เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒

433 tamjai-01ข

เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒

เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒ ในไทย-ออสนิวส์ ฉบับ ๕๕๓

เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒ ในไทย-ออสนิวส์ ฉบับ ๕๕๓

สวัสดีครับ ‘เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒’ เป็นบทความลำดับที่ ๕๓๓ ของไม้ซีกขีด เขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๓๓ วันที่ ๒ ถึง ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๐ (ค.ศ. ๒๕๕๓) อันที่จริงบทความนี้มีแผนจะโพสต์ลงจิงโจ้นิวส์ตอนกลางเดือนกรกฎาคม แต่ติดที่ต้องพิมพ์ใหม่จากต้นฉบับทั้งหมด เลยทำให้ต้องล่าช้า จึงขออภัยมา ณ ที่นี้   อย่างไรก็ตาม โพสต์ช้าดีกว่าไม่ได้โพสต์ และผมได้พยายามหารูปภาพอย่างเดียวกับต้นฉบับมาลง ณ ที่นี้  และจะตามด้วย ‘เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๓’ ในเร็ว ๆ นี้ครับ

เรียม เพศยนาวิน นางสาวสยามปี ๒๔๘๒ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น

เรียม เพศยนาวิน นางสาวสยามปี ๒๔๘๒ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “เรียมรมณ์”

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ.ในฉบับที่แล้วผมได้เล่าถึงวิวัฒนาการของการกำเนิดชื่อและนามสกุลมีท่านผู้อ่านส่งอีเมลมาติชมว่า… “เข้าท่าดีนะ! แต่น่าเสียดายที่เป็นเรื่องสมมุติ”   ผมขออนุญาตอธิบายสักนิดว่า อันที่จริงผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนเสียทีเดียว แต่เป็นทฤษฎีตั้งชื่อของฝรั่งเขา   ผมได้แนวคิดนี้มาตอนขโมยหนังสือเด็กอ่าน   คือหนังสืออ่านเสริมชั้นประถมของลูกเพื่อน เขาวางเอาไว้ ผมเห็นน่าสนใจดีก็เลยหยิบมาอ่าน

อ่านมันจนจบเล่ม แม้ได้อ่านเมื่อสามสีปีมาแล้ว แต่ยังจำเค้าโครงเรื่องได้ จำชื่อ “John” “David” “Marry” และคำอธิบายของการวิวัฒนการกำเนิดชื่อได้ดี     ผมเอาความรู้นั้นมา   ประกอบกับค้นตำราเพิ่มเติมจากห้องสมุด จากหนังสือรอบบ้านและอินเทอร์เน็ต จนทำให้เขียนเป็นเรื่องราวดังในฉบับที่แล้วครับ   แต่ที่บอกไว้ในตอนที่แล้วว่า “เป็นการนั่งเทียนเขียน และอย่าถือจริงจัง” นั้นก็เพราะมันเป็นข้อสมติฐานของนักประวัติศาสตร์ถึงเหตุการณ์เมื่อหลายพันกว่าปีก่อนที่ไม่มีใครทราบว่าถูกหรือผิดครับ

ในตอนที่ ๒   ผมจะขอนำเสนอ การตั้งชื่อที่เกิดขึ้นในสยาม อันเป็นตอนต่อจากฉบับที่แล้วเลยนะครับ

 @@@@

เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “พลอย”

ในประเทศสยามนามสกุลเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการศึกษามาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งฉบับที่แล้วผมได้กล่าวไว่ว่า มีการใช้นามสกุลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๑๙๑๘ (ค.ศ. ๑๓๗๕) หรือก่อนสยาม ๕๓๘ ปีครับ

บุคคลแรกของสยามที่ได้รับพระราชทานนามสกุลคือเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “สุขุม” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๖ รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชหัตเลขาในช่องหมายเหตุว่า “เขียนเอง (สกุลตั้งใหม่)” ข้อมูลนี้ผมคัดลอกมาจากต้นฉบับจริงที่เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชคดีผมยังเก็บสมุดบันทึกเล่มนี้ไว้และนำติดตัวมาด้วย

แต่เมื่อดูนามเดิมของเจ้าพระยายมราชที่บิดามารดาตั้งให้ท่านเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า “ชั้น” และสกุลที่ได้รับพระราชทานอันดับที่ ๒ ถึง ๑๐ มีดังนี้คือ ๒. มาลากุล ณ กรุงเทพ (ภายหลังเป็นมาลากุล ณ อยุธยา) ๓. พึ่งบุญ ๔. ณ มหาไชย ๕.ไกรฤกษ์ ๖. กัลยาณมิตร ๗.สิงหเสนี ๘.อัศวรักษ์ ๙. พัลลภ และ ๑๐. โกมารภัจ

เมื่อดูนามที่บิดามารดาตั้งให้แก่ผู้ขอพระราชทานนามสกุลเหล่านี้เรียงตามลำดับดังนี้ ๒. เปีย กับ ปุ้ม ๓. เพื้อ ๔. สาย ๕. นพ กับ ลออ   ๖. เชย ๗. ชวน ๘. เทียบ ๙. ช่วง และ ๑๐. เล็ก

คราวนี้ผมจะขออนุญาตนำชื่อที่บิดามารดาตั้งให้แก่ผู้ขอพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ ๖ ในอันดับที่ ๑๑ ถึง ๑๐๐ จากจำนวน ๖,๔๓๒ ชื่อสกุล แยกเป็นชื่อพยางค์เดียว (ไม่นับชื่อซ้ำ) มีดังนี้   กิ่ง   เข่ง จ่าง จิ๋ว จือ เจ็ก เจน เจิม เจียม ชม ชื่น ชุ่ม แช่ม เชื้อ โชติ ดี ตี๋ โต ถั่ว เถา ทอง ทั่ง ทิม น้อย นุด เนียร บัว บุญ ปาน แปลก เปลี่ยน ผ่าน เผื่อน พร พ่วง พิน พิมพ์ พุ่ม เพ่ง เพิ่ม มูล เยื่อ ลพ ลัด แล่ง เลิศ เลียบ วอน เวก เวช ศุข สอน สิน สัน สาตร์ สุ่น   โสม หงส์   หรั่ง   หวัง หรุ่น หลุย เหลง แหยม อ๊อต อยู่ อุ่น

ชื่อสองพยางค์มี กมล กุหลาบ จันทร แฉล้ม ทองดี สมบุญ สวัสดิ์ สอาด สุดใจ อรุณ อินทอง บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕ หรือมีอายุไม่เกิน ๖๐ ปี ขณะได้รับพระราชทานนามสกุล   ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และหรือมาจากตระกูลขุนนางหรือมีเชื้อสายราชนิกุล ชื่อของท่านเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังเป็นคำไทยแท้โดด ๆ

พัชราภา ไชยเชื้อ ผู้มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

พัชราภา ไชยเชื้อ ผู้มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “อั้ม”

ในสมัยนั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็ยังตั้งชื่อบุตรง่าย ๆ แต่ก็มีการตั้งชื่อยาวแบบลูกเจ้ากันแล้ว   ผู้ไม่เห็นด้วยก็จะเหน็บว่า “ตีเสมอเจ้า” อย่างใน “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมชเขียนไว้ในภาค “แผ่นดินที่ ๑” (รัชกาลที่ ๕) ว่า “……ลูก ๆ ทุกคน   เจ้าคุณพ่อท่านเป็นคนตั้งชื่อ และตั้งชื่อง่าย ๆ  พยางค์เดียวทุกคน   พลอยเคยได้ยินเจ้าคุณพ่อหัวเราะเยาะเพื่อนฝูงขุนนางบางคนที่ตั้งชื่อลูกยาว ๆ ว่าทำเทียบเจ้าเทียบนาย จัญไรจะกิน อย่างบ้านพระยาพิพัฒน์ใกล้ ๆ กัน ตั้งชื่อลูกคล้องจองกันเป็นจังหวะว่า เพ็ญพิสมัย ใสสุคนธรส สดสำราญจิตต์ สนิทเสน่หา   เจ้าคุณพ่อท่านเคยเอามาร้องให้แม่ฟังเป็นจังหวะ แล้วบอกว่าดังเหมือนเพลงแขกเจ้าเซน”

ม.ร.ว.คึกฤทธิท่านคงเเขียนเสียดสีกับผู้ที่ตีเสมอเจ้า เอาอย่างสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงปรีชาในหลายภาษารวมถึงบาลี จึงทรงตั้งพระนามของพระโอรสและธิดาให้คล้องจองกัน อย่างเช่น “มเหศวร วรศิววิลาศ, วิษณุนาถนิภาธร, สมรรัตน์สิริเชษฐ์, นเรศวรฤทธิ์ , พิชิตปรีชากร , อดิศรอุดมเดช, ภูธเรศธำรงศักดิ์ ,ประจักษ์ศิลปาคม , พรหมวรานุรักษ์ , ราชศักดิ์สโมสร , ทิวากรวงศ์ประวัติ” ไงละครับ

@@@@

 ต่อมาในยุคประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ชาวชนบทส่วนใหญ่ยังคงมีชื่อพยางเดียว   แต่คนเมือง   เริ่มเปลี่ยนแปลงมามีชื่อมากกว่าหนึ่งพยางค์ ผมขอยกตัวอย่างรายชื่อของผู้ร่วมก่อการในนามคณะราษฎร ๙๒ ท่าน   ที่บิดามารดาตั้งชื่อให้ (ไม่นับชื่อซ้ำ) ดังนี้

กรี กลาง กลิ่น กลึง ควง ค้วน จิบ เจือ ช่วง ชั้น ชุณห์ ชุบ แช่ม เชย ไชย ซิม ตั้ว ทวน ทิพย์ เท้ง เทพ เที่ยง เทียน น้อม แนบ บัตร บุง ปลด แปลก ผ่อง ผัน พจน์ พาน ยง ยล ยิน เล้ง วัน  เศียร สอน สินธุ์ หงวน เอก

สองพยางค์ขึ้นไปมี กระจ่าง การิม กุหลาบ จรูญ เจริญ จำนง จำรัส จำรูญ จิตตะเสน เฉลียว ชลิต ชลี ชะลอ ดิเรก ถวัลย์ ทวี ทองดี ทองเปลว ทองเย็น ทองหล่อ ทัศนัย บรรจง บุญเรือง ประจวบ ประยูร ประเสริฐ ปราโมท ปรีดี เผดิม มังกร วนิช วิเชียร วิลาส วิมล ศิริ สงบ สงวน สพรั่ง สมาน สละ สวัสดิ์ สเหวก สังวรณ์ สุรินทร์ อุดม อุทัย

บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากตระกูลมีอันกิน ที่เป็นนักเรียนนอก และนายทหารทั้งสิ้น   จะสังเกตเห็นว่าคนหนุ่มในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มมีชื่อสองพยางค์เพิ่มขึ้น

@@@@

พิจิตรา สิริเวชชะพันธ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

พิจิตรา สิริเวชชะพันธ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “เจี๊ยบ” เพื่อนออสซี่ของผมรู้จักเธอในฐานะหลานสาวคุณบุญผ่อง วีระบุรุษจากสงครามโลกครั้งที่ ๒

ต่อมาในยุครัฐนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม     รัฐบาลเห็นว่าคนไทยมักนิยมมีชื่อยาวขึ้น แต่ตั้งชื่อกันไม่แบ่งเพศ เหมือนอย่างฝรั่ง ถ้าชื่อ จอห์น ปีเตอร์ เดวิด จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นชื่อผู้ชาย   ถ้าชื่อแมรี หรือวิกตอเรียก็ต้องเป็นผู้หญิง   แต่คนไทยในตอนนั้นถ้าชื่อ ประนอม นันทวัน พิศมัย รัตนา ศรีสมร จะไม่ทราบว่าเจ้าของชื่อเป็นของผู้ชายหรือผู้หญิง

ดังนั้นรัฐบาลจึงกำหนดชื่อบุคคลเสียใหม่ ช่วงนั้นน่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) โดยเริ่มบังคับกับข้าราชการทหาร ไปจนข้าราชการพลเรือนเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับเพศ   ชื่อผู้ชายต้องมีความหมายอย่างชาย ให้ดูเข้มแข็ง บึกบึน   ผู้หญิงต้องมีความหมายอย่างผู้หญิง ให้ดูอ่อนช้อยงดงาม

เป็นต้นว่านายร้อยคนหนึ่งบิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “สมศรี”   ก็เปลี่ยนเป็น “สมชาย” เป็นตัน (อันนี้ผมสมมุติเองความจริงมีตัวอย่างชื่อนายทหารเยอะ..แต่ไม่มีเวลาค้นครับ)       นักหนังสือพิมพ์อาวุโสนายหนึ่งชื่อนาย “ประหยัดศรี”   ก็เปลี่ยนใหม่เป็นนาย “ประหยัด ศ.” เป็นต้น (อันนี้ของจริงนะครับ)

สุภาพสตรีคนหนึ่งชื่อ “สมัย” ก็ต้องเปลี่ยนให้ดูเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นใหม่ว่า “สมัยสวาท” หรืออย่างนางสาวไทยปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ที่มีชื่อว่า “เรียม เพศยนาวิน” ท่านผู้นี้ถูกระบุไว้ในหัสนิยายพล นิกร กิมหงวดด้วย ก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เรียมรมย์”   ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็นรานีแห่งรัฐปะลิสครับ

ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “แตงโม”

ท่านจอมพลถึงขนาดมีหนังสือแนะนำให้ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระมาตุจฉาเจ้าในรัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนพระนามเสียใหม่   เพราะพระนามของพระองค์ฟังดูเป็นเพศชาย     สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า    ทรงตรัสตอบกลับไปว่า ” ชื่อของฉัน ทูลกระหม่อม พระราชทานให้ ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”   คำว่า “ทูลกระหม่อม” นั้นหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกของพระองค์

เรื่องการจาบจ้วงสถาบันฯนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้   แต่เกิดขึ้นมาครั้งแรกในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ ๒๔๗๕     ในครั้งนั้นสมาชิกคณะราษฎร์ส่วนใหญ่เห็นสมควรที่จะกระทำการขอขมาต่อในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพราะได้กระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นหลายประการในช่วงก่อการฯบางเรื่องเลวร้ายอย่าง ยิ่งและมิได้เปิดเผยสู่สาธารณชน   แต่ก็มีสมาชิกผู้ก่อการส่วนหนึ่งไม่เข้าขอขมา   แนวความคิดไม่เอาเจ้ายังอยู่ในใจของคนกลุ่มนี้ครับ

ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเกิดมีชื่อ “สมชาย” กลายเป็นชื่อสุดฮิตของชายชาวไทย นับแต่นั้นมา   และเป็นการจบยุคของผู้ชายที่ชื่อ สมจิตร สมใจ สมฤทัย สมถวิล สมชนก และสมประสงค์ ไปตามระเบียบ

ส่วนตัวท่านผู้นำเองก็ได้เปลี่ยนจากจอมพลแปลก ขีตตะสังคะมาเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แม้กระทั่งนาย “กิมหงวน ไทยเทียม” ตัวละครเอกในหัสนิยายสามเกลอของคุณป. อินทรปาลิต   ก็ยังตามกระแสเปลี่ยนชื่อมาเป็นนาย “สงวน ไทยแท้” กับเขาด้วยครับ

วรนุช วงษ์สวรรค์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

วรนุช วงษ์สวรรค์ มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “นุ่น”

เมื่อดูรายชื่อยอดนิยมของคนในสมัยยุคหลังปี ๒๔๘๔ ถึง ๒๕๑๐ มีดังนี้   กมล โกวิท โกศล จินดา จรูญ จำกัด ชาญชัย ชาติชาย ชำนาญ ฉลอง เฉลิม เฉลิมชัย ณรงค์ เดชา ไตรรงค์ ถนอม ทวี เทอดศักดิ์ ธานินทร์ ธีรยุทธ นพดล นพพร นิรันดร บรรหาร บัณฑิต บุญฤทธิ์ บุญส่ง ประกอบ ประจวบ ประชา ประชุม ประยูร   ประสงค์ ประสิทธิ์   ประเสริฐ ปราโมทย์ ปรีชา ปิติ พจน์ พิชัย พิสุทธิ์ ไพโรจน์ ไพศาล มนตรี มนูญ มานะ มีชัย รังสรรค์ วัฒนา วิชัย วิรัตน์ วีระ สงวน   สนั่น สนิท สมชาย สมภพ สมศักดิ์ สมาน สวัสดิ์ สัญญา สันติ สัมฤทธิ์ สุธี สุนทร สุพัตร์   เสนาะ อมร อวยชัย อานันท์ อาสา อำนวย อุทัย เอนก ฯลฯ

ชื่อสุภาพสตรีเช่น กนกพร กรองทอง จินตนา ชวลี ชูศรี ประทีป ประไพ ปวีณา ปราณี พจมาน มะลิ ราตรี เรณู ลัดดา วิภา สมจิต สมศรี สายสมร สำอาง สีดา สุพัตรา สุนิสา สุมาลี เสงี่ยม เสาวนีย์ อนงค์ อัมพร   และอื่น ๆ อีกมากมาย

ชื่อของคนไทยในช่วงดังกล่าว   ดูแล้วมีความเป็นไทย มีวัฒนธรรม และให้ความหมายที่เข้าใจง่าย โดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม

 @@@@

 ในช่วงกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมาคือหลังจากปีพ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ.๑๙๕๗) พ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ในยุคนี้เริ่มคิดค้นชื่อเก๋ ๆ ให้บุตรหลานของตนโดยไม่ซ้ำของเดิม     จนมีบางรายคิดเลยเถิด   บ้างก็อุตริใช้คำพิศดาร   บ้างก็ตั้งชื่อยาวเฟื้อยเป็นกลอนสี่สุภาพ ทำให้ในปี ๒๕๐๕ รัฐบาลจึงตราพระราชบัญญัติให้ผู้ถือสัญชาติไทย ต้องมีชื่อตัว ชื่อสกุล ที่มีพยัญชนะไม่เกินกว่า สิบพยัญชนะ และต้องมีความหมายไม่หยาบคาย   เพื่อตีกรอบให้นักประดิษฐชื่ออยู่ภายในเงื่อนไขที่กำหนด

ในช่วงนี้ชื่ออย่าง “สมชาย” เริ่มหายไป แต่อย่างไรก็ตามชื่อสมชายยังเป็นชื่อที่มีผู้ใช้สูงสุดของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน   จากการสำรวจรายนามผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์ในปี ๒๕๕๐ พบว่ามีชื่อ “สมชาย” ถึง ๒๔,๙๓๗ รายชื่อ   ผู้ที่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกันสูงสุดจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ก็คือ “สมชาย แซ่ตั้ง” มีถึง ๔๗๒ คน   อันดังสองคือ “สมชาย แซ่ลิ้ม” มี ๔๒๖ คน   อันดับสาม “สมศักด์ แซ่ตั้ง”   ๓๓๒ คน และอันดับที่สี่ “สมชาย แซ่ลี้” ๓๐๓ คนครับ

อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อให้บุตรหลาน ที่ออกมาในช่วงพ.ศ. ๒๕๑๐ ถึง ๒๕๓๐ (ค.ศ.๑๙๖๗ ถึง ๑๙๘๗) ยังดูเก๋ภายในกรอบของชื่อภาษาไทย   ผู้ได้ยินได้ฟังจะทราบความหมายของชื่อทันที

อภิญญา สกุลเจริญสุข มีชื่อไทย ๆ เล่นว่า

อภิญญา สกุลเจริญสุข มีชื่อไทย ๆ เล่นว่า “สายป่าน”

หลังจากปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   ไปพร้อมกับความเจริญทางวัตถุ   บ้านเรือนแทบทุกหลังมีโทรทัศน์     ค่านิยมการตั้งชื่อ ลูกหลานผิดไปจากเดิมอีกขั้น   คนไทยหันมานิยมใช้ชื่อเล่นเป็นภาษาต่างประเทศ   โดยเฉพาะในภาคอีสานที่นิยมตั้งชื่อของบุตรหลาน เป็นภาษาอังกฤษ

ผมค้นชื่อจากอินเทอร์เน็ตพบว่า   คนอีสานในอดีตนิยมตั้งชื่อหนึ่งหรือสองพยางค์   ส่วนใหญ่มีชื่อจริงกับชื่อเล่นเป็นชื่อเดียวกัน ชื่อยอดนิยมของคนอีสานในอดีตคือ บุญ บุญมา บุญสี บุญตา บุญหลาย บุญเหลือ บุญล้น   คำ  คำมี คำมา คำสี คำสา ทอง ทองคำ ทองแดง ทองสา อ่อน อ่อนทา อ่อนสี อ่อนสา และอ่อนตา ฯลฯ   ชื่อเล่นที่ต่างจากชื่อจริงก็มีเช่น ไอ้หำ ไอ้ทุย อีรวง อีกลอย เป็นต้น

เขียนถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงเพลง “คุณนายโรงแรม” ขับร้องโดยระพิน ภูไทท่อนหนึ่งว่า “ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่าอีกลอย   มาอยู่กรุงเทพฯมีผัวนายร้อย   เปลี่ยนจากกลอยมาเป็นแรมจันทร์….” เพลงนี้เกิดขึ้นในราวปีพ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๖ (๑๙๗๒ – ๑๙๗๓) สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนชื่อเพื่อต้องการให้ดูอย่างชาวกรุงเพิ่มขึ้น

อารยา เอ ฮาร์เก็ต มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

อารยา เอ ฮาร์เก็ต มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “ชมพู่”

แต่คนอีสานยุคการสื่อสารไร้พรมแดน   ล้ำสมัยกว่าทุก ๆ ภาค เมินความเป็นกรุง มุ่งอินเตอร์ฯเลย ชื่อเล่นลูกหลานจาก “อีกลอย”   ก็กลายเป็น น้องเชอรี่ น้องแอน น้องพอลล่าร์   น้องไอซ์   น้องเบสท์ น้องบอส   น้องมายด์ น้องเฟิร์น น้องเอมี่   น้องครีม น้องมิ้นท์ น้องคริสตี้ น้องคาร่า น้องเคท   น้องซาร่า น้องนาเดีย น้องริต้า น้องลาล่า น้องลิลลี่ และน้องลูลู่ ฯลฯ  ชื่อเหล่านี้ก็คงตั้งชื่อตามดารา นักร้องที่พี่น้องชาวอีสานดูมาจากทีวีนั่นเอง

อันที่จริงชื่อเล่นไทยเก๋ ๆ ที่ยังไม่เชย   และยังเป็นที่นิยมในยุคเดียวกันอย่างเช่น   น้องฟ้า น้องปลายฟ้า น้องดาว น้องทอรุ้ง น้องทัดดาว น้องพลอย น้องพลอยชมพู น้องทราย น้องเพชร น้องหยก   น้องต่อ น้องต้น น้องต้นน้ำ น้องปลายฝน น้องน้ำฝน น้องฝน น้องรุ้ง น้องหยาด

น้องหนึ่ง น้องเป็นหนึ่ง น้องเป็นเอก น้องยอด น้องยอดฟ้า น้องใหญ่ น้องเล็ก น้องก้อย น้องลูกแก้ว น้องปาง น้องใหม่ น้องเอื้อย น้องใบเตย น้องตอง น้องใบตอง น้องเตย น้องข้าวฟ่าง น้องปอ น้องปุยฟ้าย น้องอ้อ ขวัญข้าว ผักหวาน น้องขิง   น้องแตงกวา น้องผักกาด น้องไผ่หวาน น้องวุ้นเส้น

น้องชมพู่     น้องส้ม น้องส้มจี๊ด น้องส้มโอ น้องน้อยหน่า น้องมะปราง น้องมะนาว น้องแตงโม น้องผลับ น้องม่าเหมี่ยว น้องสาลี่ น้องลูกเกด น้ององุ่น น้องอ้อย น้องบัว น้องบัวชมพู   น้องชมพู น้องสีน้ำ น้องสีรุ้ง น้องไผ่ น้องว่าน   น้องสายป่าน น้องนุ่น น้องฝ้าย น้องมัดหมี่ น้องแพร น้องปิ่น น้องแหวน น้องขวัญ

น้องลีซอ น้องแม้ว น้องม้ง น้องแป้ง น้องผิง น้องหวาน น้องเปรี้ยว น้องเปรี้ยวหวาน   น้องปุ๊กลุก น้องปุ่น น้องปุ้ม น้องปุ้มปุ้ย น้องปุ๋ย น้องยุ้ย น้องยู่ยี่ น้องโยโย่ น้องหนุงหนิง น้องอ้อน น้องอ้อแอ้ น้องอ๋อย น้องอ้อม น้องอั้ม น้องแอ้ม   น้องตั๊ก น้องติ๊ก น้องตุ๊ก น้องปุ๊ก น้องบุ๋ม น้องบู้   น้องบี้ น้องเก๋ น้องสวย น้องแวว น้องอาย น้องอุ น้องอุ๋งอิ๋ง น้องอุ๊บอิ๊บ น้องอุ้ม น้องอุ้ย น้องเอย   น้องเอ๋ะเอ๋ น้องเอ่เอ๊ น้องเอิ๊ก น้องแอ้ น้องแอ๋ม น้องโอ๋ น้องโอ๋เอ๋

น้องกบ น้องกวาง น้องเจี๊ยบ น้องไก่ น้องตั๊กแตน น้องนก น้องปลา น้องปิง น้องผึ้ง น้องลูกหมี   น้องลูกน้ำ น้องเสือ น้องกระแต   น้องจั๊กจั่น น้องจิงโจ้ น้องโจ้ น้องหงส์ น้องหมู น้องหนู น้องอูฐ น้องมด น้องปู น้องปูนิ่ม น้องแมว น้องเหมียว น้องแคน น้องน้ำปิง   น้องน้ำวัง น้องน้ำยม น้องน้ำน่าน น้องน้ำใส   น้องแกงส้ม น้องแกงเรียง น้องข้าวแกง น้องไข่เจียว น้องบะหมี่ น้องผัดไทย น้องหมูแดง น้องหมูหวาน น้องน้ำขิง น้องน้ำแข็งใส น้องน้ำปั่น น้องหวานเย็น น้องน้ำผึ้ง น้องไอติม

อคัมย์สิริ สุวรรณศุข มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า

อคัมย์สิริ สุวรรณศุข มีชื่อเล่นไทย ๆ ว่า “จั๊กจั่น”

น้องจ๋า น้องจ๊ะจ๋า น้องจ๋าจ้า น้องนานา   น้องมะมา น้องจิตใส น้องใจบุญ น้องโชคดี น้องนะโม น้องหนูดี น้องพอดี น้องพอใจ น้องภูมิใจ น้องยินดี น้องร่าเริง น้องเบิกบาน น้องอบอุ่น น้องอิ่มอุ่น น้องยิ้ม น้องปลื้ม น้องเปรม น้องเอื้อ น้องไออุ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ส่วนชื่อเล่นไทยที่ควรละเว้นไว้ไม่ควรตั้งถ้าคิดว่าในอนาคตบุตรหลานจะต้องเดินทางไปต่างประเทศก็คือ น้องพริก น้องพร และน้องฟัก   เพราะมันแสลงหูคนต่างชาติครับ

ผมมีภาพคนบันเทิงที่มีชื่อเล่นแบบไทย ๆ มาลงให้ดู เพื่อบอกให้ทราบว่าคนมีชื่อเล่นแบบไทย ๆ ก็ยังเก๋และทันสมัยได้นะครับ

ในปัจจุบันกระแสการตั้งชื่อดูผิดเพี้ยนไปจากเดิม     ความนิยมมีชื่อเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใครทำให้เกิดธุรกิจรับบริการตั้งชื่อควบคู่กับการผูกดวง     เมื่อหาชื่อไทยเก๋ ๆ ไม่ได้ ก็ไปงัดเอาชื่ออินเดียโบราณและภาษาตายแล้วมาตั้งให้   ดังจะเห็นจากการขุดเอาพยัญชนะ ฆ ฐ ฎ ฏ ฬ ขึ้นมาใช้   แถมบางชื่อไม่มีคำแปล     และใช้ “การันต์” ผิดที่ผิดทาง ซึ่งก็ขอให้เป็นเพียงแค่ความวิปริตทางภาษาเท่านั้นนะ…..ครับ

หมายเหตุ

อ่านชื่อตอน ๑ คลิกที่นี่  เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ
อ่านชื่อตอน ๓ คลิกที่นี่ เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน.. จบ (แล้ว)


Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , ,

1 reply

Trackbacks

  1. เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” | jingjonews

Leave a Reply

%d bloggers like this: