๒๐๐๑ เคยมีการสำรวจทางการศึกษาในเด็กนักเรียนชาวออสซี่ถึงเรื่องความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวของออสเตรเลีย… ผลที่ออกมาน่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพบว่า เด็กชาวออสซี่มีแนวโน้มขาดความรู้ในด้านความเป็นออสเตรเลีย แต่กลับมีความรู้เรื่องราวของสหรัฐอเมริกามากกว่า ทั้งนี้นักวิชาการชี้สาเหตุมาจากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์และสื่อเพลงที่พวกเขาบริโภค ประกอบกับสถานบันการศึกษาได้ตัดทอนวิชาออสเตรเลียศึกษาออกไป

ตัวอย่างคำถามสองข้อที่ถูกนำมาเอ่ยอ้างจากการสำรวจครั้งนั้นก็คือ “ใครคือประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา” กับ “ใครคือนายกรัฐมนตรีคนแรกของออสเตรเลีย” ผลการสำรวจพบว่า เด็กชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่จะทราบว่านายจอร์จ วอชิงตันคือประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า “เซอร์เอ็ดมันด์ บาร์ตัน” คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของออสเตรเลีย

ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการหันมาผลักดันให้เพิ่มการเรียนการสอนคุณค่าของออสเตรเลียหรือที่เรียกกันว่า Australian Value ตามโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมกันเลยทีเดียว

@@@@

เซอร์เอ็ดมันด์ บาร์ตัน

เซอร์เอ็ดมันด์ บาร์ตัน

ผมสามารถตอบได้เลยว่า นโยบายของรัฐบาลได้ผล อันนี้ผมได้มีโอกาสทดสอบด้วยตัวเองในวันที่เจ้าชาร์ลีเพื่อนชาวเกาหลีลากไปงานปาร์ตี้ที่บ้านริมอ่าวของเขา ทุกครั้งที่ผมไปจะรู้สึกอึดอัดเพราะคนเกาหลีไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ แล้วก็ไม่มีลุงชราคนที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาครั้งหนึ่งว่าแกพูดภาษาไทยได้ ผมไม่ได้เจอแกมานานแล้ว และก็ไม่มีโอกาสถามชาร์ลีว่าทำไมแกจึงไม่มา?

ที่ผมเอาลุงท่านนี้ขึ้นมาเขียนอีก ก็มีเจตนาจะขอจิกคนไทยบางคนที่ดัดจริตทำเป็นพูดภาษาไทยไม่ได้..อีกรอบหนึ่ง ให้รู้ว่าแม้ลุงคนนี้จะไม่ได้ใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่สงครามเกาหลีสงบ แต่เขาก็ยังไม่ลืมภาษาไทย ลุงยังสามารถพูดภาษาไทยกับผมได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ดันมีคนไทยเกิดในเมืองไทย โตในเมืองไทยมาอยู่ออสเตรเลียได้ไม่นาน ดันพูดภาษาไทยไม่ได้เสียแล้ว… มันแปลกไหมล่ะครับ

เมื่อไม่มีผู้ใหญ่คบ ผมก็ต้องลดอายุมาคบกับเด็ก แรกทีเดียวผมเล่นกับแอนดรูว์และอิสเบลล่าซึ่งคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เกิดเพราะเป็นลูกของชาร์ลี เล่นไปเล่นมามาจบที่การเล่นทายปัญหาถามตอบ ผมเลือกเอาคำถามที่เกี่ยวกับคุณค่าของออสเตรเลียมาถามเด็ก ๆ เท่าที่สมองจะนึกได้ เป็นต้นว่า “ใครคือนายกรัฐมนตรีคนแรกของออสเตรเลีย?” “สัตว์ในตราแผ่นดินของออสเตรเลียคืออะไร?” “ธงชาติออสเตรเลียมีสีอะไรบ้าง?” “ “ดอกไม้ประจำชาติออสเตรเลียคืออะไร?” และ “เพลงชาติออสเตรเลียมีชื่อว่าอะไร?” เป็นต้น

คำถามเหล่านี้ไม่ยากจนเกินไปสำหรับเด็กนักเรียน ยิ่งถามสองศรีพี่น้องก็ยิ่งแผดเสียงแย่งกันตอบ ยิ่งถามก็ยิ่งมีเด็กเขามาสมทบกันมากขึ้น เด็ก ๆ สนุกกับการแย่งกันตอบคำถาม วันนั้นผมเลยกลายเป็นเจ้าพ่อเกมส์โชว์ไปโดยปริยาย

ผมยังลองถามคำถามยาก ๆ ที่ผมเองตอบไม่ได้และก็มีรัฐมนตรีระดับรัฐและประเทศจำนวนไม่น้อยหน้าแหกเพราะตอบไม่ได้เช่นกัน อย่างเช่น “เพลงชาติออสเตรเลียท่อนที่สองมีเนื้อร้องว่าอะไร?” พวกเด็ก ๆ ร้องได้เสียงแจ๋วทีเดียว ก็เพราะโรงเรียนมีนโยบายให้เด็กร้องเพลงชาติในโรงเรียนนั่นเอง

นี่แหละครับคือหลักฐานหนึ่งที่ผมเชื่อว่า นโยบายปลูกฝังให้เด็กรู้คุณค่าของความเป็นออสเตรเลียได้ผลในระดับหนึ่ง ที่ผมได้ทดสอบด้วยตัวเองมาแล้ว

@@@@

สืบเนื่องมาจากคำถาม “ใครคือนายกรัฐมนตรีคนแรกของออสเตรเลีย?” ได้ผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มหลักสูตรคุณค่าของออสเตรเลียในโรงเรียน เท่านั้นยังไม่พอ ยังทำการสำรวจในกลุ่มผู้อพยพแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เข้ามาแล้วก็มุ่งแต่ทำมาหาเงินสร้างความมั่งคั่งให้กับตนและครอบครัว โดยไม่สนใจเรื่องราวของบ้านเมือง ความเป็นออสเตรเลีย และการมีส่วนร่วมในการสร้างชาติ รัฐบาลมองเห็นปัญหาในจุดนี้ จึงเกิดมีแรงผลักดันให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยต้องรับรู้ในเรื่องคุณค่าของออสเตรเลีย ด้วยการบังคับว่าถ้าใครก็ตามที่ต้องการโอนสัญชาติออสเตรเลีย จำเป็นต้องผ่านข้อทดสอบความรู้เรื่องคุณค่าของออสเตรเลียในระดับร้อยละ ๖๐ ขึ้นไป

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวความคิดของรัฐบาล คือบุคคลใดก็ตามที่ต้องการถือสัญชาติของประเทศใด บุคคลเหล่านั้นก็ควรที่จะรู้จักเรื่องราวพื้นฐานของประเทศนั้น ๆ พวกเขาควรรู้ชื่อผู้นำประเทศ, ชื่อเมืองหลวง และสัตว์ประจำชาติเป็นต้น ถ้าบุคคลใดไม่สามารถตอบได้ ผมก็ว่าไม่สมควรที่จะได้รับสัญชาตินั้น ๆ

ถ้าจำไม่ผิดเดือนกันยายน ๒๐๐๗ นี้คือเดือนแรกที่กฎหมายการเข้าเมืองมีผลบังคับใช้ให้ผู้ขอสัญชาติจะต้องผ่านการทดสอบคุณค่าออสเตรเลีย และคำถามที่ว่า “ใครคือนายกรัฐมตรีคนแรกของออสเตรเลีย?” ก็จะเป็นหนึ่งในคำถามเหล่านั้นครับ………

@@@@

สวนสาธารณะไฮปาร์คในปี ๑๙๔๒ สามารถแลเห็นโรงเรียนซิดนีย์แกรมม่าร์แต่ไกล

สวนสาธารณะไฮปาร์คในปี ๑๙๔๒ สามารถแลเห็นโรงเรียนซิดนีย์แกรมม่าร์แต่ไกล

ที่นี้ลองมารู้จักเรื่องราวของเซอร์เอ็ดมันด์ บาร์ตันกันบ้าง ท่านผู้นี้ถือกำเนิดในวันที่ ๑๘ มกราคม ๑๘๔๙ ที่บ้านถนนเฮียฟอร์ด ย่านกลี๊บ (Glebe) ในอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ เป็นบุตรคนเล็กในจำนวนเก้าคนของนายวิลเลียม บาร์ตันและนางแมรี หลุยซาวายดาห์ ผู้อพยพจากอังกฤษเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลียในปี ๑๘๒๔

นายบาร์ตันผู้พ่อทำงานเป็นนักบัญชีให้กับบริษัทการเกษตร ก่อนที่จะลาออกมาเอาดีทางการเป็นนายหน้าค้าหุ้น ซึ่งทำให้เขาเป็นนักค้าหุ้นคนแรกของออสเตรเลีย ส่วนแมรีผู้เป็นแม่เป็นสตรีที่มีความรู้ผิดแผกจากผู้หญิงทั่วไปในสมัยนั้น เธอได้ก็ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือสำหรับเด็กผู้หญิง

ครอบครัวบาร์ตันอาศัยอยู่ที่กลี๊บจนกระทั่งถึงปี ๑๘๕๑ จึงย้ายไปอยู่บ้านที่ถนนคัมเบอร์แลนด์ ในย่านเดอะร็อคส์

เด็กชายเอ็ดมันด์เข้าเรียนหนังสือครั้งแรกในปี ๑๙๕๖ ที่โรงเรียนฟอร์ตสตรีทโมเดล (ปัจจุบันคือโรงเรียนฟอร์ตสตีทไฮสกูล ในย่านปีเตอร์แชม เขตมาร์ริกวิลล์” เรียนอยู่ที่นี่ปีเศษจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนซิดนีย์แกรมม่าร์จนกระทั่งปี ๑๘๖๕ ผลการเรียนของเขาจัดอยู่ในขั้นดีเยี่ยม

ภายหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว จึงเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งเขาจบได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี ๑๘๖๘ และปริญญาโทในปี ๑๘๗๐ เป็นเนติบัณฑิตในปี ๑๘๗๑ และประสบความสำเร็จในวิชาชีพกฎหมายในระดับหนึ่ง

.

เซอร์เอ็ดมัน บาร์ตันขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนซิดนีย์แกรมม่าร์ในวัย ๑๗ ปี

ซอร์เอ็ดมัน บาร์ตันขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนซิดนีย์แกรมม่าร์ในวัย ๑๗ ปี

(โปรดอ่านต่อตอนจบในวันพรุ่งนี้ครับ)



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: