กลุ่มรักสัตว์รณรงค์ต่อต้านกินเป็ด อ้างถูกเลี้ยงอย่างโหดในฟาร์ม

640-02 Duck2 พ.ย. 2014 กลุ่มรณรงค์เพื่อเสรีภาพสัตว์ในนาม Animal Liberation ได้ออกโฆษณาแฉถึงการทารุณกรรมเป็ดเลี้ยงจากฟาร์มในรัฐน.ซ.ว. โดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวจีนในซิดนีย์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่นิยมกินเนื้อเป็ดมากที่สุดในประเทศ

Animal Liberation ต้องการสื่อสารให้ชุมชนรับรู้ว่า เป็ดจำนวนหลายล้านตัวกำลังถูกทรมานอยู่ในฟาร์ม เนื่องจากมันถูกเลี้ยงในกรง ไม่เคยได้ลงสระ หรือให้ว่ายน้ำอย่างอิสระ

นาง Emma Hurst ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของ Animal Liberation กล่าวว่า การทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดสมัยใหม่จะเลี้ยงเป็ดโดยแทบจะไม่ถูกน้ำ ทั้งที่วงจรชีวิตของมันส่วนใหญ่จะอยู่กับน้ำ

เธอกล่าวว่า เป็ดที่ไม่มีโอกาสได้ว่ายน้ำจะนำไปสู่โรคขาพิการ, กระดูกหัก, ถุงน้ำใต้ผิวหนังหน้าอกพอง (breast blisters), เสียการทรงตัว และหนังถูกทำลายจากปริมาณความเข้มข้นของแอมโมเนียเพิ่มขึ้นในระดับสูง

กลุ่มต่อต้านได้ทำป้ายโฆษณาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนไว้ภายในรถประจำทาง 25 คันที่วิ่งผ่านไชน่าทาวน์และถนน George St. (ถนนสายหลักในเขตตัวเมืองชั้นในของซิดนีย์), บนบอร์ดติดข้อความและโฆษณาและในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนรายสัปดาห์ Chinese Sydney Weekly

ป้ายรณรงค์ยังถูกติดไว้ใกล้กับตู้กระจกแขวนเป็ดย่างที่หน้าร้าน Prince Peking Duck Restaurant ในย่าน Parramatta

นาง Hurst กล่าวว่ากลุ่มของเธอได้ใช้เงินทุนจาก Voiceless สถาบันคุ้มครองสัตว์ ตั้งเป้าไปที่ชุมชนชาวจีน เพราะผู้บริโภคเป็ดกว่า 80% อยู่ในกลุ่มคนจีนและเอเชีย

เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีผู้ได้ทราบว่าก่อนที่เป็ดจะถูกนำมาใส่จานเสิร์ฟ พวกมันต้องถูกทรมานอย่างไรบ้าง ประชาชนควรมีสิทธิ์ที่จะรับทราบ เพื่อพวกเขาจะตัดสินใจสนับสนุนการเลี้ยงเป็ดอย่างทรมานด้วยการกินมันต่อไปหรือไม่

นาย Jonathan Yee เจ้าของภัตตาคารอาหารจีน Emperor’s Garden Restaurant ในไชน่าทาวน์ออกมากล่าวว่า มันไม่ยุติธรรมที่จะพุ่งเป้าโจมตีมาที่ธุรกิจชาวจีน เพราะเป็ดเป็นอาหารในร้านอาหารของชาติอื่น ๆ เช่นกัน โฆษณาควรกระจายไปในย่านอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงที่ไชน่าทาวน์

นาย Yee กล่าวว่าร้านของเขาขายเป็ดเฉลี่ยประมาณ 150 ตัวต่อวัน การรณรงค์ต่อต้านย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขาย เหมือนเมื่อครั้งกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์รณรงค์ต่อต้านการกินหูฉลาม (ครีบฉลาม) ทำให้เขาต้องตัดหูฉลามออกจากเมนูอาหารนานถึงสองปีทีเดียว และหากการรณรงค์ครั้งนี้เป็นผล ก็เชื่อว่าจะกระทบต่อเมนูเป็ดปักกิ่งซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมอย่างแน่นอน

เขายอมรับว่า เขาไม่เคยสอบถามถึงวิธีการเลี้ยงเป็ดจากฟาร์มผู้ผลิตและผู้ค้าส่งให้กับภัตตาคารของเขาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

ทางด้านนาย John Houston ผู้อำนวยการของ Pepe’s Ducks ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเป็ดสดรายใหญ่ที่สุดในประเทศจาก Windsor ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซิดนีย์ 56 กม.ได้กล่าวตำหนิAnimal Liberation ว่าให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

นาย Houston กล่าวว่า ในแต่ละสัปดาห์เป็ดสดประมาณ 60,000 ตัวจากฟาร์มของ Pepe’s จะถูกส่งไปขายให้กับร้านอาหารและร้านขายเนื้อสดของชาวเอเชียทั่วประเทศ ส่วนอีก 30,000 ตัวจะส่งไปตามร้านอาหารและร้านค้าอื่น ๆ ที่รวมถึงห้าง Woolworths

เขากล่าวว่า เป็ดทุกตัวจากฟาร์ม Pepe’s และผู้รับสัญญาช่วงได้รับการตรวจสอบและมีรับรองใบอนุญาตจากสำนักงานอาหารรัฐน.ซ.ว. (NFA) โดยไม่มีการทารุณกรรมเป็ดตามข้อกล่าวหา

นอกจากนั้นเขาเชื่อว่า ฟาร์มที่ไม่มีใบรับอนุญาตให้เลี้ยงเป็ด ก็ไม่สามารถเลี้ยงเป็ดได้ ถ้า Animal Liberation พบฟาร์มใดเลี้ยงเป็ดอย่างทรมานก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที ไม่ใช่ทำความเสียหายให้กับผู้อยู่ในอุตสหกรรมฟาร์มเลี้ยงเป็ดทั้งหมด

โฆษณาต่อต้านของ Animal Liberation บรรยายว่า “โปรดจินตนาการฟาร์มเลี้ยงเป็ดโดยไม่มีน้ำ... แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นอย่างนี้”

โฆษณาต่อต้านของ Animal Liberation บรรยายว่า “โปรดจินตนาการฟาร์มเลี้ยงเป็ดโดยไม่มีน้ำ… แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นอย่างนี้”



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: