
นสพ. Telegraph ฉบับ 19 ส.ค. 2015 เสนอข่าวชาวออสซี่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดและตำรวจไทยไล่ล่ามือวางระเบิด
19 ส.ค. 2015 ในวันนี้สื่อออสซี่ยังคงเกาะติดข่าวเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ ด้วยการเสนอข่าวนักท่องเที่ยวชาวออสซี่ที่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิด, เหตุระเบิดลูกที่สองที่สะพานสาทร และนายกฯ Tony Abbott ขอให้นักท่องเที่ยวจิงโจ้อย่ายอมสยบต่อผู้ก่อการร้าย จงเที่ยวไทยต่อไป
สื่อออสเตรเลียได้ลงข่าวถึงชาวออสเตรเลียอย่างน้อยสามกลุ่มที่รอดพ้นอันตรายอย่างเฉียดฉิวจากเหตุระเบิดที่ใกล้ศาลพระพรหมเอราวัณ คนแรกคือนาย Jimmy Barnes นักร้องระดับตำนานชาวออสซี่ เขาพร้อม Jane ภรรยาชาวไทย, Elly-May บุตรสาว, นาย Liam Conboy ลูกเขยและด.ช. Dylan หลานตา ทั้งหมดพักอยู่ที่โรงแรม Grand Hyatt ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ได้ออกจากโรงแรมผ่านสี่แยกราชประสงค์ในช่วงระเบิดพอดี
นาย Barne กล่าวว่าพวกเขารอดชีวิตมาได้เพราะหลานชาย เนื่องจากเขาอยู่ในรถเข็น ทำให้ต้องเลือกทางอ้อมไปร้านอาหาร โดยใช้ทางข้ามลอยฟ้า แทนที่จะเดินข้ามถนนตรงสี่แยก เพราะทางเดินเท้าระดับพื้นถนนไม่ได้ออกแบบเผื่อเด็กในรถเข็นและคนพิการ
ในขณะที่เดินผ่านระหว่างสองตึกก็เกิดระเบิดขึ้น ซึ่งถ้าเขาใช้เส้นทางเดินผ่านสี่แยกก็น่าจะเป็นช่วงที่อยู่ตรงสี่แยก(ในขณะระเบิด) พอดี เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือว่าหลานชายได้ช่วยชีวิตสมาชิกทุกคนในครอบครัวไว้ ในทำนองที่ว่า “Saved by a pram”
ชาวออสซี่อีกคู่หนึ่งคือน.ส. Leify Porter (หญิงสาวที่ปรากฎในหน้าหนึ่งของนสพ. Daily Telegraph) และนาย John Murray แฟนหนุ่มกล่าวว่าเธอและนาย Murray ได้เลือกเดินข้ามสะพานลอยเหนือสี่แยกแทน เมื่อข้ามถึงกลางสะพานลอยทั้งสองได้หยุดดูได้ประมาณ 2 วินาทีก็เกิดระเบิดเป็นไฟลูกใหญ่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นเธอและแฟนหนุ่มถูกปกคลุมไปด้วยผงเถ้าและเศษชิ้นของเถ้าไปทั้งตัว
ที่รัฐสภากลางในกรุงแคนเบอร์ร่า นาย Tony Abbott กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดที่ประเทศไทยว่าชาวออสเตรเลียไม่ควรขลาดกลัวต่อการไปเที่ยวประเทศไทย เพราะเป็นเหตุการณ์ลอบโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ จากการดำเนินชีวิตประจำวัน (อย่างปกติสุข)
“การลอบทำร้ายเช่นนี้ จะยิ่งทำให้เกิดความกระชับแน่นระหว่างรัฐบาลกับชาวออสเตรเลียเพื่อแก้ปัญหาทั้งมวลในการต่อต้านการลัทธิความเชื่อทางศาสนาแบบสุดโต่งและการตอบโต้การก่อการร้าย” แล้วปิดท้ายด้วย “อย่างไรก็ตามชาวออสเตรเลียที่อยู่ในต่างประเทศต้องอยู่ในความไม่ประมาท พวกเราควรปฏิบัติตัวในระดับการเตือนภัยอย่างเหมาะสม”
ทางด้านกระทรวงต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) ได้เตือนชาวออสเตรเลียที่เดินทางไปประเทศไทยให้เพิ่มความระมัดระวังในระดับสูง (high degree of caution)
หมายเหตุ ประเทศตะวันตกมีนโยบายไม่ยอมสยบต่อการก่อการร้าย เมื่อครั้งเหตุการณ์บอบม์ลอนดอน หรือเหตุการณ์ 7/7 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2005 ในประเทศอังกฤษและเหตุการณ์ Lindt Chocolat Cafe ในเดือนธันวาคม 2014 ในนครซิดนีย์ ในวันรุ่งขึ้นประชาชนทุกคนพร้อมใจกันออกจากบ้านทำหน้าที่ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพื่อแสดงพลังให้ผู้ก่อการร้ายรับรู้ถึงพลังสามัคคีของประชาชนมีแต่จะกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเมื่อมีภัยคุกคามมาถึงตัว
ในวันเดียวกันที่กรุงลอนดอนนาย David Cameron นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้ออกมาแถลงว่า มีสตรีชาวสหราชอาณาจักรคนหนึ่งได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดในประเทศไทย ถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานชาวออสเตรเลียเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดครั้งนี้
ทางด้านสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางออสเตรเลีย (AFP) ได้เสนอที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยตำรวจไทยในการสอบสวนด้วย
อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามจะสังหารหมู่ด้วยระเบิดลูกที่สอง โดยคนร้ายใช้ระเบิดชนิดเดียวกับที่ระเบิดที่แยกราชประสงค์ โยนจากสะพานตากสินซึ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงมายังท่าเรือสะพานสาทรที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งมีฝูงชนหนาแน่น แต่โชคดีที่คนร้ายปาผิดเป้าหมาย ระเบิดได้ตกลงไปในน้ำ จึงทำให้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
ในขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมารับผิดชอบว่าเป็นผู้กระทำ แต่นาย Prayuth Chan-ocha (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) นายกรัฐมนตรีของไทยให้ความเห็นว่า ผู้ต้องสงสัยอาจเป็นคนกลุ่มเสื้อแดงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องต้านรัฐบาลทหาร
โดยกล่าวว่า ระเบิดที่ใช้สังหารเป็นระเบิดที่พัฒนาในรูปแบบเดียวกับที่กลุ่มเสื้อแดงใช้ต่อต้านทางการในการก่อเหตุประท้วงเมื่อปีที่ผ่านมา “แต่ครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า “แต่ก่อนเป็นเพียงระเบิดขนาดเล็กหรือเพียงทำให้เกิดเสียงดัง แต่ครั้งนี้มีเป้าหมายที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ พวกเขาต้องการทำลายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย”
จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญระเบิดระบุว่า เป็นระเบิด TNT ขนาด 3 กก.ด้วยการเอาวัตถุระเบิดบรรจุในท่อแล้วพันด้วยผ้ามาวางไว้ โดยเชื่อว่าการจุดชนวนอิเล็กทรอนิกส์มาจากจุดที่ห่างออกไป 30 เมตร
สื่อในออสเตรเลียได้เปิดเผยภาพสเก็ตใบหน้าคนผู้ต้องสงสัยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยเผยแพร่ เขาเป็นชายในชุดเสื้อยืดสีเหลือง ผู้ถือถุงออกโทนฟ้า ซึ่งเข้าใจว่าใส่อุปกรณ์สำหรับจุดชนวนระเบิด เขาเข้ามานั่งที่ม้านั่ง แล้วถอดเป้สะพายหลัง วางไว้ตรงนั้น แล้ววิ่งออกไป จากนั้นไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้น
วันที่ 23 สิงหาคม นสพ. The Times ในลอนดอนระบุชื่อผู้ต้องสงสัยตามภาพที่ตำรวจไทยเผยแพร่มีชื่อมุสลิมว่า Mohamad Museyin
jingjonews@hotmail.com
Categories: ข่าวออสซี่ในเมืองไทย, ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply