บังคับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ ติด Alco-lock ตรวจไม่เมาก่อนขับ

อุปกรณ์ Alco-lock ตรวจแล้วไม่เมาจึงขับรถได้ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

อุปกรณ์ Alco-lock ตรวจแล้วไม่เมาจึงขับรถได้ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

18 ม.ค. 2015 ชาวรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่ถูกจับคดีขับรถในขณะอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ระดับร้ายแรงประมาณ 6,000 คนจะถูกบังคับให้จ่ายเงิน 2,200 เหรียญเพื่อติดตั้งเครื่องตรวจแอลกอฮอล์หรือ Alco-lock ก่อนขับรถหรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางแทน

มาตรการดังกล่าว จะนำมาบังคับใช้กับผู้มีขับรถในขณะมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดระดับร้ายแรง ภายใต้โครงการ Mandatory Alcohol Interlock Program ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ภายใต้การทำงานของระบบ เมื่อผู้ได้รับใบขับขี่คืนหลังถูกสั่งพักการขับรถยนต์ การใช้รถทุกครั้งเขาจะต้องตรวจลมหายใจกับเครื่อง Alco-lock ที่ถูกบังคับให้ติดไว้กับรถ หากเครื่องตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ รถยนต์ของพวกเขาจะไม่ทำงาน

สำหรับผู้ที่ไม่มีระดับแอลกอฮอล์ เมื่อรถยนต์ทำงานไปได้ 15 นาที ผู้ขับรถจะต้องถูกบังคับให้ตรวจระดับแอลกอฮอล์อีกครั้ง จากนั้นจะมีการสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในระหว่างขับรถตามเวลาที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า

การติดตั้งเครื่อง Alco-lock จะเป็นไปตามคำสั่งของผู้พิพากษา   โดยจะมีอายุการติดตั้งไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ใครก็ตามที่พยายามจะช่วยผู้กระทำผิด ด้วยการทดสอบลมหายใจแทน จะถูกลงโทษปรับ 2,200 เหรียญต่อครั้ง อุปกรณ์ Alco-lock จะประกอบด้วยกล้องบันทึกภาพอัตโนมัติ ในการบันทึกภาพผู้ทดสอบลมหายใจอีกด้วย

แม้ว่ารายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในรัฐน.ซ.ว.ในปีที่ผ่านมาจะลดลงไปพร้อมกับผู้กระทำผิดขับรถขณะมึนเมา แต่ยอดผู้กระทำผิดขับรถในขณะมีระดับแอลกอฮอล์สูงยังเกินกว่า 20,000 รายในปีที่ผ่านมา

ภายใต้กฎระเบียบใหม่ผู้ขับรถที่ถูกวัดมีระดับแอลกอฮอล์ 0.150 ขึ้นไป (สามเท่าของระดับที่ถือว่าผิดกฎหมายจราจร) และผู้ถูกจับขับรถขณะมึนเมาเป็นจำนวน 2 ครั้งภายใน 5 ปี จะเข้าข่ายต้องติดตั้งอุปกรณ์ Alco-lock

นาย Duncan Gay ร.มต.การทางหลวงของรัฐบาลรัฐน.ซ.ว.กล่าวว่า ผู้ขับรถติดอุปกรณ์ Alco-lock จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์เท่ากับศูนย์เท่านั้น มิฉะนั้นจะสตาร์ทรถไม่ติด

เขากล่าวว่า รัฐบาลนำมาตรการนี้มาใช้ก็เพื่อปกป้องประชาชนทั่วไปจากคนที่มักง่ายและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการขับรถในขณะมึนเมา

ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ Alco-lock ได้ตามมาตรฐานที่รัฐบาลรัฐน.ซ.ว.กำหนดมีสามรายคือ Guardian Interlock Systems, Draeger Safety Pacific และ Smart Start Interlocks ที่ผู้ขับรถสามารถเลือกเข้าใช้บริการได้ ในอัตราเฉลี่ยประมาณเครื่องละ 2,200 เหรียญ

นาย Gay กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงานวิจัยสถิติและอาชญากรรมรัฐน.ซ.ว.พบว่า ผู้ขับรถในขณะมึนเมามีโอกาสสูงกว่าผู้ขับรถที่ไม่มึนเมาต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตถึงหกเท่าตัว

ในห้าปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตกว่า 340 คนและบาดเจ็บประมาณ 5,700 คนที่มีการดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง

นาย Nathan Smith เข้ารับการรักษาตัวจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

นาย Nathan Smith เข้ารับการรักษาตัวจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

ผู้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างของอุบัติเหตุเมาแล้วขับคือนาย Nathan Smith วัย 22 ปี ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาเขาเข้าไปดื่มแอลกอฮอล์ที่ผับแห่งหนึ่งในย่าน Picton ทางตะวันตกของซิดนีย์ จะกระทั่งเวลาประมาณ 2.00 น. เพื่อนของเขาอาสาขับรถพามาส่งบ้าน

แต่เมื่อขับมาถึงย่าน Tahmoor เพื่อนรายนี้ซึ่งมีประวัติขับรถขณะมึนเมาได้เสียการควบคุม รถพุ่งเข้าชนต้นไม้ข้างทางซ้อนสองต้น   พลเมืองดีช่วยดึงร่างของนาย Smith ออกมาจากรถที่กำลังลุกไหม้

คนขับรถถูกตั้งข้อหาขับรถขณะมีนเมาจนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง   ส่วนนาย Smith ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานหลายเดือน เขารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ต้องพิการนั่งรถเข็นตลอดชีวิต

นาย Smith กล่าวว่า หากกฎหมายการบังคับติดอุปกรณ์ Alco-lock เกิดขึ้นเร็วกว่านี้ 1 ปี เขาคงไม่ต้องเป็นคนพิการไปจนตลอดชีวิต

ปัจจุบันนาย Smith ทำหน้าที่เป็นทูตของ Youth Solution ในการให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องของอุบัติเหตุจากกรณีเมาแล้วขับ

ท่านสามารถติดต่อให้ความเห็นกับจิงโจ้นิวส์ ได้ที่ jingjonews@hotmail.com      คอมเมนท์ที่ส่งมากับเว็ปจิงโจ้นิวส์เป็นภาษาต่างดาว   อ่านไม่ออก    ขออภัยในความโลเท็คฯของผมนะครับ



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: