เดอะแลนด์ลอร์ด ตอน ๑๐
“วันฮาโลวีน”
สวัสดีครับ บทความเรื่อง “เดอะแลนด์ลอร์ด ตอน ๑๐ : วันฮาโลวีน” เป็นตอนที่ ๕๙๕ ของไม้ซีกขีด ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๙๕ วันที่ ๑๔ ถึง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ เพื่อเป็นการต้อนรับวันฮัลโลวีนที่จะถึงในวันที่ ๓๑ ตุลาคมที่จะถึงนี้ ขอเชิญอ่านได้เลยครับ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ในฉบับที่ผ่านมาผมเขียนคอลัมน์ตามใจฉันถึงสองตอน ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเพื่อต้อนรับน้องนัทนักเรียนจากกรุงเทพฯผู้สนใจเรื่องราวของออสเตรเลีย เธอเข้ามาเป็นแฟนคลับคนล่าสุด แต่เรื่องที่เขียนเป็นน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง จึงตัดสินใจเขียนใหม่ ส่วนเรื่องน้ำท่วมทุ่ง (เรื่องคนบ้าทำสวน) ผมเอามาทำเป็นตอนพิเศษในขนาด A4 ส่งให้น้องนัทและแฟนคลับอีกสามคนที่ชอบอ่านเรื่องเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยได้อ่านกัน
ตามใจฉันฉบับ A4 ผมได้กล่าวไว้ว่า ตั้งใจจะเขียนเรื่อง “ฮัลโลวีน” แต่ติดอยู่ที่ว่า ขณะเขียนเป็นช่วงก่อนวันฮัลโลวีนที่ ๓๑ ตุลาคม แต่วันที่หนังสือพิมพ์วางตลาดเป็นวันที่วันฮัลโลวีนได้ผ่านไปแล้ว จึงไม่เหมาะแก่ประการทั้งปวง ผมเลยเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเล่าสู่กันฟัง เมื่อวันฮัลโลวีนผ่านพ้นไปแล้ว ประกอบกับคุณวิทยา บุญหนุนแห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯอยากทราบเรื่องราวของเทศกาลฮัลโลวีนในชุมชนละแวกบ้านเลขที่ ๑๐ ของผม ผมจึงเห็นว่าเหมาะต่อการตามใจท่านผู้อ่านเป็นสองต่อครับ
@@@@
ก่อนที่จะเล่าถึงวันฮัลโลวีนของพวกเด็ก ๆ ที่อยู่ร่วมถนน ผมขอเล่าถึงความเป็นมาของวันฮัลโลวีนโดยย่อครับ
ฮัลโลวีนมีต้นกำเนิดจากชาวเคลต์ (Celts หรือ Kelts) เป็นชนเผ่าที่อยู่อาศัยในยุโรปกลางไปจดเกาะอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันชาวเควต์ได้ถูกกลืนชาติกลืนวัฒนธรรม ที่ยังคงรักษาประเพณีและภาษาพูดหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบันคือในไอร์แลนด์, สกอตแลนด์, เกาะไอเซิลออฟแมน, เวลส์, คอร์นวอลล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และแคว้นบริตตานี (Bretagne) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส
ว่ากันว่ากำเนิดของวันฮัลโลวีนเกิดขึ้นโดยชนเผาเคลต์ในไอร์แลนด์ โดยพวกเขาเชื่อว่าวันส่งท้ายปีเก่าหรือวันสิ้นสุดฤดูร้อนที่ ๓๑ ตุลาคมเป็นวันที่วิญญาณของผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะออกหาร่างคนเพื่อสิงสู่ ทำให้คนที่มีชีวิตอยู่ต้องหาทางป้องกันไม่ให้ผีเข้าร่าง ชาวเคลส์จึงดับไฟในบ้าน เพื่อให้อากาศหนาว ซึ่งผีไม่ชอบ นอกจากนั้นยังแต่งกายเป็นผี เป็นสัตว์ประหลาด ทำเสียงดังอึกทึก เพื่อให้ผีตกใจกลัวหนีไปไม่เข้าร่างพวกเขา
ความเชื่อของวันฮาโลวีนแผ่กระจ่ายไปทั่วยุโรป จนในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ชาวยุโรปในสมัยนั้นถือวันที่ ๒ พฤศจิกายนเป็นวันแห่งวิญญาณ เกิดประเพณีของกลุ่มคนเดินร้องขอ “ขนมเค็กสำหรับวิญญาณ” ด้วยการเดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง แล้วชาวบ้านก็นิยมให้ขนมเค็ก ด้วยความเชื่อที่ว่าเขาให้ขนมเค็กมากเท่าไร วิญญาณของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปก็จะได้ผลบุญมากเท่านั้น ก็คงเหมือนกับชาวพุทธที่ทำบุญกวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับนั่นเอง ความเชื่อนี้ต่อมาถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันฮาโลวีนที่เรียกว่า “Trick or Treat” หรือ “หลอกหรือเลี้ยง”
สำหรับวันฮัลโลวีนที่มีกระจายอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากสหรัฐควบคุมสื่อบันเทิงของโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นเอง
สำหรับสหรัฐเองได้รับเอาประเพณีฮัลโลวีนในราวทศวรรษที่ ๑๘๔๐ โดยผู้อพยพจากไอร์แลนด์ แล้วพัฒนาเป็นวันฮัลโลวีนตามแบบฉบับของอเมริกา เด็ก ๆ แต่งกายเป็นภูตผีปีศาตร์ บ้างก็แต่งเป็นแม่มด มีการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ ที่เรียกว่า “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” หรือ Jack-o’-lantern ไว้ที่ประตูรั้วหรือหน้าบ้าน
เทศกาลฮัลโลวีนในโลกปัจจุบันนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา, ไอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนั้นยังมีอีกในบางประเทศของยุโรปครับ
@@@@
ตามความรู้สึกของผมแล้วกิจกรรมวันฮัลโลวีนในออสเตรเลียมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ต่างจากเทศกาลคริสต์มาสที่เพิ่มสีสรรมากขึ้นในแต่ละปี บ้านเรือนบนถนนเดียวกับผมเพิ่มจำนวนหลังในการตกแต่งไฟคริสต์มาสทุกปี และทุกหลังก็เพิ่มจำนวนไฟประดับมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ราวกับพวกเขาจะประชันกัน
วันฮัลโลวีนก็เหมือนกันแต่ก่อนนั้นเงียบเหงาจนแทบไม่รับรู้ว่าเป็นวันปล่อยผี จะมีเคาะประตูบ้างในบางปี ผมจำได้ว่าปีหนึ่งมีกลุ่มเด็กวัยรุ่นมาเคาะประตูเป็นเด็กสาวรุ่นอายุราวสิบสี่สิบห้าปีสี่ห้าคน พวกเธอไม่ได้แต่งอย่างผีแต่แต่งชุดดำหมด แล้วแต่งหน้าทาปากพองามเหมือนจะไปงานปาร์ตี้ที่บ้านใครบ้านหนึ่ง พอเปิดประตูเด็กสาว ๆ ก็ส่งเสียง “ทริก ออร์ ทรีต ๆ ๆ” ผมก็ยังงงอยู่ว่าพวกเธอมาไม้ไหนกัน? จนสาวน้อยคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า วันนี้เป็นวันฮัลโลวีน ทำให้ผมถึงบางอ้อ บอกไปว่าขอโทษทีเถอะไม่ได้เตรียมขนมไว้ พวกเธอก็ตอบว่าไม่รังเกียจที่จะรับเงิน เมื่อพวกเธอกล้าขอผมก็กล้าให้ไปห้าเหรียญ จากนั้นในแต่ละปีก็มีอย่างประปราย เป็นเด็กกลุ่มละสามสี่คนมาเคาะประตู ผมก็จะให้ช็อคโกแลตที่เตรียมไว้บางครั้งก็ให้เศษเงินนิดหน่อยไปด้วย
กิจกรรมฮัลโลวีนในละแวกบ้านผม เริ่มมีขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะก็เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง และส่อแววจะเป็นงานประจำปีที่คนร่วมถนนจัดขึ้นนอกเหนือจากงานคริสต์มาส จะต่างกันที่การจัดงานคริสต์มาสพวกเราจะปิดปากซอยหลังบ้าน (rear lane)จัดงาน ซึ่งปีนี้ผมเพิ่งโดน “โชล” แม่บ้านเลขที่ ๔ และ “อีมิลี” แม่บ้านเลขที่ ๘ แซวว่าพวกเธอรอกินทอดมันปลาที่ผมเอาไปร่วมงานอยู่ทุกปี ผมได้ตอบพวกเธอไปว่าปีนี้ ผมมีแผนจะทำอาหารไทยอย่างพิเศษ รับรองว่าผู้ร่วมงานจะไม่ผิดหวัง ส่วนกิจกรรมฮัลโลวีนจะเป็นกิจกรรมที่กลุ่มเด็กจะเดินไปเคาะตามบ้านแทน
ฮัลโลวีนเริ่มเป็นที่นิยมในออสเตรเลียมากขึ้น สังเกตได้จากในช่วงก่อนวันฮัลโลวีนจะมีร้านค้าขายขนมและสิ่งของที่เกี่ยวกับเทศกาล ที่ห้างวูลเวิร์ทส์ใกล้บ้านผมมีสินค้าเกี่ยวกับเทศกาลฮัลโลวีนราวร้อยชนิด ที่พิเศษกว่าทุกปีก็คือปีนี้มีฟักทองสำหรับแกะเป็นแจ็ค-โอ-แลนเทิร์นกองเป็นภูเขา แล้วก็ขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม
อ้อ..เจ้าฟักทองแจ็ค-โอ-แลนเทิร์นนี้เขาซื้อมาคว้านเอาเนื้อข้างในออก แล้วเจาะตา เจาะปาก เจาะจมูกใสไฟเป็นโคมเอาวางไว้หน้าบ้าน เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าบ้านหลังนี้เข้าร่วมเทศกาลวันฮัลโลวีนนั่นเอง
ความรู้สึกของผมมาสอดคล้องกับรายงานของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National Retailers Association) กล่าวว่าในปีนี้สินค้าช็อคโกแลต, ลูกกวาด รวมไปถึงฟักทองมียอดขายเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ ๒๕ ถึง ๓๐ อันเนื่องมาจากชาวออสเตรเลียเพิ่มกิจกรรมในเทศกาลอีสเตอร์, คริสต์มาส และรวมถึงวันฮัลโลวีน
สมาคมผู้ค้าปลีกยังระบุว่าวันฮัลโลวีนได้ถูกบึนทึกไว้ในปฏิทินของผู้ค้าปลีกแล้ว และดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นเทศกาลที่กำลังขยายไปทั่วโลก ด้วยเหตุผลก็คือชาวโลกต้องการหากิจกรรมสนุก ๆ ที่เป็นสากลเพิ่มขึ้นมาคานกับความเครียดที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมกันนั่นเอง
ผลการวิจัยของสมาคมยังพบว่า อิทธิพลของภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) และภาพยนตร์ชุดแวมไพร์ ทไวไลท์ (Twilight) มีส่วนทำให้เด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกเข้าร่วมกิจกรรมฮัลโลวีนมากขึ้นครับ
สำหรับปีนี้พื้นที่จัดงานฮัลโลวีนที่ใหญ่ที่สุดในซิดนีย์ก็คือย่านบรอนเต้ (Bronte) โดยมีผีเด็กผีผู้ใหญ่จำนวนหลายร้อยตนร่วมเดินพาเหรดไปตามถนนเชสเตอร์พิลด์ (Chesterfield Parade) ซึ่งถ้าการจัดงานที่บรอนเต้ยังสามารถรักษาประเพณีให้ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี ผมเชื่อว่ามันจะกลายเป็นงานประเพณีสำคัญระดับชาติ เหมือนอย่างงานซิดนีย์มาดิการ์สของชาวเกย์ซึ่งจัดขึ้นที่ถนนออกซ์ฟอร์ด (Oxford Street) ครับ
@@@@
ที่นี้มาดูการจัดกิจกรรมฮัลโลวีนของชุมชนร่วมถนนที่ผมอาศัยอยู่กันบ้าง เกิดจากผู้ปกครองของบ้านเลขที่ ๔ และเลขที่ ๘ เป็นโต้โผในการสนับสนุนให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรม คือการปล่อยให้เด็กร่วมถนนเตรียมงานกันเอง โดยพ่อแม่เพียงเฝ้าดูห่าง ๆ เหมือนกิจกรรมตั้งโต๊ะขายน้ำผลไม้ หรือขายดอกไม้ ที่กลุ่มเด็ก ๆ ทำโดยใช้หน้าบ้านเลขที่ ๘ เป็นจุดตั้งโต๊ะทุกครั้งไป เพื่อขายคนเดินผ่านไปมา แบบสนุก ๆ ไม่ได้หวังรายได้อะไร เหมือนเด็กไทยเล่นขายของกับหม้อข้าวหม้อแกงอะไรเทือกนั้น
แต่บ้านที่อยู่ติดกันคือบ้านเลขที่ ๑๐ ของผมจะพิเศษหน่อยก็คือพวกเด็ก ๆ จะมาเคาะประตูเชื้อเชิญให้ออกมาอุดหนุนสินค้า น้ำมะนาวแก้วจิ๋วรสชาติเปรี้ยวจี๊ดแก้วละ ๑๐ เซนต์ ดอกไม้ใบหญ้าเก็บตามสวนหลังบ้านกำจิ๋วกำละ ๑๐ เซนต์ พวกเด็ก ๆ ก็ไม่ผิดหวังเพราะผมสนับสนุนทุกครั้ง ผมมักจะให้ครั้งละ ๒ เหรียญ ใจจริงอยากจะให้มากกว่านี้ แต่ต้องยั้งมือเกรงเด็กจะได้ใจที่ได้อะไรมาง่าย ๆ อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกินหน้าเกินตา จนเป็นที่หมั่นไส้ของคนอื่น
กลับมาที่กิจกรรมวันฮัลโลวีนเริ่มด้วยเด็ก ๆ ช่วยกันเขียนจดหมายด้วยลายมือทุกฉบับ ปีนี้ผมได้รับจดหมายแนบลูกโปร่งสีดำ มาหย่อนไว้ในตู้จดหมาย มีข้อความว่า
“ถึงเวลากลับมาอีกครั้งหนึ่งของ “ทริค ออร์ ทรีต” ถ้าท่านพอใจกับกลุ่มคนมาที่ประตูหน้าบ้านของท่าน โปรดเป่าลูกโป่งและแขวนมันไว้ที่ประตูบ้านหรือประตูรั้วเข้าบ้าน ในวันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม… ขอขอบคุณทุกท่าน”
คืนวันจันทร์ที่ ๒๙ ตุลาคมผมกับหลานชายคนโต จัดการขับรถไปช็อปปิ้งที่ห้างวูลเวิร์ธ ไปซื้อช็อคโกแลตบาร์ยี่ห้อต่าง ๆ มายี่สิบกว่าห่อกะพอแจกเด็ก
ในตอนบ่ายของวันฮัลโลวีน (๓๑ ตุลาคม) ผมออกไปจ่ายค่าสตราต้า (ค่าธรรมเนียมอาคารชุด) ประจำไตรมาส ๑,๒๑๙.๓๐ เหรียญ ค่าประกันชีวิตอีก ๑,๒๘๖.๗๕ เหรียญ ที่ไปรษณีย์หัวมุมถนน แถมอีกหกวันผมจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแสนโหดตามอัตราใหม่อีกเฉียดพันเหรียญ นี่แหละคือชีวิตหืดขึ้นคอของคนเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในระดับต้น ๆ ของโลก ตอนขากลับผมเดินตัวเบามาพบเด็กนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งเดินกลับจากโรงเรียนมาตามฝั่งตรงข้ามถนน จำได้ว่ามีรูบี้ลูกสาวบ้านเลขที่ ๘ แล้วก็มีลูกสาวบ้านเลขที่ ๑๒ อีกสองคน นอกนั้นคงเป็นลูกสาวบ้านอื่นแถว ๆ นี้ พวกเธอเดินเข้าไปในบ้านของรูบี้ ผมเดาได้ทันทีว่าแก๊งเด็ก ๆ ใช้บ้านเลขที่ ๘ เป็นที่แต่งชุดผีนั่นเอง
กิจกรรมวันฮัลโลวีนเริ่มขึ้นในเวลาหกโมงครึ่ง พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน เหล่าผีออกมาแล้วประมาณ ๒๐ ตนส่งเสียงเจี๊ยวจ็าวไปหมด พวกผู้ปกครองขนเอาโต๊ะมาตั้งเก้าอี้มาวางเพื่อดูแลเด็ก ๆ เล่นสนุก ถนนที่พวกเราอยู่เป็นถนนสายสั้น ๆ สามารถมองเห็นจากท้ายถนนและหัวถนนได้อย่างชัดเจน
พอเวลาใกล้หนึ่งทุ่มผมก็ลงไปทักทายผู้ปกครอง แล้วเรียกเด็ก ๆ มาได้ส่วนหนึ่งเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายไว้เอามาให้ผู้อ่านได้ชมกัน
หลังจากหนึ่งทุ่มแล้วแก๊งแมนยูฯ..เอ๊ย..แก๊งเด็กผี ก็เริ่มออกปฏิบัติการ บ้านไหนไม่มีลูกโป่งแสดงว่าไม่ต้องการรบกวน เด็ก ๆ ก็จะไม่เข้าไป บ้านไหนติดลูกโป่งก็กรูกันเข้าไปเคาะประตู..อ้อ..กดกริ่งประตู อย่างบ้านเลขที่ ๑๐ ของผม พอเปิดประตูรับแก๊งเด็กผีก็ทักทาย “ทริก ออร์ ทรีต” ผมไม่กล้าเสี่ยงตอบ “ทริก” เลยบอก “ทรีต” ไปแล้วก็ไปหยิบถุงช็อคโกแลตมาให้เด็กคนละถุง ความจริงผมทำค่อนข้างเว่อร์ไปที่แจกให้คนละถุง แต่ไม่มีใครรู้นอกจากผมและเด็ก ๆ เท่านั้น ซึ่งปกติเขาให้ช็อคโกแลตกันถุงสองถุงและอาจจะให้เหรียญเงิน ๒๐ เซ็นต์บ้าง ๕๐ เซนต์บ้าง หรือ ๑ เหรียญจำนวนหนึ่งให้เด็กไปแบ่งกัน
มีบางบ้านที่ตอบว่า “ทริก” อันที่จริงพวกเขาพร้อมที่จะให้อยู่แล้ว แต่ต้องการให้เด็กเล่นกิจกรรม พอตอบว่า “ทริก” หรือ “หลอก” พวกเด็ก ๆ ก็จะแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกผี ทุบฝาบ้าน เขย่ารั้วและต้นไม้ บางที่อาจถึงทำลายทรัพย์สินเล็ก ๆ น้อย ๆ จนเจ้าของบ้านยอมแพ้ ยอมเอ่ยคำว่า “ทรีต” แล้วเอาขนมมาให้เป็นอันจบกิจกรรม หลอกเจ้าของบ้าน
ถ้า “ทริก ออร์ ทรีต” คือหนทางที่ทำให้วิญาณของญาติมิตรผู้ล่วงลับได้รับอาหารและผลบุญตามควมเชื่อของชาวเคลต์ในอดีต ผมก็หวังว่าแม่ของผมคงจะได้รับประทานช็อคโกแลตที่ท่านโปรดปรานเช่นกันครับ
@@@@
หน้ากระดาษยังไม่หมด ผมขอต่อเหตุการณ์น่าตื่นเต้น ขอรับรองว่าเป็นความจริงหาได้โกหกตอแหลแต่อย่างใด มันเกิดขึ้นหลังเที่ยงคืนของวันฮัลโลวีน ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตี ๔ ผมออกไปหลังบ้านเพื่อจะไปลากเอาถังขยะฝาแดง และถังขยะฝาเขียวออกไปไว้ที่ซอยหลังบ้าน เพื่อรอรถเทศบาลมาเก็บในตอนเช้าตรู่
พอผมเดินมาถึงหน้าเรือนรับแขกซึ่งหลานชายคนโตนอนอยู่ ก็ได้ยินเสียงรั้วคัลเลอร์บอนด์สั่นดังคลึนใหญ่จากการกระทบกันของประตูเลื่อนกับตัวรั้วโลหะ ผมหันไปตามเสียงเห็นภาพคล้ายหัวคนผมสีครีมอมเหลืองไว ๆ หายไปจากขอบรั้ว
ความตกใจทำให้ผมช็อคประมาณสองสามวินาที ก่อนที่จะรวบรวมสติเดินกึ่งกล้า ๆ กลัว ๆ ไปที่รั้ว เหยียบกระถางจีนใบใหญ่ที่ผมตั้งคว่ำไว้เพื่อเหยียบดูซอยหลังบ้าน แรกทีเดียวผมคิดว่าอาจเป็นขโมย แม้ว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาผมไม่ได้ยินข่าวว่ามีขโมยบนถนนสายนี้เลยก็ตาม
ผมค่อย ๆ ยื่นหัวพ้นรั้วดูซอยหลังบ้าน ซึ่งเป็นซอยขนาดกว้าง ๕ เมตร ด้านซ้ายมีความยาวเท่ากับด้านกว้างของบ้าน ๒ หลัง และด้านขวามีความยาวเท่ากับด้านกว้างของบ้าน ๑๐ หลัง แต่ผมไม่เห็นสิ่งมีชีวิตใด ๆ เลย
ทั้งทีเป็นซอยโล่งไม่มีรถจอดแม้แต่คันเดียว อีกทั้งแสงไฟจากเสาไฟฟ้าทำให้เห็นตลอดทั่วซอย ทำให้ผมแปลกใจที่ไม่มีขโมยหรือสิ่งมีชีวิตให้เห็น เพราะในช่วงยามเงียบสงบตอนนั้นหากขโมยวิ่งหนีไม่ว่าจะเป็นตีนเบาระดับใดก็ต้องได้ยินเสียงฝีเท่าวิ่ง
แล้วภาพที่เห็นคืออะไร? ผีหรือผมเชื่อแน่ว่าไม่ใช่ ถ้าผีมีจริงมันก็คือพลังงานบางอย่าง ไม่น่าจะทำเสียงหนัก ๆ ได้
ปริศนาแห่งความลึกลับนี้ถูกผมค้นพบในอีกสองวันต่อมา ในราวตีสามของเช้าตรู่วันที่ ๓ พฤศจิกายน ผมเดินออกไปรับอากาศบริสุทธิที่สนามหลังบ้านตามเคย แล้วไอ้เสียงดังโครมตรงประตูเลื่อนก็เกิดขึ้นอีก หนนี้ไม่เห็นตัว แต่ผมรีบเดินไปเหยียบกระถางจีนยื่นหัวออกไปดู คราวนี้เห็นสิ่งลึกลับแล้วมันคือแมวขนปุยตัวใหญ่กำลังวิ่งอยู่หลังซอย ภายในบ้านผมยังพบนังแมวดำขนสั้นอย่างแมวไทยอีกหนึ่งตัว มันเป็นแมวของบ้านเลขที่ ๘ ผมจึงสรุปได้ว่านังดำมันแอบนัดพบไอ้แมวหนุ่มกันที่หลังบ้านผมนี่เอง….. พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
.
Categories: บทความ ตามใจฉัน
Leave a Reply