พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” บทจบ

504 tamjai-01ตอนเก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” ตอนจบ

สวัสดีครับ.. จิงโจ้นิวส์ขอนำเสนอบทความตามใจฉันตอน…เก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน 28 “นายมั่น นายคง” ตอนจบ ซึ่งเคยปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับเดือนเมษายน ปี 2009 หลังจากลงตอนแรกไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เหตุที่ลงห่างกันถึงสองเดือน เพราะไม่มีเวลา สำหรับการทำงานวันแมนโชว์ ขอยกตัวอย่าง   ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมเจียดเวลาให้กับจิงโจ้นิวเฉลี่ยวันละ 6.94 ชั่วโมง (ไม่น่าเชื่อเลย แต่มันเป็นไปแล้ว) กว่าจะทำตอน “นายมั่น นายคง” ออกมาได้ ผมต้องเสียเวลาเกือบหกชั่วโมง กับการพิมพ์ใหม่ (สองนิ้วจิ้ม) จากต้นฉบับ อ่านทวนหาคำที่พิมพ์ผิด (ประจำ) ตามด้วยจัดหารูปอย่างต้นฉบับ แล้วโพสต์ แค่เนี๊ยะทำไมมันใช้เวลานานนัก …..!!!

อย่างไรก็ตาม ผมจะคัดลอกเรื่องเก่า ๆ ที่มีอีกกว่า 500 ตอนนำมาเสนอครับ

บทความตามใจฉัน ตอนเก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ วันที่ ๘-๒๑ เมษายน ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒)

บทความตามใจฉัน ตอนเก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ วันที่ ๘-๒๑ เมษายน ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒)

(ต่อจากฉบับที่แล้ว….ท่านสามารถอ่านย้อนหลังได้ด้วยการกดคลิก “พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” บทแรก” ที่นี่)

รายการวิทยุ “นายมั่น-นายคง” เริ่มต้นออกอากาศตั้งแต่กลางปีพ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ก่อนที่จะมีการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสเล็กน้อย   โดยคุณพระราชธรรมนิเทศ (เพียรราชธรรมนิเทศ) ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมโฆษณาการ   เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นผู้ให้นามสกุลนายมั่นว่า “ชูชาติ” และนายคงว่า “รักไทย”

นายสังข์ พัธโนทัย ผู้รับบท “นายมั่น ชูชาติ” ในขณะนั้นเป็นคนหนุ่มวัยเพียง ๒๕ ถึง ๒๖ ปีเท่านั้น   ตามประวัติกล่าวว่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูประถม แต่ต่อมาสอบได้วิชาครู ป.ม. แล้วย้ายจากกระทรวงศึกษาธิการมาอยู่กรมโฆษณาการ

ส่วนนายคงศักดิ์   คำศิริผู้รับบท “นายคง รักไทย” ขณะนั้นอายุ ๔๐ ปี จบการศึกษาชั้น ๓ ที่วัดอนงคาราม จากนั้นจึงศึกษาวิชาดนตรีกับครูสินธุ์แห่งบ้านคลองบางกอกน้อย ร่ำเรียนการสีซอด้วงมาเป็นเวลา ๓ ปีเต็ม   ต่อมาจึงสมัครเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาวัง กองแตร กระทรวงวัง ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี จนเป็นที่โปรดปรานในฝีไม้ลายมือมาก พระยาธรรมาธิกรณาธิบดีจึงชักชวนให้มาสังกัดวงดนตรีส่วนตัวของท่าน   นายศักดิ์ศิริจึงมีโอกาสศึกษาทางดนตรีกับวงดนตรีไทยระดับสูง   จนพัฒนาฝีมือขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของเมืองไทย และต่อมามีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

หลังจากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดียุบวงดนตรี   จึงเข้ารับราชการกับกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคมในปีพ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นช่วงปีแรก ๆ ที่กรมเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศไทย

จุดประสงค์เริ่มแรก ก็เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลชักชวนให้ประชาชนร่วมปฏิบัติตามนโยบายรัฐนิยมที่ออกมา   โดยพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) นายกรัฐมนตรีจะเขียนหัวข้อที่จะให้นายมั่นและนายคงพูดในแต่ละวันมาที่คุณพระราชธรรมนิเทศ   จากนั้นคุณพระราชธรรมนิเทศจะถ่ายทอดออกมาเป็นบทสนทนา ให้นายสังข์ฯ เป็นคนจดและทำสำเนาให้นายศักดิ์ศิริอีกชุดหนึ่ง

รายการนายมั่น-นายคงทำขึ้นวันต่อวันแบบฉุกละหุกพอสมควร เนื่องจากหนังสือซองเหลืองของท่านนายกรัฐมนตรีกว่าจะมาถึงก็เย็นแล้ว ต้องรีบทำบทสนทนาให้ทันออกอากาศในตอนค่ำ แต่การสนทนาก็ออกรสออกชาติเป็นที่นิยมของคนฟัง   เนื่องจากนายมั่นนายคงมีลูกเล่นแพรวพราว   บ่อยครั้งที่ออกนอกบทไปจากที่ท่านผู้นำกำหนดมา

ยิ่งในระหว่างกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงยิ่งออกรสชาติมากขึ้น   เพราะต้องต่อปากต่อคำกับ “นายน้ำมันก๊าด” และนาย “นกกระจอก” โฆษกของวิทยุฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน

ท่านผู้นำได้ให้นโยบายไว้ว่า รายการสนทนานายมั่น-นายคงจะต้องทำให้ประชาชนในอินโดจีนคือลาว, เขมร และญวน ลุกฮือขึ้นต่อต้านฝรั่งเศส และทำให้คนไทยหมดความกลัวฝรั่ง และเชื่อว่าไทยจะรบชนะฝรั่งได้

@@@@

 504TAMJI-รัฐนิยม

หลังจากศึกอินโดจีนจบสิ้นลง ไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมา   ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๘๑๔) จอมพลป. พิบูลสงครามจึงเร่งนโยบายรัฐนิยมต่อไป นายมั่น-นายคงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นกลไกลหนึ่งที่ทำให้นโยบายของรัฐบาลบรรลุผล

ตัวอย่างนโยบายหนึ่งก็คือการปฏิรูปการแต่งกายของประชาชน นายมั่น-นายคงมีส่วนในความสำเร็จในการให้ชายชาวไทยเลิกถอกเสื้อออกไปไหนต่อไหนนอกบ้าน หันมานิยมสวมเสื้อ นุ่งการเกงแพรดอกสีต่าง ๆ ออกนอกบ้าน เพราะใส่แล้วสบายกว่านุ่งโจงกระเบน และสวยงามกว่าการนุ่งกางเกงขาสั้นอย่างกางเกงขาก๊วยของจีน หรือการนุ่งผ้าขาวม้า จนกระทั่งการเกงแพรลายดอกเกือบกลายเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติไปแล้ว

ในช่วงปี ๒๔๘๔ ผู้ชายชาวไทยนิยมนุ่งกางเกงแพรสีฉูดฉาดออกนอกบ้าน ไปเที่ยวเตร่ดูหนังดูละครและไปในวงสังคม แข่งขันกับการแต่งกายของผู้หญิง

พล นิกร กิมหงวน ปกติจะแต่งสากลอย่างฝรั่ง แต่ในช่วงนี้ มีหลายตอนที่สามเกลอนุ่งกางเกงแพรออกไปเที่ยวนอกบ้าน

แต่การนุ่งกางเกงแพรได้ก่อปัญหาแห่งความไม่เหมาะสม   เมื่อคนหนุ่มรุ่นกระทงเริ่มทำแผลงขึ้นเพื่อให้สะดุดตาคนพบเห็น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ด้วยการนุ่งกางเกงขึ้นไปกระโจมอก  พวกเขาเห็นเป็นเรื่องโก้เก๋ แต่เป็นที่ขัดตาของท่านผู้นำ   ท่านจึงสั่งให้หาวิธีให้ประชาชนนุ่งกางเกงแพรเฉพาะอยู่กับบ้าน และให้นุ่งกางเกงอย่างสากลนิยมเวลาออกนอกบ้านแทน

นายมั่น-นายคงเริ่มโหมโรงโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเลิกนุ่งกางเกงแพรลายดอกออกนอกบ้าน อ้างว่ากางเกงชนิดนี้อารยชนถือเป็นกางเกงนอน ใช้สวมใส่ภายในบ้านเท่านั้น  และได้ติเตียนการนุ่งกางเกงอย่างโลดโผนของวัยรุ่นว่า เป็นการอุจาดตาและหมดความเป็นสง่าราศีแก่ชาติบ้านเมือง นานาอารยประเทศอาจดูหมิ่นเอาได้

นายมั่น-นายคงออกโฆษณาชักชวนไปได้ไม่กี่วัน ก็เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากกลุ่มเจ้าของร้านขายกางเกงแพร และจากประชาชนที่คุ้นเคยกับการนุ่งกางเกงแพรแล้ว   หนังสือพิมพ์บางฉบับออกมาโจมตีอย่างเสียหาย จึงเกิดการต่อต้านนายมั่น-นายคงครั้งใหญ่   แต่เมื่อเบื้องบนไม่สั่งให้เปลี่ยนแปลง นายมั่น-นายคงก็จำต้องเดินหน้าลุยต่อไป

ปฏิกริยาของประชาชนนับวันยิ่งมากขึ้น   ผู้คนยังคงสวมกางเกงแพรออกนอกบ้าน  โดยไม่สนในคำคัดค้านใด ๆ   ฉะนั้นนายมั่น-นายคงจำต้องเปลี่ยนกลยุทธใหม่ หยิบประเด็นชาตินิยมขึ้นมาพูดว่า กางเกงแพรเป็นวัฒนธรรมของจีน   ชาวไทยเคยถูกจีนลุกลานจนต้องถอยร่นลงมาทางใต้ และเราไม่สามารถปล่อยให้จีนลุกไล่ต่อไปได้อีก เพราะขึนถอยร่นต่อไป ก็ต้องตกทะเลเท่านั้น

การต่อต้านจีนนับวันยิ่งหนักหน่วงขึ้น   ถึงกับมีการประท้วงจากประเทศจีน   แต่ผลของการรณรงค์ก็ได้ผล การนุ่งการเกงแพรได้หายไปจากท้องถนนในที่สุด   คราวนี้ประชาชนกำลังรอว่า นายมั่น-นายคงจะแนะนำให้นุ่งกางเกงอะไรแทน

ถึงตอนนี้ถ้าจะบอกให้นุ่งกางเกงขายาวแบบตะวันตกตามความตั้งใจ   ก็คงถูกโจมตีแน่   ในที่สุดจึงออกมาแนะนำให้ประชาชนนุ่งกางเกงไทย คือกางเกงขาสั้น แบบที่รัชกาลที่ ๖ เคยดัดแปลงให้ลูกเสือและเสือป่าใช้ไปก่อน   จากนั้นจึงค่อยชักชวนให้นุ่งกางเกงขายาว

พอออกโฆษณาไปประชาชนเริ่มนุ่งกางเกงขาสั้นออกนอกบ้านหนาตาขึ้น จนเมืองไทยกลายเป็นเมืองที่ผู้ชายนุ่งขาสั้นไปทั้งเมือง ยกเว้นข้าราชการที่ต้องนุ่งกางเกงขายาวไปทำงาน

แต่ก็มีข้าราชการบำนาญบางคนนุ่งขาสั้น เข้าไปรับเบี้ยบำนาญในพระบรมมหาราชวัง   โดยอ้างว่านายมั่น-นายคงชักชวนให้นุ่งกางเกงขาสั้น เพราะเป็นกางเกงไทย   พอถึงขั้นนี้ผู้อยู่เบื้องหลังทุกคนพอใจ ที่ประชาชนเห็นด้วยว่าการนุ่งกางเกงแพรออกนอกบ้านเป็นการไม่สมควร

นายมั่น-นายคงปล่อยเวลาผ่านไป ๔ เดือนจึงเปิดเผยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่า ประชาชนน่าจะนุ่งกางเกงสากลขายาวออกนอกบ้านดีกว่า เพราะดูสุภาพเรียบร้อย กระฉับกระเฉง และยกฐานะของคนไทยเท่าเทียมกับอารยชนทั้งหลาย

ถึงจุดนี้ประชาชนสนองตอบการชักชวนของนายมั่น-นายคง กางเกงขาสั้นได้ทยอยหายไปอย่างรวดเร็ว   แต่ก็มีการนุ่งขาสั้นและกางเกงแพรอย่างบางตา

จนกระทั่งในเดือนที่   ๖ ของการโฆษณา ชัยชนะก็ตกเป็นของนายมั่น-นายคงอย่างเด็ดขาด เพราะกางเกงแพรได้หายไปจากท้องถนนอย่างสิ้นเชิง   เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นและจบลงภายในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

@@@@

504TAMJAI-บริษัทสามเกลอ ตามการประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลได้มีนโยบายปฏิรูบการแต่งกายสตรีด้วย แต่มารณรงค์อย่างจริงจังหลังจากญีปุ่นบุกไทย (๘ ธันวาคม ๒๔๘๔) และเพิ่มความเข้มข้นเมื่อประเทศไทยตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น   ซึ่งจอมพลป. พิบูลสงครามเห็นว่า ไทยจะด้อยกว่าญี่ปุ่นไม่ได้ในเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกาย

ในเวลานั้น สตรีไทยนุ่งซิ่น หรือไม่ก็นุ่งผ้าถุง และก็มีจำนวนมากที่ยังนุ่งโจงกระเบนท่านผู้นำได้วางนโยบายให้เปลี่ยนมานุ่งกระโปรงอย่างสตรีฝรั่งแทน

งานนี้ถือเป็นภารกิจอันหนักอึ้งของนายมั่น นายคง เพราะประเมินได้ว่าจะต้องถูกหนังสือพิมพ์โจมตี และกลุ่มผู้หญิงแห่กันเจริญพร จึงถือเป็นงานหนักยิ่งกว่าการพูดให้ผู้ชายเปลี่ยนจากนุ่งกางเกงแพรอย่างจีน มาเป็นกางเกงอย่างฝรั่ง

ขณะนั่งนึกกลยุทธกันอย่างหน้าดำคล้ำเครียด บังเอิญท่านผู้นำมีนโยบายเพิ่มเติมมาให้ ประชาชนหันมาสวมรองเท้า นายมั่นนายคงถึงกับโล่งอก หันมาโหมชักชวนให้คนไทยสวมรองเท้าออกนอกบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นงานเบา   ด้วยการอ้างประโยชน์ทั้งทางด้านการแพทย์และความสวยงาม เพราะการนุ่งกางเกงฝรั่ง แล้วไม่สวมรองเท้าดูออกชอบกล

ในสมัยนั้นราษฎรไทยร้อยทั้งร้อยไปไหนมาไหนไม่สวมรองเท้ากันทั้งนั้น แม้แต่ข้าราขการก็สวมบ้างไม่สวมบ้าง นโยบายนี้ถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างเบาะ ๆ เพียงแค่ จะทำให้ประชาชนคนมีรายได้น้อยต้องเดือดร้อน   แต่คำพูดของนายมั่น นายคงมีอิทธิพลสูง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองช่วยบังคับให้ราษฎรเดินตีนเปล่าให้ใส่รองเท้า   ภาระกิจนี้จึงได้ผล   ชาวกรุงจึงต้องหาซื้อรองเท้ามาใส่เพื่อไม่ให้ตำรวจรบกวน

ในช่วงเวลานั้นช่างทำรองเท้าต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืน   รองเท้ายางดูจะขายดีที่สุดเพราะราคาถูก และไม่ค่อยกัดเท้าเหมือนรองเท้าหนัง ราษฎรตอนนั้นไม่คุ้นกับการสวมรองเท้า  จึงถูกรองเท้ากัด มากกว่าถูกหมากัดครับ

ในไม่ช้าคนไทยก็หันมาสวมร้องเท้ากันทั่วหน้า ถึงตอนนี้นายมั่น นายคงจึงเห็นช่องทางที่จะให้สตรีไทยหันมานุ่งกระโปรงฝรั่งกัน โดยอ้างว่าการสวมรองเท้า แต่นุ่งโจงกระเบน หรือผ้าถุงผ้าซิ่นดูแล้วขัดตา   สุภาพสตรีจะดูสวยมีสง่าราศีเพิ่มขึ้นถ้าเปลี่ยนมาสวมกระโปรงอย่างฝรั่ง  และได้วิงวอนให้สตรีไทยช่วยเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้แก่ชาติ ให้สมกับเป็นชาติที่เป็นเอกราชมาช้านาน

จากนั้นการรณรงค์ให้เลิกนุ่งผ้าถุง นุ่งโจงกระเบนจึงเกิดขึ้นอย่างละมุน แต่ไม่ค่อยละม่อมนัก   เปิดช่องให้หนังสือพิมพ์โจมตีว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ใช้ความรุนแรงเกินเหตุ  โดยเฉพาะกับคนเฒ่าคนแก่ เป็นต้นว่าหญิงชราคนหนึ่งนุ่งโจงกระเบนไปจ่ายตลาด   ถูกตำรวจบังคับให้ปลดผ้ากระโจงกระเบนออก ให้เปลี่ยนสภาพมาเป็นผ้าถุง และบางรายมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพกับราษฎรอาวุโสเช่น “เดี๋ยวพ่อตัดหางเสียนี่” (คำนี้ถือว่ารุนแรงมากสำหรับคนสมัยนั้น)

แต่โดยรวมแล้วการสวมกระโปรงอย่างฝรั่ง ได้รับความนิยมจากหญิงไทยส่วนใหญ่อย่างรวดเร็ว   เพราะใครบ้างจะไม่อยากสวยเก๋ และเป็นคนทันสมัย การเปลี่ยนแปลงเป็นไปไม่รอช้าเหมือนปล่อยผี   เพียงแค่นายมั่นนายคงโฆษณาชวนเชื่อไปได้ ๒ วัน หญิงไทยก็นุ่งกระโปรงเดินตามถนนกันเป็นที่สะดุดตาเพศตรงข้าม   ต่อจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว หญิงไทยก็นำสมัยในเรื่องการแต่งกาย

หัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวนได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในช่วงสตรีตื่นแฟชั่นใหม่ โดยผ่านประภา, ประไพ, นันทา และนวลละออจากกิจกรรมที่แม่งามทั้งสี่แลกเปลี่ยนแบบเสื้อผ้า  ที่ต่างฝ่ายตัดจากแม๊กกาซินเก็บเอาไว้ (สมัยนั้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีวางขาย หญิงไทยต้องไปซื้อผ้า แล้วหาแบบเสื้อที่ชอบไปจ้างช่างตัดเสื้อทำ)

504 สุภาพบุรุษสามเกลอ

หัสนิยายสามเกลอตอน “สุภาพบุรุษสามเกลอ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เป็นอีกตอนหนึ่งที่คณะสามเกลอออกมาสนับสนุนนโยบายรัฐนิยมในเรื่องการ แต่งกายของรัฐบาล โดยห้างพัชราภรณ์ของพลที่บางรัก   และห้างศิวิลัยซ์พาณิชย์ของกิมหงวนที่พาหุรัด   และห้างสี่สหายที่ราชดำเนิน ติดแผ่นป้ายประกาศไม่ต้อนรับผู้ที่แต่งกายไม่สุภาพเข้าห้างสรรพสินค้าของพวกเขา

@@@@

หลังประสบความสำเร็จในเรื่องการแต่งกายของชายและหญิงแล้ว   นายมั่น นายคงได้เดินหน้าสนองนโยบายของท่านผู้นำ ผู้ใช้นามแฝงว่า “สามัคคีไทย” เขียนบทความในต้นปี ๒๔๘๕   เรื่อง “มาลานำไทยเป็นมหาอำนาจ” เพื่อเรียกร้องให้คนไทยสวมหมวก

นายมั่น-นายคงช่วงนั้นไม่มีนโยบายสำคัญจากท่านผู้นำมากนัก จึงเริ่มชักชวนให้ชายชาวไทยหันมาสวมหมวก โดยกล่าวว่าจะช่วยเสริมบุคลิกของผู้สวมใส่ให้ดีขึ้น   โดยเฉพาะคนผมบางจะสามารถปิดบังปมด้อยของตนเองได้

วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมสวมหมวก ผมทรงสกินเฮดยังเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ ยอมรับ (ผมทรง skinhead เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกจากกลุ่มวัยรุ่นชั้นกรรมมาชีพในอังกฤษในทศวรรษที่ ๖๐ ส่วนของไทยเริ่มปรากฎในอีกเกือบ ๓๐ ปีต่อมา เมื่อนักกีฬาและคนในวงการบันเทิงชั้นนำของโลกนิยมโกรนหัวกัน)   แต่การออกมาชักชวนของนายมั่น-นายคงกระบอกเสียงของรัฐบาล   ทำให้ประชาชนซึ่งมองว่าคือคำสั่งจากรัฐบาล เริ่มทยอยสวมหมวกกัน  ในไม่ช้าผู้ชายในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองต่างสวมหมวกกันทั่วไปหมด

504TAMJI-ความนึกในห้องขัง

นายสังข์ พัธโนทัย หรือนายมั่น ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตในหนังสือ “ความนึกในห้องขัง”  ถึงเรื่องการชักชวนให้ประชาชนสวมหมวกว่า ในคืนวันหนึ่งขณะกำลังโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ชาย สวมหมวกไปทำงานอยู่นั้น นายคง (นายคงศักดิ์ คำศิริ) เกิดออกนอกบทเอ่ยขึ้นว่า “ก็เมื่อผู้ชายสวมหมวกไปทำงานแล้ว ผู้หญิงจะต้องสวมด้วยหรือไม่?”

นายมั่นได้ฟังถึงตาเหลือกไม่รู้จะตอบอย่างไร และไม่มีอำนาจที่จะตอบด้วย   เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องหารือผู้หลักผู้ใหญ่เสียก่อนจึงจะตอบได้   แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนั้น จำเป็นต้องตัดสินใจในวินาทีเดียวกันทันที   จึงตอบไปอย่างอ้อมแอ้มว่า ก็ควรจะสวมด้วยเหมือนกัน

พอนายมั่นนายคงพูดหลุดออกอากาศไปอย่างนั้น ก็เกิดข่าวลือขึ้นทั่วประเทศว่า ทางการประสงค์ให้ผู้หญิงสวมหมวก หนังสือพิมพ์จึงลงข่าวพาดหัวตัวโต เขียนบทความโจมตีนายมั่นนายคงทำนองตีวัวกระทบคราดไปถึงท่านผู้นำประเทศ

หลังจากจบการสนทนาในคืนนั้น นายมั่นนายคงและพระราชธรรมนิเทศหัวหน้างานต่างรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องที่นายมั่นนายคงเผลอพลังปากไป ด้วยเกรงว่าจอมพลป.อาจจะไม่พอใจ   แต่บังเอิญไปตรงกับความคิดของท่านผู้นำเข้า เมื่อเลิกพูดถึงการสวมหมวกของผู้หญิงได้ไม่กี่วัน ท่านจอมพลก็แนะนำมา   ให้ชักชวนผู้หญิงสวมสวมหมวกต่อไป

เท่านั้นเองนายมั่นนายคงจึงเร่งโฆษณาชวนเชื่อต่อไป   กลยุทธแรกเป็นการชักชวนให้ผู้หญิงเห็นถึงความสวยงามของการสวมหมวก   คุณพระราชธรรมฯเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ จึงสามารถเล่าเรื่องการสวมหมวกเดินตามท้องถนนของแหม่มเมืองผู้ดีได้ดี

ผลตอบสนองของการรณรงค์ชุดแรก   ได้ผลตอบรับเพียงมีกลุ่มสตรีชั้นสูงที่มีรถยนต์นั่ง เริ่มสวมหมวกออกนอกบ้านและไปงานสังคมต่าง ๆ อย่างประปราย

แผนขั้นที่สองจึงเกิดขึ้นด้วยการกำหนดวันลงไปเลยว่า นับตั้งแต่วันที่นั้นเป็นต้นไป  ขอเชิญสตรีสวมหมวกออกจากบ้านพร้อมกัน   พร้อมกับการออกเพลง “สวมหมวกไทย” โดยวงดนตรีกรมโฆษณาการบรรเลงออกวิทยุกระจายเสียง วันละหลายรอบ จนคนไทยในยุคนั้น ร้องเพลงนี้กันได้ทั่วทั้งเมือง คำร้องมีว่า “เชิญสิคะ เชิญร่วมสวมหมวก แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู ปรุงใบหน้าให้อร่ามงามน่าดู จักเชิดชูอนามัยให้มั่นคง….”

พอถึงวันนัดหมาย ปรากฎว่าสตรีไทยสวมหมวกออกมานอกบ้านหลายรายด้วยกัน แต่ก็ยังอยู่ในกิริยาค่อนข้างเคอะเขิน แถมยังถูกพวกวัยรุ่นที่มีศัพท์เรียกกันว่า “คาวบอย” ก่อกวนออกมาโห่ร้องหญิงสาวสวมหมวกที่เดินผ่าน

นายมั่นนายคงต้องออกวิทยุปรามพวกคาวบอย อย่าล่วงเกินแก่ผู้หญิงที่เป็นสตรีของชาติ   หลังจากห้ามปรามพวกคาวบอยไปสองสามครั้ง การโห่ฮาป่าจึงรามือไป

จากนั้นไม่นาน สตรีไทยก็สวมหมวกกันอย่างกว้างขวาง   แต่ข้อบกพร่องในการจัดระเบียบของรัฐบาลก็ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับเรื่องที่ผ่านมา ๆ คือฝ่ายปกครองใช้อำนาจเกินเหตุ   ในการบีบบังคับประชาชนที่ไม่สวมหมวกออกนอกบ้าน จนในที่สุดประชาชนก็ปฏิบัติตาม

@@@@

นายมั่น-นายคงจึงถือว่าเป็นบุคคลที่ มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนไทย  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทย   ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

บทบาทของนายมั่นนายคงหายไปจากชีวิตประจำวันของคนไทย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลในวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ไทยได้พันตรีควง อภัยวงค์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สั่งยกเลิกนโยบายรัฐนิยมบางประการ เพื่อผ่อนเบาความตึงเครียดของประชาชนในช่วงประเทศไทยเผชิญภาวะเงินเฟ้อขนาดหนัก รวมถึงการยกเลิกคำสั่งห้ามประชาชนกินหมาก ห้ามนุ่งโจงกระเบน และการบังคับให้คนไทยสวมหมวก

ภารกิจสำคัญของพ.ต.ควงในเวลาต่อมาก็คือ การประกาศสันติภาพ และการประกาศให้ การประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลจอมพลป.เป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันกับคนไทย

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๘๘ (พ.ต.ควงยังเป็นนายกฯ ก่อนที่นายทวี บุณยเกตุขึ้นเป็นนายกฯขัดตาทัพในระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม-๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘)   ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันซึ่งตรงกับช่วงที่ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี   จอมพล.ป พิบูลสงครามแและพวกรวมถึงนายสังข์ พัฒโนทัย (นายมั่น) และนายคงศักดิ์ (นายคง) ถูกจับในข้อหาอาชญากรสงคราม

ตามข้อมูลจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงละเอียด ภริยาของท่านอดีตผู้นำให้ข้อมูลว่า ในวันที่๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (พ.ศ. ๑๙๔๕) จอมพลป. พิบูลสงครามถูกจับในข้อหาอาชญากรสงคราม ถูกฟ้องในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ.๑๙๔๖) ครั้งสืบพยานโจทก์ได้ ๘ ปาก ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า กฎหมายอาชญากรสงครามขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะ ใช้บังคับกับการกระทำของจอมพลป.ย้อนหลังไม่ได้ จึงพิจารณาปล่อยตัวไปในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวมจอมพลป. ถูกคุมขัง ๕ เดือนกับ ๑๖ วัน

หลังพ้นโทษ จอมพลป. ใช้ชีวิตนอกราชการอยู่กับครอบครัวที่บ้านซอยชิดลม นอนรอเวลาอยู่ ๖ ปีกับ ๒๓ วันก่อนที่ทหารทำการปฏิวัติรัฐบาลสมัยที่สามของนายควง อภัยวงค์  เพื่อเปิดทางให้จอมพล.ป. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง

เรื่องเล่าของนายมั่น ชูชาติ และนายคง รักไทยบุคคลที่ในช่วงเวลาหนึ่งเคยมีอิทธิพลต่อคนไทย แต่ได้ถูกลืมเลือนตามกาลเวลา.. จึงขอจบเพียงเท่านี้ครับ………

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: