14 เม.ย. 2014 ระบบเงินกู้เพื่อการศึกษาของออสเตรเลียที่ครั้งหนึ่งถูกรัฐบาลของไทยนำแนวความคิดไปปรับใช้ แต่ต้นแบบเองกำลังเผชิญปัญหานักศึกษาจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่จ่ายชำระหนี้ โดยคาดว่าจะมียอดหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70,000 เหรียญในอีกสองปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากเป็นเงินกู้แบบปลอดบังคับชำระหนี้ หากไม่ใช้คืนก็ไม่ว่าอะไร
จากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าหนี้สินจำนวน 1 ใน 4 หรือประมาณ 17,000 ล้านเหรียญจะไม่มีวันได้รับชำระคืน
ศจ. Richard Highfield และศจ. Neil Warren ผู้ร่วมทำการวิจัยกล่าวว่า ขณะนี้มีนักศึกษาและอดีตนักศ๊กษาจำนวน 2.1 ล้านคนเป็นหนี้โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาขั้นสูง หรือ HELP แต่คนออสเตรเลียยังคงนิยมเรียกชื่อเก่าคือ HECS (“เฮกส์” โครงการเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาขั้นสูง) ที่เรียกกันจนติดปากและไม่ทำให้ผิดความหมาย
ผลการวิจัยคาดการณ์ว่าในปี 2017-18 ผู้กู้เงินกับโครงการ HECS ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 ปีถึง 54 ปี* ด้วยจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 21,500 เหรียญต่อราย ในจำนวนนี้ 26% จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสไม่ชำระหนี้ ส่วนใหญ่จะด้วยการทำรายได้ให้ต่ำกว่ารายได้ที่ต้องชำระหนี้ HECS ไม่ว่าจะโดยวิธีถูกต้องกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(*การศึกษาในออสเตรเลียไม่จำกัดอายุ บางคนอายุเกิน 90 ปีก็สามารถกู้เงินโครงการ HECS เรียนหนังสือ)
ภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน ผู้เป็นหนี้เงินกู้ HECS จะต้องเริ่มจ่ายคืนเงินกู้จำนวน 4.0% ของรายได้เมื่อผู้กู้มีรายได้ตั้งแต่ 53,345 เหรียญต่อปีขึ้นไป และหากผู้กู้มีรายได้เกินกว่า 99,070 เหรียญต่อปีขี้นไปจะต้องจ่ายคืนในอัตรา 8.0% ของรายได้ แต่เป็นที่คาดว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อรัฐบาลกลางมีแผนยกเลิกการควบคุมอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ศจ. Highfield ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบายภาษีและการจัดการขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และศจ. Warren แห่งภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) ให้ความเห็นว่าการลดฐานรายได้เพื่อการชำระหนี้เงินกู้ HECS ลงมาราว 10,000 เหรียญและลดอัตราเงินจ่ายคืนเริ่มแรกลงมาเหลือ 2.0% จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถเก็บเงินหนี้ HECS ได้เพิ่มขึ้นปีละ 869 ล้านเหรียญ
ทั้งสองอ้างว่า มีหลักฐานข้อมูลชัดเจนถึงการหลบเลี่ยงการชำระคืนหนี้ HECS ด้วยการหักรายจ่ายที่สูงเกินไปและแจ้งรายได้ในอัตราที่ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้
นอกจากนั้นรัฐบาลยังไม่สามารถตามเก็บหนี้ได้เมื่อผู้สำเร็จการศึกษาย้ายไปอยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ หรือสหราชอาณาจักร หรือผู้อพยพจำนวนหนึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาได้ย้ายกลับประเทศของตนไปอย่างถาวร
ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณาก็คือ การเรียกเก็บหนี้จากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อผู้ขอกู้เงิน HECS เสียชีวิตลง แต่แนวความคิดดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากนาย Tony Abbott นายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลก็คือเป็นแนวความคิดที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมือง (ของออสเตรเลีย)
ทางด้านศจ. Bruce Chapman แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยออสเตรเลียนเนชั่นแนล (ANU) ผู้เป็นต้นคิดระบบ HECS ให้กับรัฐบาลของนาย Bob Hawke (1983-1991) กล่าวว่านักวิจัยทั้งสองได้ทำสิ่งที่ “ปลุกเร้าให้มีการแก้ไข” โดยเฉพาะในกรณีผู้สำเร็จการศึกษาเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน และผู้ที่ทำให้รายได้ของพวกเขาต่ำลงมาเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินกู้
เขาเห็นว่าหากลดฐานการหักเก็บเงินกู้ลงมาในระดับต่ำ เป็นต้นว่าเริ่มที่ 20,000 เหรียญ (รายได้ต่ำกว่าคนตกงานในประเทศ) ด้วยอัตรา 2% ของรายได้ ก็จะทำให้หนี้ HECS จัดชั้นสงสัยจะเป็นสูญและหนี้สูญ กลับกลายเป็นหนี้ชั้นดีที่มีการชำระอย่างต่อเนื่อง
jingjonews@hotmail.com
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply