พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” บทแรก

503 tamjai-01

“เก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน ๒๘

“นายมั่น-นายคง” ตอนแรก 

สวัสดีครับ บทความ “เก็บอดีตจากหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น-นายคง” ตอนแรก เป็นบทความอยู่ในคอลัมน์ตามใจฉันของ ไม้ซีกขีด ตอนที่ ๕๐๓ ปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๐๓ ประจำวันที่ ๒๕ มีนาคม ถึง ๗ เมษายน ๒๐๐๙

นายมั่น ชูชาติ และนายคง รักไทยมีบทบาทสำคัญในช่วงหนึ่งของเหตุการณ์บ้านเมืองของไทย   ที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยไม่กล่าวถึง   แต่เรื่องราวของบุคคลทั้งสอง ถูกกล่าวถึงในหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวนอยู่หลายตอน

ไม้ชีกขีด ใช้เวลาเขียนเรื่องนี้โดยใช้เวลาเพียงวันเดียว ก็เพราะเขาอ่านหัสนิยายพลนิกรกิมหงวน มาหลายเที่ยว จนจำได้ว่า เหตุการณ์ไหน อยู่เล่มใด หน้าใด   ขอเชิญอ่านได้เลยครับ

บทความ “เก็บอดีตจากหัสนิยายพลนิกรกิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น-นายคง” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์

บทความ “เก็บอดีตจากหัสนิยายพลนิกรกิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น-นายคง” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก…ฉบับนี้ผมขออนุญาตเขียนถึงเรื่อง “นายมั่น นายคง” ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อบุคคลทั้งสองมาก่อน   นามทั้ง ๒ นี้ปรากฎอยู่ในหัสนิยายพล นิกร กิมหงวนอยู่หลายตอนทีเดียวครับ   คนในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ทราบว่า บุคคลทั้งสองมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยในช่วงระหว่างการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสและในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างมาก   เรียกได้ว่าสองท่านนี้พูดอะไร คนไทยจะรับฟังและปฏิบัติตามครับ

นายมั่นนายคงเป็นใคร? มีความสำคัญในประวัติศาสตร์อย่างไร? ถือเป็นงานท้าทายสำหรับผมที่จะต้องนำมาเขียนให้เสร็จภายในหนึ่งวัน   กับการค้นหาเรื่องราวของบุคคลทั้งสอง จากตัวอักษรที่ปรากฎในหัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวน   และจากหนังสือตามตู้ชั้นต่าง ๆ ของห้องสมุด

หน้าตาของบทความครั้งนี้จะออกมาอย่างไร? ผมยังนึกไม่ออกเหมือนกัน   ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามได้เลยครับ

@@@@

503tanjai-สามเกลอไปรบ

ผมขออนุญาตเริ่มต้นจากสิ่งที่คุณป. อินทรปาลิตบันทึกเอาไว้ในหัสนิยายสามเกลอ เท่าที่เคยผ่านตามา “นายมั่น-นายคง” ปรากฎอยู่ในหัสนิยายครั้งแรกในตอน “สามเกลอไปรบ” (ถ้าผิดพลาดขอภัยด้วย หากมีปรากฎก่อนหน้าตอนนี้) เป็นเหตุการณ์ในราวเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) เป็นช่วงที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ – ๗ มีนาคม ๒๔๘๕) เป็นช่วงกรณีพิพาทดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มก่อตัว ในตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…..พลเดินมาที่เครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเล็ก ๆ ริมหน้าต่าง ‘ฟังวิทยุสถานีไซ่ง่อนไหมละ หรืออินเดียก็ได้?’

นิกรสั่นคีรษะ ‘ขี้เกียจฟัง ไม่รู้เรื่อง รับคลื่นวิทยุสถานีศาลาแดงของเราดีกว่า เมื่อกี้กันนั่งรถมาได้ยินแว่ว ๆ นายมั่นนายคงคุยกันถึงเรื่องสงคราม เปิดซีวะ พล, บางที่เราอาจจะได้ฟังข่าวแปลก ๆ”

พลเอื้อมมือเปิดสวิชไฟเครื่องรับและหมุนหน้าปัทม์หาระยะคลื่น อีกสักครู่ แผ่นเสียงของเพลงไทย ล.ควันธรรม ก็ดังกังวานลั่นห้อง…..”

ข้อความเพียงแค่นี้ บรรยายให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีวิทยุเป็นที่พึงในการรับฟังข่าวสาร รู้สึกว่าจะมีเพียงสถานีเดียวเท่านั้น   อยู่ในสังกัดกรมโฆษณาการ

ขณะนั้นคุณล้วน ควันธรรมเป็นนักร้องแนวหน้าของประเทศไทย   ส่วนเพลงที่ยังได้รับความนิยมในขณะนั้นมี “ดอกไม้ในมือเธอ” (กุหลาบในมือเธอ) ที่ร้องว่า “ใจพี่หายวาบ เมื่อเห็นกุหลาบกลีบกระจาย จำกลิ่น ได้คลับคลายว่าดอกที่ถือในมือเธอ พี่เพ้อขอมานาน….”   (จากตอน “สามเกลอล่าสัตว์” เหตุการณ์เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒) และเพลง “ตะวันยอแสง” ที่ร้องว่า “ดูซิดูโน่นซิ สุริสีร์กำลังยอแสง เหลืองสลับแดงแฝงแสงอยู่ดูรอนรอน…….” (จากตอน “อยากเป็นพระเอก” เหตุการณ์เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ และ “ทหารสามเกลอ” เหตุการณ์เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓) ยังเป็นที่นิยม แต่รู้สึกว่าทั้งสองเพลงจะไม่ใช่เพลงที่ล. ควันธรรมเป็นผู้ร้องครับ *

คลื่นวิทยุที่ชาวไทยนิยมเปิดรับฟังข่าวสารบ้านเมืองในขณะนั้น คือคลื่นวิทยุที่ส่งจากสถานีศาลาแดง ซึ่งมีนายมั่นและนายคงจัดรายการสนทนาตอนค่ำ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล

นอกจากนั้นผู้มีวิทยุยังสามารถรับฟังวิทยุคลื่นสั้นจากอินเดีย ซึ่งส่งสัญญาณของสถานีบี.บี.ซี.ของอังกฤษ   ซึ่งคลื่นนี้ดร.ดิเรกณรงค์ฤทธินักเรียนหัวนอกของเราเปิดรับฟังเป็นประจำ   แล้วยังมีคลื่นเสียงภาษาไทยส่งจากเวียดนาม โดยนายน้ำมันก๊าดกับนายนกกระจอกเป็นผู้ดำเนินรายการโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งตรงจากไซ่ง่อนครับ

@@@@

ปกตอนเสือต่อเสือ เจ้าของคือคุณโอ๊ด (จากอินเทอร์เน็ต)

ปกตอนเสือต่อเสือ เจ้าของคือคุณโอ๊ด (จากอินเทอร์เน็ต)

ตัวอย่างต่อมาคือตอน “เสือต่อเสือ” เป็นเหตุการณ์ระหว่างวันที่ ๘ ถึง ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) หนึ่งเดือนพอดีหลังจากญี่ปุ่นบุกไทย (๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔)  เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยลงนามสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลญี่ปุ่นภายในวัดพระแก้วในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔   อังกฤษตอบโต้ไทยด้วยการส่งเครื่องบินมาที้งระเบิดที่กรุงเทพฯและธนบุรีในวันที่ ๘ มกราคม   ตอนนี้คุณป. อินทรปาลิตให้สามเกลอของเรากลับมารับใช้ประเทศชาติอีกครั้ง ด้วยการกลับเข้ารับราชการในสังกัดกองกำลังผสมทางอากาศไทย-ญี่ปุ่น   กับเหตุการณ์ที่อังกฤษส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดพระนครและธนบุรีในวันที่ ๘ มกราคม

เพื่อไม่ให้คนไทยต้องเสียหน้ามากนัก   คุณป. อินทรปาลิตจึงสมมุติให้สามเกลอของเราบินตามเครื่องบินข้าศึกไปทันทีน่านฟ้าเหนือจังหวัดกาญจนบุรี   แล้วสอยเครื่องบินอังกฤษตกหมดทุกลำได้อย่างสะใจคนอ่าน

เท่านั้นยังไม่สะใจพอ คุณป. อินทรปาลิต ยังกำหนดให้กองทัพผสมไทยและญี่ปุ่นบินไปโจมตีฐานทัพอังกฤษที่พม่าในวัน ๑๑ มกราคมอีกด้วย

การสู้รบเต็มไปด้วยความดุเด็ดเผ็ดมัน   เพราะทุกคนมีความแค้นที่ถูกต่างชาติย่ำยี่เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอาเสี่ยกิมหงวนของเรา   ดังต่อนหนึ่งกล่าวว่า

“…..อาเสี่ยเจ็บใจนัก ที่นายมั่นนายคงโฆษกของเราบอกว่า นักบินอังกฤษที่มาโจมตีพระนคร เมื่อวันที่ ๘ มกราคม กลับไปโม้ให้ผู้บังคับบัญชาฟังว่า ได้เอาขวดเบียร์ขว้างหน่วยไฟฉายของเรา ฉะนั้นกิมหงวนจึงถือโอกาสนี้ตอบแทนข้าศึกให้สาสม….”

ข้อความนี้ พอจะประเมินได้ว่า การโฆษณาชวนเชื่อของนายมั่นนายคง และฝ่ายวิทยุอินเดียน่าจะเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง   ใส่กันแหลกไม่แพ้เหตุการณ์กรณีพิพาทสีเหลือง-แดงที่เกิดขึ้นในพอศอนี้ครับ   แต่ที่คุณป. อินทปาลิตพลาดไปอย่างหนึ่งคือ   ได้แต่งให้คณะสามเกลอบินไปยิงเครื่องบินอังกฤษตกหมด แล้วทำไมนักบินอังกฤษจึงกลับไปโม้ให้ผู้บังคับบัญชาฟังได้..!!!

@@@@

 503tanjai-พ่อแสนกล

“ในตอน “พ่อแสนกล” เหตุการณ์ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) เป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง (๗ มีนาคม ๒๔๘๕-๑ สิงหาคม ๒๔๘๗)  สังคมไทยเปลี่ยนจากการกินขนมจีนน้ำยา มาเป็นกินก๋วยเตี๋ยวตามที่ท่านผู้นำเพิ่งจะปราศรัยส่งเสริมมาหมาด ๆ เมื่อวันที่ ๗ พฤษจิกายน   ช่วงนี้มีการปฏิรูปภาษาไทย (ช่วงภาษาวิบัติ) ด้วยการตัดลดสระและพยัญชนะบางตัวออกไป   และอยู่ในช่วงคืนยศฐาบันดาศักดิ์ อย่างพระยาปัจจานึกพินาศก็กลายเป็นนายปัจจานึก, พระยาประสิทธินิติศาสตร์ก็กลายเป็นนายประสิทธิ   ดั่งที่ผมขอคัดลอกมาต่อไปนี้ ตามการเขียนต้นฉบับเดิมครับ

“…อุทกภัยผ่านพ้นไปแล้ว   ความร่มเย็นเปนสุขกลับมาเยือนประเทสไทยอีกครั้งหนึ่งถึงแม้ว่าเราจะหยู่ไนสถานะสงคราม พี่น้องร่วมชาติของเราก็มีขวันดี   ตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพเหมือนหย่างปกติ ไทยทั้ง ๑๘ ล้านเปรียบเสมือนบุคคลเดียวกัน ร่วมสามัคคีเปนเอกฉันท   เชื่อและไว้วางไจไนท่านผู้นำของตน…….”

(ขออนุญาตข้ามไปสองย่อหน้า)…..ขณะนี้คนะพัคสามเกลอกำลังพูดกันถึงเรื่องข่าวอกุสลที่กำลังลือกันต่าง ๆ นายมั่นนายคงได้สนทนาทางวิทยุกระจายเสียงจบลงเมื่อสักครู่นี้เอง   ขอไห้พี่น้องชาวไทยจงมีไจหนักแน่น หย่าหลงเชื่อข่าวอกุสลอันมาจากสัตรูของเรา พอนายมั่นนายคงสนทนากันจบ นายประสิทธิก็พูดกับท่านผู้ไหย่ถึงเรื่องนี้

นายปัจจนึกเคยเปนนายทหารชั้นผู้ไหย่มาแล้ว ท่านมีความรู้ดีกว่าไคร ๆ ไนเรื่องนี้  จึงอธิบายไห้ทุก ๆ คนซาบถึงที่มาแห่งข่าวอกุสล     ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า    

‘ไนยามสงครามเช่นนี้ สัตรูของเราจะต้องพยายามโคสนาชวนเชื่อ หรือโคสนาทำลายขวัน   ด้วยความมุ่งหมายที่จะไห้ประชาชนพลเมืองเกิดความระส่ำระสาย………..’ “

ข้อความนี้คุณป. ได้บันทึกถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงหลังจากน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯผ่านพ้นไป หลังจากจมอยู่ในน้ำนานถึง ๒ เดือน   ประเทศไทยมีพลเมือง ๑๘ ล้านคน และประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม

ส่วนข่าวอกุศล ก็คือข่าวที่นายน้ำมันก๊าด และแนวที่ห้าออกโฆษณาชวนเชื่่อ จากเนื้อหาที่ปรากฎในหัสนิยายสามเกลออีกหนึ่งหน้ากระดาษถัดมา ทำให้เดาได้ว่านายน้ำมันก๊าดเอานโยบายที่รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามขอให้ประชาชนที่ยากจน หรือผู้ที่ไม่มีอาชีพเป็นล่ำเป็นสันอพยพไปอยู่ต่างจังหวัด มาป้ายสีใส่ไข่ให้เป็นเจตนาร้ายของรัฐบาลไทย     ทางการก็ใช้นายมั่นนายคงเป็นกระบอกเสียงโต้ตอบกรณีนี้นั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีข่าวลือที่พวกแนวที่ห้าเอามาปล่อย   คุณป. อินทลปาลิต ได้บรรยายผ่านคุนหยิงวาด (คุณหญิงประสิทธินิติศาสตร์) ไว้ดังนี้

“เฮ้อ……คนเรานี่นะชอบลือกันบ้า ๆ บอ ๆ โจสกันออกแซ่ดไปว่า วันที่แปดจะหวอเครื่องบินข้าสึกจะมาหลายร้อย นี่เกินวันที่แปดแล้วไม่เห็นมีเครื่องบินข้าสึกมาเลย”

 @@@@

ตอน “สไต๊รค์” มีเพียง ๓๗ มีอยู่ช่วงหนึ่งถูกนำมาพิพม์แทรกอยู่ในตอน “ลูกสาวแม่เอ๊ย”

ตอน “สไต๊รค์” มีเพียง ๓๗ มีอยู่ช่วงหนึ่งถูกนำมาพิพม์แทรกอยู่ในตอน “ลูกสาวแม่เอ๊ย”

ทีนี้ขออนุญาตข้ามมาถึงตอน “สะไต๊รค์” เป็นเหตุการณ์ในระหว่างปี ๒๔๘๘ ถึง ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๒๔๔๖-๔๘) คือเป็นช่วงสงคราม – เสรีภาพ และก่อนที่จะมีการรัฐประหารเพื่อเปิดทางให้จอมพลป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สามในวันที่ ๘ เมษายนยน ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘)

ผมประเมินจากเนื้อหาที่คุณป. อินทรปาลิตบันทึกไว้ว่า ประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม มีการประท้วงกันในวงกว้าง แม้แต่ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ประท้วงขอเงินเดือนขึ้น พล-นิกร-กิมหงวนตอน “สะไต๊รค์” จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕)   ในช่วงที่ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี (๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ ถึง ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙)   ถ้าเป็นช่วงนี้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามไปแล้ว หลังจากโดนระเบิดปรมณูหย่อนลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในวันที่ ๖ และ ๙ สิงหาคมปีที่ผ่านมา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายมั่น-นายคงและพรรคพวกถูกจับในข้อหาอาชญากรสงครามในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘   และถูกจำคุกในระหว่างรอดำเนินคดีครับ

หลังสงครามโลกภาวะข้าวยากหมากแพงยิ่งหนักขึ้นไปอีก   ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปอีกหลายสิบเท่าตัว หัสนิยายสามเกลอตอน “สไต๊ร์ค์” ได้บันทึกถึงการดำรงชีวิตในภาวะสินค้าแพงหูฉี่ว่า บุหรี่ซองละ ๓ บาท โอเลี้ยงแก้วละ ๑ บาท   ราษฎรธรรมดาขึ้นรถไฟต้องเสียเต็มราคาไม่มีสิทธิพิเศษเหมือนข้าราชการ

คุณป. อินทรปาลิตได้นำเอาคณะสามเกลอเข้าไปร่วมกับเหตุการณ์นี้ ด้วยการให้เจ้าแห้วคนใช้จอมแก่นเป็นผู้นำในการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน     เมื่อถูกเจ้านายปฏิเสธจึงรวบรวมพรรคพวกกระบวนการคนใช้หยุดงานเป็นการประท้วง ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“……….ผู้ก่อการเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน เจ้าแห้วหยุดมองดูพรรคพวกของเขา ซึ่งมีนายสิน นายมั่น นายคง นายเดช นายแก้ว ชื่น แจ๋ว อนงค์ พร้อมและนายภควานจันทร์แขกยามของบ้านพัชราภรณ์ การเจรจากับท่านผู้ใหญ่ไม่เป็นผลสำเร็จ

‘ว่าไงโว้ยแห้ว’ เจ้ามั่นคนใช้ที่เชี่ยวชาญในการประจบสอพอเจ้านายกล่าวถามขึ้น……”

ตอนนี้คนใช้บ้านพัชราภรณ์มีปรากฎชื่อนายมั่น นายคง แถมยังบอกว่าเป็นคนใช้ที่เชี่ยวชาญในการประจบสอพอเจ้านายอีกด้วย

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป   นายมั่นนายคงกระบอกเสียงของรัฐบาลชุดก่อน ในอดีตเคยพูดอะไรคนไทยก็เชื่อฟัง   กลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมไทยอีกต่อไป

@@@@

 503tamjai พ่อแสนงอน ปก 2515

ขออีกตอนหนึ่ง “พ่อแสนงอน” เป็นเหตุการณ์ระหว่างวันที่ ๕ ถึง ๑๔ กุมภาพันธ์ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ในขณะที่พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐)   จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายมั่น และนายคงถูกศาลยกฟ้องคดีอาชญากรสงครามมาได้เกือบปีแล้ว     แต่คุณ ป. อินทรปาลิตและคนไทยยังคงไม่ลืมนามมั่น-นายคง

ตอน “พ่อแสนงอน” เป็นตอนที่สามเกลอถูกภรรยาฟ้องหย่าเป็นรอบที่สอง     ฉากหนึ่งเป็นเหตุการณ์ในศาลสถิตยุติธรรม ในขณะที่ฝ่ายโจทย์และจำเลยกำลังสืบพยานกันอย่างนัวเนีย คุณ ป. อินทรปาลิตได้บรรยายถึงผู้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีว่า

“…….ท่านผู้ใหญ่ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตามกัน มีเจ้าคุณปัจจนึกฯ เจ้าคุณวิจิตรฯ เจ้าคุณนพรัตน์ เจ้าสัวกิมไซ เจ้าคุณและคุณหญิงประสิทธิฯ ซึ่งต่างก็มาเป็นพยานโจทก์  พยานจำเลยนั้นมีเจ้าแห้วกับคนใช้อีก ๒ คนคือเจ้ามั่นกับเจ้าคงราชบัณฑิตแห่งการประจบสอพอ…”

จากข้อความนี้ สามเกลอมีคนรับใช้ชื่อเจ้ามั่นกับเจ้าคงอีกแล้ว แถมยังเหน็บแนมว่าเป็นราชบัณฑิตแห่งการประจบสอพอ     ก็คงไม่ใข่เขียนขึ้นอย่างบังเอิญ

@@@@

 503tamjai-ไปเวียงจันท์

หัสนิยายพล-นิกร-กิมหงวนยังกล่าวถึงนายมั่น นายคงอีกหลายตอน เท่าที่ผมพบ ยังมีในตอน “ไปเวียงจันทน์” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และตอน “บินสวนสนาม” เหตุการณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

ส่วนนายน้ำมันก๊าด คู่กัดของนายมั่นนายคง ปรากฎอยู่หลายตอนเหมือนกันเช่นตอน “กองพันพลร่ม” เหตุการณ์เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ.๑๙๔๐), ตอน “อัศวินราบอากาศ”  เหตุการณ์เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ.๑๙๔๐), ตอน “นักบินจำเป็น” เหตุการณ์เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ.๑๙๔๐) และตอน “ผีหลอก” เหตุการณ์ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ.๑๙๔๑) เป็นต้น

หัสนิยายสามเกลอบอกให้รู้ว่า อ้ายน้ำมันก๊าด เป็นลูกนายเปียเงิน กระจายเสียงวิทยุคลื่นสั้นมาจากไซ่ง่อน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส ช่วงที่กำลังมีกรณีพิพาทดินแดนกับประเทศไทย   โดยมีนายนกกระจอกคนไทยที่ทรยศต่อชาติเป็นลูกคู่ครับ

@@@@

ทีนี้มาดูว่านายมั่นนายคงเขาเป็นใครกัน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ภริยาของท่านปรีดี พนมยงค์รัฐบุรุษอาวุโสให้สัมภาษณ์คุณนรุตม์แห่งนิตยสารแพรวในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ในขณะที่ท่านมีอายุ ๘๐ ปีว่า นายมั่น-นายคงคือ นายสังข์ พัฒโนทัย และยังมีผู้เขียนอีกสองสามท่านที่บันทึกให้คนรุ่นหลังทราบว่านายมั่น-นายคง ที่คนไทยในยุคเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้วคุ้นหูคือใคร?

นักเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผมจำได้และสามารถค้นหาได้ในช่วงเวลาอันสั้นอีกท่านหนึ่งคือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ. ป้อมเพชรซึ่งก็เป็นหลานชายแท้ ๆ ของท่านหญิงพูนศุข คือท่านเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของบิดาดร.วิชิตวงค์ เล่าไว้ในหนังสือ “ทวนอดีต” ที่ทำให้ผมเอาตัวรอดจากงานเขียนบทความนี้มาได้

ดร.วิชิตวงศ์กล่าวว่า ผู้ที่เป็นเสียงของ “นายมั่น” ก็คือ “นายสังข์ พัฒโนทัย” อดีตหัวหน้ากองหนังสือพิมพ์กรมโฆษณาการ ส่วนผู้ที่เป็นเสียง “นายคง” ก็คือนายคงศักดิ์ คำศิริ” อดีตเจ้าหน้าที่ของกรมโฆษณาการ   (อ่านต่อฉบับหน้า ด้วยการกดคลิก “พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๘ “นายมั่น นายคง” บทจบ” ที่นี่)

หมายเหตุ *เพลงกุหลาบในมือเธอ เดิมชื่อเพลง “ดอกไม้ของหล่อน” ประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ขับร้องโดย ม.ล.ขาบ กุญชร ปรากฎในภายนตร์เรื่อง “เลือดทหารไทย” พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาในปี ๒๕๐๙ คุณชรินทร์ นันทนาครจึงเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงเป็นรายที่สอง

ส่วนเพลง “ตะวันยอแสง” ประพันธ์คำร้องโดย จำรัส รวยนิรันดร์ ขับร้องโดยจำรัส สุวคนธ์ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เลือดชาวนา”พ.ศ. ๒๔๗๙ บันทึกแผ่นเสียงคนที่สองโดย ลัดดา ศรีวรนันท์ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๗

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: