3 พ.ย. 2015 ในขณะที่นครซิดนีย์กับนครเมลเบิร์นช่วงชิงกันเป็นเมืองแห่งคนจรจัดและขอทานของประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างหนาตา แต่สื่อหนังสือพิมพ์ในนครเพิร์ทเกทับด้วยการขึ้นหน้าหนึ่งคนขอทาน-จรจัดที่นั่นกำลังบูมสุดขีด
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ the West Australian ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2015 เสนอข่าวที่อนุญาตให้ผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกอ่านฟรีออนไลน์ในอีกสองวันนับจากรายงานข่าวบอกว่า อาชีพขอทานกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น จนก่อความเดือดร้อนต่อผู้เข้ามาในเมืองและเจ้าของธุรกิจ ทำให้หลายคนคิดที่จะปิดกิจการ เพราะไม่สามารถทนต่อการคุกคามได้อีกต่อไป
สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้อาศัยกฎหมายเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารทำให้ทราบว่า กลุ่มขอทานได้ทำงานร่วมมือกันในการขอทานแบบกึ่งขอกึ่งบังคับ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่พบในซิดนีย์และเมลเบิร์น (อ่านข่าวย้อนหลังได้จากข่าว วันที่ 19 ตุลาคม 2015 ในหัวข้อ “ขอทานสไตล์โหด-เลว-ชั่วในเมลเบิร์น บางวันทำเงินถึง 800 เหรียญ“)
ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมานาง Lisa Scaffidi นายกเทศมนตรีเทศบาลเขต City of Perth ได้ร่วมประชุมกับนาย Michael Mischin ร.มต.สำนักงานอัยการของรัฐบาลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย, นาง Liza Harvey ร.มต.ทบวงตำรวจของรัฐบาลรัฐฯและนาย Karl O’Callaghan ผู้ว่าการสำนักงานตำรวจรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเพื่อร่วมปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาขอทาน-คนจรจัดและออกกฎหมาย ที่รวมถึงการออกกฎหมายให้อาชีพขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
การขอทานถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกรัฐและดินแดนในออสเตรเลีย แต่ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเป็นรัฐเดียวที่ได้ล้มเลิกกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2004
การประชุมในครั้งนั้น ได้ข้อสรุปในการทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออก และกำหนดให้คณะกรรมการทำงานนำเสนอรายงานในปลายปีที่แล้ว แต่ไม่เป็นที่ปรากฎว่ารายงานได้ถูกนำเสนอออกมาหรือไม่
อย่างไรก็ตามในช่วง 14 เดือนนับจากการประชุม กลับพบว่าพื้นที่ตอนในของนครเพิร์ทกลับเต็มไปด้วยคนจรจัดและขอทานทั้งสมัครเล่นและขอทานโดยอาชีพ
ทีมผู้สื่อข่าวของ the West Australian พบขอทานมีอยู่ชุกชุมที่บริเวณสถานีรถไฟและตามจุดต่าง ๆ ทั่วตัวเมืองชั้นในของนครเพิร์ท โดยเฉพาะที่บริเวณที่จอดรถถนน Pier St., Citiplace และหอสมุดรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (the State Library) พบขอทานบางคนนั่งอยู่หลังแผ่นกระดาษแข็งเขียนข้อความต่าง ๆ เช่น ไม่มีบ้านอยู่, กำลังตั้งครรภ์ ไปจนถึงกำลังป่วยอยู่ในอาการขั้นสุดท้าย
บางคนใช้วิธีเดินเข้าไปขอถึงตัว โดยตั้งเป้าหมายไปที่ผู้หญิง, คนชรา และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เจ้าของร้านค้าที่ถนน Pier St. กล่าวว่า พวกเขาทุกคนอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ได้ต่อการปกป้องพื้นที่ทำมาหากินของตนไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้ โดยปราศจากการเพิ่มกำลังตำรวจเข้ามาดูแล
ขอทานเหล่านี้ได้สร้างความรำคาญและรบกวนผู้คนในพื้นที่ ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน เจ้าของร้านและเจ้าหน้าที่ตรวจรถจอด (parking officers ) ของเทศบาลรู้ดีว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ขอทานเพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด
พวกเขากล่าวว่า โครงการระมัดระวังเหตุ CitiWatch ของเทศบาล City of Perth พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าใช้ไม่ได้ผล อีกทั้งการร้องเรียนของพวกเขาก็ไม่ได้รับความสนใจจากเทศบาล จนพวกเขาต้องเลิกร้องเรียนไปในที่สุด
แต่นาง Scaffidi ออกมากล่าวแย้งว่า หลังจากโครงการ CitiWatch ถูกนำมาใช้ เทศบาลได้รับการร้องเรียนลดลง ก็แสดงว่าโครงการนี้ใช้ได้ผล
นาง Scaffidi ได้เรียกร้องให้ประชาชนอย่าให้เงินขอทาน ถ้าหากต้องการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างแท้จริง ขอให้บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลที่ทำหน้าที่นี้แทน
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply