13 มี.ค. 2015 Darling Downs Fresh Eggs ผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ในรัฐควีนสแลนด์ได้เรียกเก็บสินค้าของตนสองประเภท ท่ามกลางเชื้อซาลโมเนลลา (salmonella เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุดในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบ) ที่ระบาดสองครั้งใหญ่ห่างกันเพียงไม่กี่วัน
Darling Downs Fresh Eggs ทางตะวันตกของนครบริสเบนได้ประกาศเรียกคือสินค้าด้วยใจสมัคร สำหรับไข่ไก่ประเภทเลี้ยงภายในกรงและเลี้ยงเสรีตามเชิงเขา โดยไข่ไก่ที่เรียกคืนอยู่ในช่วงวันผลิตจูเลียนเดท 1502036 ถึง 1503063 (Julian date คือ การแสดงปี-เดือน-และวันของปีใน 365 วัน ระบบนี้ดัดแปลงมาจาก Julian date ที่ใช้มาตั้งแต่ 4,723 ปีก่อนคริสตรกาล ในที่นี้หมายถึงระหว่างวันที 5 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2015)
ในคำแถลงขอคืนกล่าวว่า “…..(บริษัท)ได้ตรวจพบไข่ที่ไม่สะอาดและไข่แตกร้าวถูกบรรจุปะปนไปกับถาดและกล่องกระดาษแข็งสำหรับใส่ไข่ บริษัทจึงขอเรียกคืินไข่ไก่ทั้งหมดตามที่ระบุวันผลิตไว้กลับคืน สำหรับไข่ไก่ที่ผลิตก่อนและหลังวันผลิตจูเลียนเดท 1502036 ถึง 1503063 จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
การเรียกคืนเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีเชื้อซาลโมเนลลาระบาดอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนสแลนด์ เมื่อร้านคาเฟ่ Grocer and Grind ที่ Broadbeach ถูกกระทรวงสาธารณสุขรัฐควีนสแลนด์สั่งปิดหลังจากมีลูกค้ากว่า 20 คนมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากหัวหน้าคนทำครัวถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยโรคอาหารเป็นพิษ
ร้าน Grocer and Grind ได้ให้ความร่วมมือกระทรวงฯในการหาสาเหตุของการแพร่เชื้อซาลโมเนลลาครั้งนี้ โดยสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากไข่ไก่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์อาหารเป็นพิษในที่ประชุมครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลทั่วรัฐควีนสแลนด์ซึ่งจัดขึ้นที่ Brisbane Convention and Exhibition Centre โดยมีผู้ป่วยเกือบ 200 คน ตามที่จิงโจ้นิวส์เสนอข่าวไปในวันที่ 3 มีนาคม 2015 ในหัวข้อ “แบคทีเรียซาลโมเนลลาทำพิษ อาจารย์ใหญ่ 175 คนล้มป่วย”
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุว่าไข่ไก่จากฟาร์ม Darling Downs Fresh Eggs มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดขึ้นสองเหตุการณ์ และไม่ได้เป็นฟาร์มที่ถูกควบคุม เพียงแต่บริษัทพบมีการร้องเรียนว่าพบไข่ไม่สะอาดเพียงรายงานเดียว บริษัทก็ถือว่าระบบควบคุมคุณภาพมีความบกพร่อง
โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลด้านอาหารของเทศบาลเขตต่าง ๆ ให้เพิ่มความดูแล และกำชับผู้อยู่ในธุรกิจประกอบอาหารให้มีความระมัดระวังในการเตรียมอาหาร โดยเฉพาะจากไข่ไก่
นาง Sophie Dwyer ผู้อำนวยการกรมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารจากเชื้อซาลโมเนลลาแล้ว 1,895 คน ซึ่งถือเป็นยอดเพิ่มเป็นสองเท่าของที่คาดการณ์ไว้
นาง Dwyer กล่าวว่าในจำนวนโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อซาลโมเนลลา ที่ถือเป็นโรคอาหารเป็นพิษที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิต และกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อซาลโมเนลลามาจากไข่ไก่และเนื้อไก่ที่ปรุงไม่สุก
เธอกล่าวว่ามีอาหารที่ชาวออสเตรเลียนิยมรับประทานหลายอย่างเช่นอัลยอลี (aioli มายองเนสรสกระเทียมของชาวฝรั่งเศส), มายองเนส (mayonnaise), และทีรามิสุ (tiramisu ของหวานชนิดหนึ่งของชาวอิตาลี) ล้วนแต่ใช้ไข่ดิบเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น
เธอได้เรียกร้องให้ผู้บริโภคอย่าซื้อหรือรัปประทานไข่ที่มีเปลือกสกปก, เปลือกร้าว หรือไข่ที่ไม่ได้ประทับตรา เพราะมีโอกาสสูงต่อการติดเขื้อซาลโมเนลลา
ทางด้านดร. Barbara Wilson ผู้อำนวยการ Safe Food Production หน่วยงานอิสระของรัฐบาลรัฐกล่าวว่า ขณะนี้ทางการได้เข้าควบคุมฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวน 70 แห่งในรัฐควีนสแลนด์เพื่อหยุดการระบาดของเชื้อซาลโมเนลลา

ประกอบข่าวผู้ป่วยจากการกินอาหารที่คาเฟ่ Grocer and Grind ของสำนักแห่งหนึ่ง จิงโจ้นิวส์เห็นไม่เหมือนชาวบ้านเขาเลยเอามาลงให้ดู
jingjonews@hotmail.com
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply