29 ม.ค. 2015 ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของออสเตรเลีย 10 ใน 10 คนออกมาฟันธงว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.25% ถึง .05% ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงวันนี้พวกเขาได้กลับลำ หลังจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อไตรมาสเดือนธันวาคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้เป็นอย่างที่คาดคิด
ความผสมผสานของปัจจัยดัชนีราคาสินค้าทำให้เชื่อว่าธนาคารกลางอาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้อีก ผู้โหยหาอัตราดอกเบี้ยต่ำต้องรอลุ้นตัวเลขการว่างงานที่จะเป็นปัจจัยในการขยับดอกเบี้ยในครั้งต่อไป
ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์มองราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงจะเป็นตัวฉุดนำให้เงินเฟ้ออ่อนตัวลง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของเงินเฟ้อในสินค้าและบริการออสเตรเลีย ได้ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในไตรมาสเดือนธันวาคม หรือ 1.7% ตลอดทั้งปีถึงเดือนธันวาคม
แต่เงินเฟ้อระยะยาว (underlying inflation) ได้ตัดเอาผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของราคาที่อ่อนไหว (ช่ัวคราว) เช่นราคาน้ำมัน, ผักและผลไม้ ทำให้พบค่าเงินเฟ้อในไตรมาสเดือนธันวาคมอยู่ที่ 0.7% และยอดเงินเฟ้อทั้งปี ณ เดือนธันวาคมอยู่ที่ 2.25% (อยู่ในกรอบควบคุมของธนาคารกลางที่ระหว่าง 2.0% ถึง 3.0% หมายถึงไม่ต้องใช้มาตรการทางการเงินใด ๆ)
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้ลดลง 6.8% ในขณะที่ผักและผลไม้ลดลง 1.7% ตัวเลขชี้ให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงและผลกระทบจากภาวะการไม่มีเงินเฟ้อ (disinflation) ของโลก
ราคาซื้อขายตลาดสินค้าล่วงหน้าหลังจากการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค ทำให้ความคาดหวังต่อการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ลดฮวบลงจาก 40% มาอยู่ที่ 12%
นาย Tom Kennedy นักเศรษฐศาตร์จากค่าย JP Morgan กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงยึดติดมั่นทำให้เขาเชื่อว่าธนาคารกลางจะไม่ขยับดอกเบี้ยมาตรฐานลงอย่างแน่นอน
เขากล่าวว่าขณะนี้อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 6.1% ธนาคารกลางอาจใช้มาตรการทางการเงินเข้าแทรกแซงหากรายงานยอดว่างงานครั้งต่อไปเพิ่มขึ้นทะลุจุด 6.5%
นาย Craig James ผู้จัดการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ CommSec กล่าวว่า ในขณะที่ยุโรปเผชิญกับภาวะเงินฝืด (deflation) ที่ประชาชนกักกันเงินไว้ด้วยหวังที่จะรอซื้อสินค้าที่มีราคาที่ถูกลง แต่ออสเตรเลียกลับไม่ได้รับผลกระทบนี้
เขากล่าวว่า สภาพเงินเฟ้อไม่ได้คุกคามเศรษฐกิจออสเตรเลียและธนาคารกลางก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องขยับดอกเบี้ยในระยะนี้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยในอนาคตต้องขึ้นอยู่กับสภาพของตลาดแรงงานและการค้าปลีก
นาย Paul Bloxham ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC Australia กล่าวว่า ความผสมผสานระหว่างราคาน้ำมันที่ลดลง, ค่าเงินออสเตรเลียดอลล่าร์อ่อนตัว การลดอัตราดอกเบี้ยจะสนับสนุนอุปสงค์ในเศรษฐกิจภาคที่นอกเหนือจากอุตสหกรรมเหมืองแร่ แต่จะไปกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ (ซึ่งธนาคารกลางจะยังไม่ทำในตอนนี้)
หลังจากสำนักงานสถิติเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อออกมา ตลาดเงินได้ตอบสนองทันทีด้วยค่าเงินเอ-ดอลล่าร์กระเตื้องขึ้นมา 1 เซนต์สหรัฐมาอยู่เหนือระดับ 80 เซนต์สหรัฐ ก่อนที่จะอ่อนตัวลงที่ 79.98 เซนต์ในตอนค่ำของเมื่อวานนี้ที่ 28 มกราคม
การเปลี่ยนแปลงของราคา
แอลกอฮอล์ และ ยาสูบ | +7.4% |
การศึกษา | +5.2% |
สาธารณสุข | +4.4% |
ที่อยู่อาศัย | +2.4% |
อาหาร และ เครื่องดื่ม | +2.0% |
บริการการเงิน | +2.0% |
นันทนาการ | +0.8% |
เสื้อผ้า และ รองเท้า | -1.5% |
การขนส่ง | -1.9% |
การสื่อสาร | -3.0% |
แหล่งที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply