เดือนตุลาคม เดือนที่สองของฤดูใบไม้ผลิ วันที่ 6 ตุลาคมคือ “วันแรงงาน” ในหลายรัฐ ส่วนใหญ่เราจะเรียกว่า Labour Day แต่ที่แทสมาเนียเขาเรียก Eight Hours Day ที่เรียกเช่นนี้อาจเป็นเพราะ ในยุคประชาผาสุก วิถีชีวิตของคนออสเตรเลียจะอยู่ในหลักการของ 8-8-8 คือ ใน 24 ชั่วโมงของวันทำงาน ชาวออสซี่จะทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อนและนันทนาการ 8 ชั่วโมง และนอนหลับพักผ่อน 8 ชั่วโมง วันเสาร์อาทิตย์ ไม่ทำงาน ออสซี่ชนใช้เวลาไปโบสถ์ เล่นกีฬา ดูกีฬา ทำสวนหลังบ้าน ท่องเที่ยว บาบีึคิว ฯลฯ ที่นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี่เรียกวันแรงงานว่า May Day เพราะวันแรงงานของเขาตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม วันแรงงานคืออะไร? วันแรงงานคือวันที่เหล่าผู้ใช้แรงงานเฉลิมฉลองให้กับตัวเองที่มีส่วนในการผลักดันให้เศรษฐกิจของชาติเดินก้าวไปข้างหน้า …. ไม่ใช่วันนัดกันประท้วงนะครับ
Daylight Saving
เวลา 2.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม ยังเป็นวันเริ่มต้นของ Daylight Saving หรือช่วงการทดเวลาเพื่อรับแสดงแดดเพิ่มขึ้น ที่รัฐน.ซ.ว., วิกตอเรีย, เซาท์ออสเตรเลีย, แทสมาเนีย และแคนเบอร์ร่าแคปิตัลเทร์ริทอรี่ จะปรับเวลาตอน 2.00 น. หมุนให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเป็น 3.00 น. Daylight Saving จะสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2015 ด้วยการปรับเวลาตอน 3.00 น.กลับมาที่ 2.00 น.
เกี่ยวกับเรา
เดือนตุลาคมนี้ ผมขอถือโอกาสนำ “เกี่ยวกับเรา” ที่เขียนไว้ตั้งแต่เริ่ม จิงโจ้นิวส์กลับมาลงอีกครับ jingjonews ถูกสร้างขึ้นเเพื่อให้คนไทยในออสเตรเลีย และผู้อ่านในประเทศไทย* ที่ติดตามข่าวออสเตรเลียจากหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์สามารถมีแหล่งข่าวเกี่ยวกับออสเตรเลียต่อ หลังจากที่ไทยออสได้ยุติเสนอข่าวออสซี่มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 ข่าวออสซี่ยังคงเสนอข่าวภายใต้วิธีการเขียนแบบเดิมเป็นต้นว่า
1.ยึดตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน และของ International Organization for Standardezation เป็นต้นว่าในกรณีต้องใช้คำทับศัพท์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และอังกฤษเป็นภาษาไทย อย่างเช่น อำเภอ จะเขียนว่า Amphoe ไม่ใช่ Ampher หรือ Amphur / แกงเขียวหวาน เขียนว่า kaeng-khiao-wan ไม่ใช่ kaeng-khiaw-wan ในทางกลับกัน World เขียนว่า เวิลด์ ไม่ใช่ เวิร์ลด์ / feet ว่า ฟุต ไม่ใช่ ฟีต เป็นต้น
2.ชื่อบุคคล ชื่อสถานที่จะใช้คำภาษาอังกฤษ เพื่อเลี่ยงปัญหาความสับสน และจากประสบการณ์ผู้รายงานข่าวเคยเจอปัญหานี้มานักต่อนัก ยกเว้นแต่คำที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย เช่นซิดนีย์ วิกตอเรีย ออสเตรเลีย เป็นต้น จะเขียนด้วยคำไทย
3.ชื่อถนน ในภาษาอังกฤษมีหลายคำ เช่น Road, Street, Avenue, Parade, Place, Close, Crescent, Court, Way, Drive ฯลฯ จำเป็นต้องเขียนตัวย่อ Rd. St. Av. Pde. Pl. Cl. Cr. Ct. Wy. Dr. ไว้หลังชื่อถนน มิฉะนั้นคนอ่านจะไม่ทราบว่าถนนไหน
หากคุณใช้บริการแท็กซี่ในออสเตรเลีย จะต้องบอกเลขที่บ้าน ชื่อถนน (พร้อมประเภทของถนน) และย่านที่อยู่ให้ถูกต้อง มิฉะนั้นคุณจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
4. อักษรย่อรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางจะใช้ ร.มว. ส่วนรัฐมนตรีรัฐบาลรัฐจะใช้ ร.มต. เป็นระบบที่นำมาใช้เพื่อให้ผู้อ่านได้แยกแยะ ส่วนตำแหน่งมหัพภาค (full stop) ที่ใช้อย่างนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านอาจารย์กำชัย ทองหล่อ เนื่องจากผู้รายงานข่าวเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ ความรู้ในภาษาไทยแย่มาก เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ก็ได้ตำราหลักภาษาไทยของท่านเป็นที่พึ่ง และสำนึกในพระคุณ เราเห็นสมควรที่จะใช้หลักเกณฑ์ของท่านมาใช้กับคำย่อของรัฐมนตรี
5.ตำแหน่งรัฐบาลรัฐ หรือ premier เราใช้ภาษาไทยว่า “นายกรัฐมนตรีรัฐ” ไม่ใช่ “ผู้ว่าการรัฐ” ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า governor และ “มุขมนตรี” (royal advisor) อย่างที่สื่อในเมืองไทยบางสำนักใช้ เพราะตำแหน่งผู้นำรัฐในออสเตรเลีย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมเด็จพระราชินิอลิซเบทที่ 2 แต่นายกรัฐมนตรีรัฐ มาจากการเลือกตั้ง พรรคใดได้ ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ได้จัดตั้งรัฐบาล และแต่งตั้งโดยผู้แทนพระองค์ฯประจำรัฐ
หมายเหตุ * มีฝรั่งออสเตรเลียที่อ่านมาษาไทยได้ ร่วมติดตามอ่านจิงโจ้นิวส์ด้วยครับ
Categories: Uncategorized
Leave a Reply