4 เม.ย. 2015 ชาวต่างชาติที่ทำงานตามโครงการ au pair * ด้วยการเป็นคนเลี้ยงเด็กในอัตรา 250 เหรียญต่อสัปดาห์ กำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐบาลกลางที่จะขยายเวลาการออกวีซ่าทำงานจาก 6 เดือนมาเป็น 12 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสถานบริการเลี้ยงเด็กในประเทศ โดยเป้าหมายเจาะจงไปที่เยาวชนในประเทศเอเชีย
(* au pair ในที่นี้หมายถึงเยาวชนตามโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการทำงาน-ท่องเที่ยว โดยผู้ว่าจ้างจัดที่พักและอาหารให้ในระหว่างทำงาน วีซ่านี้เรียกกันว่า au pair visa เป็นส่วนหนึ่งของวิซ่าทำงาน-ท่องเที่ยว หรือ Working Holiday visa)
รัฐบาลกลางกำลังอยู่ในประหว่างขั้นตอนพิจารณาตัดสินใจ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานผู้ดูแลเด็กตามศูนย์ Childcare Centre ด้วยการเปิดรับเยาวชน (เข้าใจว่าอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมาและควรจะเป็นผู้หญิง) จากประเทศคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเยาวชน (รวมถึงประเทศไทย) มาหาประสบการณ์การทำงานและท่องเที่ยวในออสเตรเลีย สำหรับทำงานดูแลเด็กโดยอยู่อาศัยกับครอบครัวผู้ปกครองเด็ก จากข้อกำหนดเดิมทำงานไม่เกิน 6 เดือนและท่องเที่ยวไม่เกิน 6 เดือน ภายใต้เงื่อนไขที่กำลังพิจารณาอาจจะเพิ่มเป็นทำงานไม่เกิน 12 เดือนและหรือท่องเที่ยวอีกไม่เกิน 6 เดือน
แนนนี่หรือผู้ดูแลเด็กในอดีตถูกมองว่ามีเฉพาะในครอบครัวของผู้มีฐานะดี ที่สะท้อนถึงความเป็นจริงในเรื่องของรายได้ และความสามารถของครอบครัวในการจัดห้องพักและอาหาร
ธรรมเนียมที่ปรากฎในอดีตก็คือ งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมของนักเรียนและนักศึกษาจากประเทศในยุโรปตะวันตก แต่ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นต้องการเปิดรับแรงงานจากเอเชียที่มีค่าแรงถูกกว่า และด้วยอัตราค่าตอบแทน 250 เหรียญต่อสัปดาห์จะทำให้พวกเขามีเงินสำหรับการท่องเที่ยวหรือเป็นเงินเก็บกลับประเทศ
นาย Ross Taylor แห่งสถาบันอินโดนีเซียกล่าวว่า การเปิดรับ au pair ชาวอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยผ่อนคลายการขาดแคลนแรงงานผู้ดูแลเด็ก
เขากล่าวว่า ขณะนี้มีชาวอินโดนีเซียเกือบ 1 ล้านคนทำงาน au pair ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งที่ในหลายประเทศไม่มีความมั่นคงและไม่ความปลอดภัยเหมือนอย่างในออสเตรเลีย
เขาเห็นว่า ขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้หญิงที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ในประเทศที่พวกเธอสามารถเรียนภาษาอังกฤษ และส่งเงินกลับบ้านได้
ในแต่ละปีจะมีเยาวชนทำงาน au pair ในออสเตรเลียประมาณ 100,000 คน ในขณะที่กลุ่มผู้ปกครองเด็กและเอเยนซี่ร้องเรียนว่าข้อกำหนดทำงาน 6 เดือนได้สร้างความไม่อึดอัดให้กับหลายครอบครัว และก่อความยุ่งยากให้กับเด็กโดยเฉพาะเด็กออทิสติกและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
เยาวชน au pair จะได้รับการจัดห้องนอนส่วนตัวและอาหารในระหว่างที่รับทำงาน ภายใต้ข้อตกลงดูแลเด็ก 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยได้รับเงิน “ค่าตอบแทน” สัปดาห์ละระหว่าง 200 ถึง 250 เหรียญ
เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฝากดูแลที่ศูนย์ Childcare ตกวันละ 100 เหรียญขึ้นไป การมี au pair ดูแลเด็กที่บ้านจึงถูกกว่าสำหรับครอบครัวที่มีเด็กมากกว่า 1 คน แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งเด็กไปดูแลตามศูนย์ Childcare ถึง 50% ก็ตาม
AIFS Australia เอเยนซี่จัดหา au pair เปิดเผยว่า ความต้องการเยาวชน au pair ทำงานดูแลเด็กได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในช่วงสามปัที่ผ่านมา เมื่อบิดามารดาเด็กพบถึงความยืดหยุ่นมากกว่า การใช้บริการดูแลเด็กในศูนย์ Childcare และถูกกว่าการว่าจ้างแนนนี่มืออาชีพเป็นอย่างมาก
นาง Wendi Aylward กรรมการผู้จัดการของ AIFS Australia กล่าวว่า ขณะนี้เอเยนซี่ของเธอได้หยุดรับครอบครัวใหม่ที่ต้องการหา au pair ดูแลลูก ๆ ของพวกเขาจนกว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเยาวชนจากยุโรปและสหรัฐจะเริ่มเดินทางเข้ามาในออสเตรเลีย
เธอกล่าวว่า เอเยนซีหลายแห่งก็ประสบปัญหา au pair ไม่พอกับอุปสงค์ของครอบครัวที่ต้องการชาวต่างชาติเข้ามาดูแลบุตรของพวกเขา
นาง Nicole Kofkin ผู้อำนวยการบริหารของ SmartAuPairs กล่าวว่า เอเยนซี่ของเธอมีผู้สมัครเข้ามาเพื่อทำงานดูแลเด็กส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกาเหนือ ในขณะที่มีข้อตกลงกับครอบครัวคู่สัญญาว่าจะต้องจัดหาห้องนอนส่วนตัว อาหารสามมื้อ และเงินค่าขนมสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 150 เหรียญต่อการทำงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง เป็นข้อตกลงเบื้องต้น
นาง Nicole Kofkin กล่าวว่า แม้จะขาดแคลน au pair แต่ทุกคนก็ใช่ว่าจะผ่านคุณสมบัติที่เอเยนซี่ของเธอกำหนดไว้ ทางเลือกอันดับหนึ่งของ SmartAuPairs ก็คือนักศึกษาหรือผู้สำเร็จสาขาวิชาศึกษาศาสตร์เพราะเชื่อว่าผู้ที่เป็นครูจะสามารถเป็นพี่เลี้ยงเด็กได้อย่างดี
ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการเพิ่มผลิตผลแห่งชาติ (NPC) ให้ความเห็นว่า การเพิ่มข้อจำกัดวีซ่าจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือนจะช่วยให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กและต้องการใช้ au pair จากต่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
นาย Scott Morrison ร.มว.บริการสังคมกล่าวว่า ขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
แต่นาย Philip Ruddock อดีตร.มว.การเข้าเมืองได้ออกมาต่อต้านการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อเปิดทางให้ชาวเอเชียเข้ามาทำงานในหน้าที่ของแนนนี่ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น

น.ส. Michelle Kaiser จากเยอรมันนีทำงานดูแลเด็กวัย 3, 5 และ 8 ขวบให้กับครอบครัวตระกูล Rouwhorst (ภาพจากนสพ. the SMH)

au pair สาวชาวอิตาลีกำลังเป็นพี่เลี้ยงให้สองพี่น้อง โดยเธอบอกว่าเป็นโอกาสดีที่จะฝึกภาษาอังกฤษกับเด็ก ๆ ในตอนบ่ายขณะรอพ่อแม่กลับจากทำงาน
jingjonews@hotmail.com
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply