
นาง Lu Luo เจ้าของฉายา “Cable Girl” กลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรงหลังทำบ้าน 40,000 หลังเสี่ยงไฟไหม้
22 ก.ย. 2014 ที่พักอาศัยและที่ทำการธุรกิจในออสเตรเลียกว่า 40,000 หลังอยู่ในสภาพเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะเกิดเพลิงไหม้ได้ทุกเมื่อจากการเดินสายไฟและเคเบิลที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศจีน
คณะทำงานเฉพาะกิจเข้าประเมินความเสียหายจากสายเคเบิลมีความยาวรวมกันกว่า 4,000 กิโลเมตร ที่ถูกนำไปติดตั้งตามบ้านเรือน คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 80 ล้านเหรียญในการแก้ไข และจะต้องทำด้วยความเร่งด่วนก่อนที่สายเคเบิลจะเสื่อมสภาพและเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
สายเคเบิลที่ไม่ได้มาตรฐานนี้ถูกนำเข้าจากประเทศจีนโดยบริษัท Infinity Cable Co. โดยมีนาง Lu Luo ผู้มีฉายา “Cable Girl” เป็นเจ้าของและกรรมการผู้จัดการ โดยมีนาย Sam Jedari สามีของเธอเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ขณะนี้นาง Luo กำลังเผชิญการถูกตั้งข้อหาทางอาญาร้ายแรง ในขณะที่บริษัทของเธอได้จดทะเบียนล้มละลายไปเรียบร้อยแล้ว
ผู้ที่ต้องรับเคราะห์แทนคือผู้รับจัดจำหน่ายสายเคเบิลยี่ห้อ Olsent และ Infinity จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระจ่ายค่าเรียกคืนสินค้า และต้นทุนสินค้าที่ลงทุนไป
เป็นที่เชื่อว่าห้างขายฮาร์ดแวร์ในเครือของห้าง Woolworths ได้คงคลังสินค้าสายเคเบิลจากบริษัท Infinity มากกว่ารายอื่น ๆ ในมูลค่า 35 ล้านเหรียญ โดยได้จำหน่ายไปแล้วประมาณ 40% ที่จะต้องเรียกคืนจากลูกค้า
เคเบิลส่วนใหญ่เป็นการซื้อผ่านห้าง Master Home Improvement กิจการร่วมทุนระหว่างห้าง Woolworths กับห้าง Lowe’s จากสหรัฐ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีรายงานผลการดำเนินงานปี 2013-14 ออกมาขาดทุน 176 ล้านเหรียญ สูงกว่าปีก่อนหน้านั้นที่ขาดทุน 156 ล้านเหรียญ อันเนื่องมาจากไม่สามารถแข่งขันกับ Bunnings ผู้ครองตลาดฮาร์ดแวร์เดิมได้ และห้าง Bunnings ก็โชคดีที่ไม่ได้จำหน่ายสายเคเบิลจากบริษัท Infinity อีกด้วย
นอกจากนั้นห้าง Trifty-Link Hardware และห้าง Home Timber & Hardware ซึ่งห้าง Woolworths เป็นเจ้าของ และห้าง Mitre 10 ซึ่งมี Metcash เป็นเจ้าของก็เป็นผู้ขายสายเคเบิลจากบริษัท Infinity เช่นกัน
โดยรวมทั้งหมดแล้วร้านฮาร์ดแวร์ได้ขายสายเคเบิล 85% จากทั้งหมด ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นช่างไฟฟ้า ส่วนอีก 25% ขายโดยผู้ขายส่งสินค้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยการวางขายเกิดขึ้นในรัฐน.ซ.ว.ในระหว่างปี 2010 ถึง 2013
สายเคเบิลส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้งานต่าง ๆ ตั้งแต่สายไฟฟ้าตามบ้านไปจนถึงใช้งานด้านการคมนาคม สายเคเบิลและสายไฟฟ้าที่ติดตั้งตามบ้านเรือนในออสเตรเลียอยู่ภายใต้มาตรฐานทั่วไปคือจะมีอายุใช้งานเป็นเวลา 40 ปี แต่สายไฟฟ้าที่นาง Luo นำเข้าจากประเทศจีนจะมีอายุใช้งานเพียง 5 ปีหรือแค่ปี 2016 จากนั้นฉนวนห่อหุ้มสายไฟจะเริ่มเสื่อมสภาพ ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดเพลิงไหม้ได้
เมื่อครั้งที่สายเคเบิลจากบริษัท Infinity มาเสนอขายให้กับบริษัทในเครือขายสินค้าฮาร์ทแวร์ นาง Luo ได้มีใบรับรองว่าเป็นสินค้าที่ต้องตามมาตรฐานออสเตรเลีย แต่จากการตรวจสอบโดยสำนักงานเพื่อความยุติธรรมทางการค้าแห่งรัฐน.ซ.ว. (NFT) ในเวลาต่อมาพบว่ามันไม่ได้มาตรฐานตามที่เอ่ยอ้าง และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสูง
นาง Delia Rickard รองประธานคณะกรรมการการแข่งขันเพื่อการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ ACCC กล่าวว่า เมื่อแรกเริ่มคณะทำงานเฉพาะกิจประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนสินค้า 80 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอมองว่าเป็นตัวเลขในเชิงอนุรักษ์นิยมเกินไป อีกทั้งมันได้นำไปสู่การเรียกสินค้าคืนทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีคณะทำงานเฉพาะกิจจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานดูแลด้านกฎระเบียบจำนวนทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งที่ใหญ่ที่สุด
สำหรับนาง Luo จะเผชิญกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพรบ.การไฟฟ้า (ว่าด้วยความปลอดภัยของผู้บริโภค) ปี 2004
หมายเหตุ อ่านข่าวเกี่ยวเนื่องวันที่ 27 พ.ย. 2014 คลิกที่นี่ “พบสายเคเบิลนำเข้าจากจีน ทำความเสียหายกว่าที่คิด 2 เท่า“
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply