ตลาดที่อยู่อาศัยออสซี่ใกล้ตายหมู่ มีความเสี่ยงสูงต่อฟองสบู่เศรษฐกิจแตก

นครเมลเบิร์นจะเป็นศูนย์กลางของความเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่เศรษฐกิจแตก

นครเมลเบิร์นจะเป็นศูนย์กลางของความเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่เศรษฐกิจแตก

22 มิ.ย. 2015 นักเศรษฐศาสตร์ออกมาฟันธงว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่บ้าน (housing bubble) ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และนครเมลเบิร์นจะเป็นจุดศูนย์กลางของ “การตายหมู่” (bloodbath) เมื่อฟองสบู่เศรษฐกิจแตกออกมา

นักเศรษฐศาสตร์รายล่าสุดที่ออกมาวิจารณ์คือนาย Lindsay David และนาย Philip Soos ผู้เขียนหนังสือถึงความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัย พร้อมกับตำหนิผู้อยู่ในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักการเมืองที่ปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องของฟองสบู่ เพราะพวกเขายังเข้าใจว่ามีความขาดแคลนที่อยู่อาศัยตามนครหลวงต่าง ๆ ของประเทศ

ทั้งสองกล่าวว่า แท้จริงแล้วที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียมีเกินความต้องการ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ก่อนที่เศรษฐกิจจะทรุดลง และนำไปสู่วิกฤติการณ์การเงินโลก หรือ GFC ในปี 2007 และ 2008

นครเมลเบิร์นถูกมองว่าเป็นจุดอันตรายที่สุด จากการปล่อยให้มีการก่อสร้างอพาร์ทเมนท์ขึ้นเป็นดอกเห็ดในเขตตัวเมืองชั้นใน ทำให้ขณะนี้มีที่อยู่อาศัยเกินความต้องการกว่า 123,000 หลัง ตามด้วยนครซิดนีย์เกินความต้องการกว่า 40,000 หลัง

ทั้งนาย David และนาย Soos ซึ่งทำหนังสือยื่นเสนอต่อที่ประชุมเพื่อการไต่สวนกรณีการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนนี้ ในนามของ LF Economics สำนักวิจัยทางการเงินและที่อยู่อาศัย โดยเชื่อว่าฟองสบู่บ้านครั้งนี้จะร้ายแรงที่สุดกว่าที่เคยเกิดในทศวรรษที่ 1880s, 1920s, กลางทศวรรษที่ 1970s และปลายทศวรรษที่ 1980s

นครเมลเบิร์นดูจะมีอาการหนักที่สุด เนื่องจากอัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยไม่ได้เพิ่มขึ้นในเทอมที่แท้จริงมานับตั้งแต่ปี 2011 แต่ราคาที่อยู่อาศัยกลับถีบตัวเพิ่มขึ้น 178% ในช่วงเวลาเดียวกัน   นอกจากเมลเบิร์นแล้ว นครเพิร์ทก็อยู่ในอาการน่าวิตกเช่นกัน

ทั้งสองกล่าวว่า ราคาที่อยู่อาศัยตามนครหลวงต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด   โดยไม่สัมพันธ์กับค่าเช่า, รายได้ส่วนบุคคล, เงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในขณะที่ยังไม่มีสัญญาณบอกเหตุถึงฟองสบู่บ้านจะยุติลง ในขณะที่ภาวะของปรากฎการณ์ “ตายหมู่” เริ่มก่อตัวให้เห็นอย่างค่อนข้างแน่นอน

ทางด้านนาย Joe Hocwker ร.มว.การคลังซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้มีการถกปัญหาเรื่องราคาที่อยู่อาศัยในระดับชาติ   แต่เขายังปฏิเสธเรื่องฟองสบู่บ้าน โดยอ้างว่าประชาชนคงจะไม่ซื้อบ้าน หากพวกเขาไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระมัน

อย่างไรก็ตามความเห็นของนาย Hockey สวนทางกับนาย John Fraser ปลัดกระทรวงการคลังและนาย Glenn Stevens ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย

แนวความคิดของนาย David และนาย Soos ยังได้รับการสนับสนุนจากดร. Andrew Wilson นักวิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัยจาก Domain Group ซึ่งเขากล่าวว่า ออสเตรเลียไม่เคยมีประวัติเจ็บตัวจากการตกลงอย่างฮวบฮาบของราคาที่อยู่อาศัย และไม่เคยเจอกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ที่มีผลทำให้ราคาบ้านตกลงแบบทิ้งดิ่ง

เขากล่าวว่า ปรากฎการณ์ราคาบ้านลดลงสูงที่สุด เคยเกิดขึ้นในนครซิดนีย์ในปี 2008 โดยในปีนั้นราคาบ้านตกลง 4.5%

ดร. Wilson ยอมรับในเหตุผลของนาย David และนาย Soos และยอมรับว่าเมลเบิร์นมีปัญหาฟองสบู่บ้านที่น่าวิตก แต่ยังไม่เชื่อว่ามันจะเลวร้ายถึงกับนำไปสู่ภาวะ “ตายหมู่”

ในขณะที่ศจ. Janine Dixon แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวิกตอเรียกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาบ้านในเขตเมลเบิร์นตอนในและซิดนีย์ตอนในมีแต่ขึ้นกับขึ้น ที่จำเป็นต้องมีมาตรการหยุดยั้งความร้อนแรง

จากรายงานตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย ถึงจำนวนบ้านเกินความต้องการ และขาดแคลน (-) ในรัฐต่าง ๆ ในไตรมาสเดือนตุลาคม 2014 มีดังนี้

รัฐนิวเซาท์เวลส์ 40,537
รัฐวิกตอเรีย 123,242
รัฐควีนสแลนด์ -3,126
รัฐเซาท์ออสเตรเลีย 28,302
รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย -44,509
นครซิดนีย์มีจำนวนบ้านเกินความต้องการอันดับสองของประเทศ

นครซิดนีย์มีจำนวนบ้านเกินความต้องการอันดับสองของประเทศ

jingjonews@hotmail.com



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading