
นสพ. the Telegraph ฉบับ 14 ม.ค. 2014 ด้านล่างเสนอข่าวคนหนุ่มสาวออสซี่เมินงานในชนบท จำต้องอาศัยนักท่องเที่ยวแบคแพคเกอร์ทำงานแทน ส่วนด้านบนเป็นการเสนอข่าวนาย Paul Gallen กัปตันรักบี้ลีกทีมไอ้หลาม Cronulla กลายเป็นพระเอกนอกสนาม ช่วยผู้เฒ่าวัย 87 ปีจากอุบัติเหตุตกบันไดเลื่อน 10 เมตรที่ศูนย์การค้า Miranda
14 ม.ค. 2015 คนหนุ่มสาวและผู้ว่างงานชาวออสซี่เต็มไปด้วยความเกียจคล้าน แถมยังพอใจกับเงินสวัสดิการจากรัฐ โดยไม่สนใจหารายได้พิเศษในฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ที่สามารถทำรายได้ให้พวกเขาถึง 250 เหรียญต่อวัน ทำให้เกษตรกรไร่องุ่นและไร่ส้มที่ต้องการแรงงานในช่วงนี้ ต้องพึ่งพาแรงงานนักท่องเที่ยวแบคแพคเกอร์
ปัญหาการขาดความสนใจของแรงงานภายในประเทศในฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายรัฐ อย่างเช่นจากรายงาน “Dole bludgers too lazy to pick up $250 a day” หรือ “ผู้กินเงินสวัสดิการจนเป็นนิสัย ขี้เกียจเกินไปที่จะทำงานได้เงิน 250 เหรียญต่อวัน” จากหนังสือพิมพ์ the Daily Telegraph นสพ.หลักของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2014 กล่าวว่า แม้ผู้ทำไร่ผลไม้ต้องการแรงงานใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ด้วยอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ไม่เป็นที่จูงใจของผู้ว่างงานทั่วไป และผู้ว่างงานในวัยหนุ่มสาว ทั้งที่อัตราคนว่างงานของคนอายุ 16 ถึง 24 ปีในพื้นที่ซิดนีย์ตะวันตกสูงถึง 17% ทำให้เกษตรกรต้องหันไปพึ่งแรงงานจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
เกษตรกรผู้ปลูกไร่องุ่นที่ Hunter Valley ผู้ซึ่งพึ่งแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลองุ่นกล่าวว่า พวกเขาเลิกสนใจคนหนุ่มสาวว่างงานในซิดนีย์ เข้าช่วยงานในฤดูกาลเก็บผลองุ่นปี 2015 ที่จะเริ่มขึ้นในวันนี้ (14 มกราคม) เป็นต้นไป เพราะพวกเขาไม่สนใจที่จะทำ ทั้งที่จะทำให้พวกเขาได้เงิน 250 เหรียญต่อวันอย่างไม่ยากเย็น หากพวกเขาใส่ใจที่จะทำงาน
เมื่อพึ่งแรงงานชาวออสเตรเลียไม่ได้ ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากฝากผลผลิตของพวกเขาไว้กับนักท่องเที่ยวแบคแพคเกอร์ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ, อังกฤษ, แคนาดา, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, หรืออินโดนีเซีย ฟาร์มผลไม้ทุกแห่งยินดีต้อนรับหมด
นาย Ken Bray ผู้ผลิตไวน์และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบอุตสหกรรมไวน์แห่ง Hunter Valley กล่าวว่า เกษตรกรและผู้ผลิตไวน์คงป่นปี้ถ้าไม่ได้แรงงานต่างชาติ เพราะผู้ว่างงานของเราไม่ต้องการทำงาน “การนอนรอเงินโดล์ถือเป็นงานที่ง่ายกว่าของพวกเขาไปแล้ว”
หรืออย่างนาย John Drayton ผู้จัดการฟาร์มและโรงงานผลิตไวน์ Drayton Wines กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานทำให้ฟาร์มของเขาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรเก็บผลองุ่นแทน แต่ก็ยังต้องการแรงงานมาช่วยเก็บผลองุ่นจากต้นองุ่นในไร่ที่ยังปลูกแบบเดิม
ส่วนนาย Andrew Pengilly แห่งฟาร์ม Tyrrells Wines กล่าวว่า เขาเลิกสนใจแรงงานในท้องถิ่นและพวกที่อ้างอุปสรรคต่อการต้องขับรถจากซิดนีย์ 2 ชั่วโมงมาทำงานที่ไร่ของเขา อีกทั้งคนพวกนี้ขืนมาทำงานก็ไม่ได้งานที่ดี เพราะพวกเขาไม่ได้เต็มใจที่จะทำงาน
พื้นที่ Riverina ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของรัฐน.ซ.ว.ยังคงมีความต้องการแรงงานไร้ฝีมืออย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อครั้งรัฐบาลนาย John Howard เคยใช้เงื่อนไขต่อวีซ่าทำงาน-ท่องเที่ยวอีก 1 ปี หากชาวต่างชาติยอมตกลงไปทำงานในชนบทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแรงงาน และถึงแม้กฎนี้ยังคงใช้อยู่แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในชนบทได้
นาย Vito Mancini เกษตรกรปลูกส้มที่เมือง Griffith กล่าวว่าในขณะที่ชนบทเปิดโอกาสกว้างในการทำงาน แต่ดูเหมือนจะไม่ดึงดูดใจวัยรุ่น อาจเป็นเพราะชนบทไม่มีร้านอาหารฟาสต์ฟูดเปิดขาย 24 ชั่วโมง และไม่มีช็อปปิ้งเซ็นเตอร์นั่นเอง

แรงงานแบคแพคเกอร์นานาชาติที่ทำงานให้กับฟาร์มและโรงงาน Berri ที่ Leeton รัฐน.ซ.ว. โรงงานนี้จิงโจ้นิวส์เคยได้รับเชิญไปชมมาแล้ว
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
working please
working please
มีผู้เขียนเข้ามาแสดงความสนใจที่จะมาทำงานในออสเตรเลีพอสมควร แต่จิงโจ้นิวส์ไม่ได้กด Approve เนื่องจากผู้สอบถามเข้ามาให้ชื่อและ/หรือที่ติดต่อเอาไว้ ด้วยเกรงว่าอาจจะมีผู้ไม่หวังดี ใช้ข้อมูลที่ให้มาติดต่อกลับด้วยใจไม่สุจริต ดังที่จิงโจ้นิวส์เคยเสนอข่าวนักท่องเที่ยวถูกบุคคลอ้างเป็นผู้รับจัดหางาน แล้วตกลงที่ถูกหลอกลวง หากโชคร้ายอาจถูกล่อลวงไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องการก็ได้
ประการที่สอง การแนะนำการจัดหางาน เป็นหน้าที่ของเอเยนซี่จัดหางาน จิงโจ้นิวส์ไม่อยู่ในข่ายที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการหางานทำได้ เนื่องจากไม่มีใบรับอนุญาตและผิดกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย
การจ้างงานตามฟาร์มเกษตรหรือแหล่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ค่าแรงดี ส่วนใหญ่จะมอบหน้าที่ให้เอเยนซี่จัดหางานเป็นผู้จัดหาแรงงานป้อนให้ ไม่รับโดยตรง ซึ่งเอเยนซี่มักจะรับชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าทำงาน-ท่องเที่ยว (working holiday visa) ครับ