ค่าจ้างส่งธุรกิจมีสาขาที่ไปได้สวย ซวยอีกถึงปิดกิจการทั้งที่ลูกค้าตรึม

นาง Lorraine และนาย Graham Browne ลูกค้าระยะยาวของไอศครีม Daily Bell

นาง Lorraine และนาย Graham Browne ลูกค้าระยะยาวของไอศครีม Daily Bell

10 ม.ค. 2015 ไอศครีม Daily Bell ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางที่ประสบความสำเร็จติดต่อกันมากว่า 4 ทศวรรษ กำลังจะกลายเป็นความทรงจำของชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อย หลังจากบริษัทประกาศจะยุติกิจการหลังเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ทั้งนี้ Daily Bell ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในเมลเบิร์นจะหยุดทำการผลิตไอศครีมที่โรงงานย่าน Malvern East ในเมลเบิร์นและโรงงานที่ย่าน Camperdown ในซิดนีย์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ โดยร้านขายปลีกแต่ละสาขาของ Daily Bell จะปิดตัวเมื่อจำหน่ายไอศรีมในคงคลังที่เหลือจนหมด

นาย Andre Razumes เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Daily Bell ในปี 1970 หรือ 45 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งรุ่งเรืองมีสาขาถึง 20 สาขากล่าวว่า ขณะนี้ถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องปิดฉากธุรกิจที่เขารัก และจบบทบาทของผลิตภัณฑ์ไอศครีมที่เขาพูดอย่างเต็มปากและภูมิใจว่า “100% Australian Owned”

แม้ว่าไอศครีม Daily Bell ยังได้รับความนิยมอย่างสูง แต่นาย Razumes กล่าวว่า เขาไม่สามารถต่อสู้กับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นทุกปีได้

เขากล่าวว่า บริษัทไม่สามารถทำกำไรจากการขายไอศครีมก้อนละ 3 เหรียญ เพื่อนำรายได้มาจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตรา 30 เหรียญต่อชั่วโมง

นาง Lorraine และนาย Graham Browne ผู้ซึ่งเป็นลูกค้าไอศครีมครั้งแรกเมื่อ 36 ปีที่ผ่านมากล่าวว่า พวกเขาเป็นลูกค้าประจำมาตั้งแต่หนุ่มสาวจนเข้าสู่วัยชรา ในทุก ๆ วันเสาร์ที่ทั้งสองไปคาสิโน ตอนขากลับบ้านก็จะแวะซื้อไอศครีม Daily Bell คนละสองก้อนทุกครั้ง รสที่พวกเขาชอบก็คือรสมะม่วงกับรสน้ำผึ้ง

(หมายเหตุ คนออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยจะเล่นการพนันเพื่อการพักผ่อน ส่วนใหญ่จะไปเล่นที่สโมสรทหารผ่านศึก หรือ RSL พวกเขามีงบประมาณเล่นพนันตายตัวเช่น 10 เหรียญหรือ 20 เหรียญ ส่วนใหญ่เล่นพนันโป๊กเกอร์แมชชิน เพราะกว่าจะหมดตัวจะกินเวลานาน หมดแล้วหมดกันไม่เก็บมาเป็นอาวรณ์ ผิดกับกลุ่มผู้อพยพ ที่เล่นพนันติดจนงอมแงม)

นางและนาย Browne ในวัย 69 ปีทั้งคู่กล่าวว่า ครอบครัวของพวกเขาเป็นแฟนไอศครีมตั้งแต่คนรุ่นทวดยันรุ่นเหลน เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้ซื้อไอศครีมเค้กจาก Daily Bell เพื่อฉลองวันเกิดครบ 100 ปีของมารดา ซึ่งเธอก็ชอบไอศครีม Daily Bell เหมือนกัน

ร้าน MissChu ในกรุงลอนดอน

ร้าน MissChu ในกรุงลอนดอน

ก่อนหน้าที่ร้านไอศครีม Daily Bell จะตัดสินใจปิดตัวเองเพื่อหนีค่าแรงงานที่สูงขึ้น   ร้านอาหารในแบรนด์ MissChu ขายอาหารปอเปี๊ยะสดเป็นเมนูเรียกลูกค้า ตามด้วยอาหารเวียดนามจานต่าง ๆ

ร้านอาหารในเครือ MissChu เพิ่งเริ่มเปิดตัวในปี 2009 แต่ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างจุดขายโดยอาศัยสื่อมวลชนช่วยกระพือข่าวในฐานะ “Queen of Rice Paper Rolls” และร้านอาหารในสไตน์ Tuckshop (ร้านขายอาหารขนาดเล็ก สไคล์บ้าน ๆ) จนสามารถเปิดสาขาได้ 11 สาขาในซิดนีย์, เมลเบิร์น และกรุงลอนดอน

ความสำเร็จในการเปิดสาขาที่กรุงลอนดอนในปี 2013 ทำให้ MissChu เตรียมแผนขยายสาขาเพิ่มในรัฐควีนสแลนด์, เซาท์ออสเตรเลีย และเพิร์ทภายในปี 2014

แต่การขยายสาขาที่เร็วเกินไป ทำให้กิจการประสบปัญหาสภาพคล่อง มีหนี้สินเกินตัว   จำต้องยอมให้มีการชำระบัญชีโดยใจสมัคร   เพื่อไปสู่การพิทักษ์ทรัพย์แล้วนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาเฉลี่ยคืนให้กับเจ้าหนี้ รวมกันเป็นเงินถึง 4 ล้านเหรียญ

ร้านอาหารในเครือ MissChu ต้องปิดตัวลง ทั้งที่ผลการดำเนินงานของกิจการทุกสาขาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เบื้องหลังของความล้มเหลวของกิจการ อยู่ที่ค่าจ้างแรงงาน

ร้าน MissChu มีผู้เป็นเจ้าของคือน.ส. Nahji Chu หรือชื่อตามสูติบัตรคือ Nga Chu ผู้เกิดในประเทศลาวในปี 1970 (อายุ 45 ปี) อพยพเข้ามาอยู่ในออสเตรเลียในขณะอายุ 8 ปี   ยอมรับว่าเธอบริหารงานผิดพลาด ในเรื่องของแรงงาน โดยปล่อยให้มีค่าใช้จ่ายแรงงานถึง 58% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading