17 ม.ค. 2015 หนังสือพิมพ์ the SMH ได้รายงานข่าวถึงนักเรียนต่างชาติถูกเอาเปรียบในการจ้างงาน โดยบางคนถูกว่าจ้างเพียง 8 เหรียญต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยนายจ้างได้อาศัยการที่นักเรียนต่างชาติมีจำนวนมากที่ต้องการหารายได้เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในขณะศึกษาในออสเตรเลีย
การได้ค่าจ้างในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้นักเรียนต่างชาติต้องทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้จะเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศกลับประเทศหากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับได้ก็ตาม
หนังสือพิมพ์จากค่าย Fairfax Media ได้เข้าเยี่ยมโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแห่งหนึ่งในตัวเมืองซิดนีย์ ที่ซึ่งมีนักเรียนนานาชาติกว่า 50 คนยอมรับว่า พวกเขาทำงานได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 16.87 เหรียญต่อชั่วโมง
และอย่างน้อยมีนักเรียน 12 คนอ้างว่าพวกเขาได้รับค่าแรงต่ำกว่า 10 เหรียญต่อชั่วโมง ด้วยการรับค่าแรงเป็นเงินสดจากร้านอาหารจีน, ไทย, เกาหลี และตุรกีในย่าน Gladesville, Marrickville, Haymarket และ Chatswood
นักเรียนจากประเทศจีนรายหนึ่งกล่าวว่า เธอได้รับค่าจ้าง 9 เหรียญต่อชั่วโมง และอ้างอีกว่าเธอรู้จักกับเพื่อนนักเรียนอีกหลายคนที่ได้รับค่าแรงเพียง 8 เหรียญต่อชั่วโมง หรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
นักเรียนสาวชาวอิตาลีรายหนึ่งกล่าวว่า เธอต้องทำงานถึง 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในร้านคอฟฟี่ช็อป และที่ร้านอาหารอิตาลี ไปพร้อมกับการเข้าเรียนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนอีก 4 ชั่วโมงต่อวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์
เธอรู้ว่ากฎหมายให้เธอทำงานได้ไม่เกิน 20 ชม.ต่อสัปดาห์ แต่เธอไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้เธอก็อยู่ไม่ได้
สื่อค่าย Fairfax กล่าวว่าสถานการณ์เอาเปรียบแรงงานนักเรียนต่างชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจาก การเข้าทำการสืบสวนในปี 2013 ในครั้งนั้นสำนักหนังสือพิมพ์พบว่า มีร้านอาหารในซิดนีย์กว่า 40 ร้านจ้างพนักงานในอัตราที่ต่ำกว่า 8 เหรียญต่อชั่วโมง
นาง Jo Shulman ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมาย Redfern Legal Centre ที่ให้บริการแก่นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ และได้ทำคดีการเอาเปรียบแรงงาน 53 คดีในปีที่ผ่านมากล่าวว่า นักเรียนต่างชาติมักจะเก็บเรื่องถูกกดค่าจ้างเอาไว้อย่างเงียบ ๆ เพราะกลัวถูกแก้แค้น
เธอกล่าวว่า นายจ้างบางรายได้ข่มขู่ว่า จะนำเรื่องการทำงานเกินเวลาไปแจ้งแก่กระทรวงการเข้าเมือง หากพวกเขาร้องเรียนเรื่องค่าจ้าง
ในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาการร้องเรียนด้านความยุติธรรมในการทำงาน (FWO) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือชาวต่างชาติประมาณ 700 คนเรียกเงินค่าจ้างที่พึงได้จากนายจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมกัน 1.1 ล้านเหรียญ
โฆษกของ FWO กล่าวว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงานภายใต้กฎหมายออสเตรเลีย และความเป็น “เยาวชน, อุปสรรคทางภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม” ทำให้พวกเขาเป็นเป้าหมายต่อการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง
ขณะนี้ FWO ได้ทำการสอบสวนร้านอาหาร PappaRich ร้านอาหารมาเลเซียในย่าน Broadway หลังจากได้รับการร้องเรียนจากอดีตลูกจ้าง 4 คน
หนึ่งในจำนวนนั้นคือนาย Wan Hoe Goh นักศึกษาจากประเทศมาเลเซียวัย 25 ปี ผู้ซึ่งอ้างว่าเขาได้รับค่าจ้างในอัตรา 13 เหรียญต่อชั่วโมง และไม่ได้รับเงินอัตราพิเศษในฐานะพนักงานซุปเปอร์ไว้เซอร์ ซึ่งภายใต้กฎหมายแรงงานเขาควรได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 21 เหรียญต่อชั่วโมง
นาย Wan กล่าวว่า ผู้บริหารคงคิดว่า นักศึกษาไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิการจ้างงานของตนเอง จึงกดขี่แรงงาน อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่กิจการ PappaRich เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแฟรนไชส์อยู่ในหลายประเทศ
นาย Thomson Ching ประธานสภานักเรียนนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (CISA) กล่าวว่า ปัญหานักเรียนนักศึกษาต่างชาติถูกเอาเปรียบค่าจ้างแรงงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทุกแห่ง ซึ่งนักศึกษาหลายคนมีความกดดันและสิ้นหวังโดยหาทางออกไม่ได้
ด้านนาย Jason Stewart ครูสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนต่างชาติมาเป็นเวลามาเป็นเวลา 10 ปีกล่าวว่า การเอาเปรียบค่าแรงจากนายจ้าง ถือว่าโหดร้ายและนับวันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น
เขายอมรับว่านักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ทำงานมากว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะพวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยรายได้แค่ 200 เหรียญต่อสัปดาห์
ในปี 2013 Fairfax ได้รายงานถึงผลการสอบสวนเรื่องการเอาเปรียบแรงงาน รวมถึงเรื่องราวของน.ส. Yuka Odashima นักเรียนจากญี่ปุ่นผู้ร้องเรียนว่าเธอได้ค่าจ้างจาก Hihou Bar ที่ทำงานของเธอในนครเมลเบิร์นในอัตรา 15 เหรียญต่อชั่วโมง ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 16.37 เหรียญต่อชั่วโมง (ค่าแรงปี 2013) และค่าแรงแท้จริงควรสูงขึ้นอีกหลังจากทำงานหลังเวลา 17.00 น. แต่การร้องเรียงของเธอ เป็นผลให้นายจ้างไล่เธอออกจากงานทันที
แต่อย่างไรก็ตามการไล่พนักงานออกอย่างไม่เป็นธรรม ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งได้ถูก FWO ขยายผลเข้าตรวจสอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือคือร้านอาหาร Izakaya Den, ร้านอาหาร Nama Nama และ Hihou Bar ในเขต CBD ของเมลเบิร์นต้องจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างที่จ่ายต่ำกว่ากฎหมายกำหนดให้กับพนักงานอีกจำนวน 48 คน รวมเป็นเงินประมาณ 77,000 เหรียญ (2.3 ล้านบาท)
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply