บทความนี้ เป็นตอนที่ ๕๓๒ ของไม้ซีกขีดเขียนลงหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๓๒ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ถึง มิถุนายน ๒๐๑๐ แรกทีจิงโจ้นิวส์ตั้งใจจะเลือกนำมาลงในเวลาใกล้เคียงกับบทความ “ชื่อเด็กชายยอดนิยมของคนออสซี่” และบทความ “ชื่อเด็กหญิงยอดนิยมของคนออสซี่” ที่ได้ลงไปแล้วในวันที่ ๒๖ มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ต้องล่าช้าเพราะต้องพิมพ์ใหม่ทั้งหมดจากต้นฉบับ ทำให้เป็นอุปสรรค ผนวกกับฟุตบอลโลก เทนนิสวิมเบิลดัน และความขยันที่ยังไม่อำนวย
ในเนื้อหาไม้ซีกเขียนไว้ว่า “ต่อไปนี้เป็นการนั่งเทียนเขียนทฤษฎีวิวัฒนาการของชื่อ” อันที่จริงไม่ได้นั่งเทียนอย่างที่อ้าง แต่นำมาจากตำราวิวัฒนการของมนุษย์จากห้องสมุดและหนังสือเรียนของเด็กประถม นำมาร้อยเรียงด้วยภาษาที่ง่ายขึ้น แล้วผนวกเข้ากับการตั้งชื่อของเผ่าไท จากตำราฝ่ายไทย แล้วเติมข้อสมมุติฐานส่วนตัวเข้าไป ท่าจะนั่งเทียนเขียนก็น่าจะมาจากส่วนหลังนี่แหละ
บทความ “เรื่องนี้เรียกว่า ชื่อ” แบ่งออกสามตอนใหญ่ พร้อมกับความแปลกใหม่ ด้วยการเสนอภาพสตรีหน้าตาสะสวยให้ท่านผู้อ่านดูเพลินตา ตอนแรกเป็นสตรีทางตะวันตก ตอนที่สองเป็นภาพดาราสาวฝ่ายไทย และตอนที่สามเป็นดาราภาพยนตร์จากประเทศจีน เหตุผลที่อยู่เบื้อหลังก็มาจากคำวิจารณ์จากผู้อ่านไทย-ออสนิวส์ที่ว่า คอลัมน์ตามใจฉันของไม้ซีกขีด มีแต่ภาพวัตถุโบราณ ภาพคนก็เป็นสมัยสีขาวดำ ในตอนที่ ๕๓๒ ถึง ๕๓๔ ไม้ซีกขีดเลยจัดแบบเต็ม ๆ ให้ครับ
@@@@
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก.. ฉบับนี้ผมขออนุญาตปล่อยความคิดกระเจิดกระเจิงไปกับหัวข้อที่มีชื่อว่า “ชื่อ” ครับ
ชื่อ คือคำที่ตั้งขึ้นมาสำหรับเรียกคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ โดยทั่ว ๆ ไปหรือโดยเฉพาะเจาะจงก็ได้ การเรียกชื่อ ก็น่าจะเกิดมาพร้อมกับการเกิดมนุษย์ คืออาจจะเริ่มจากเสียงเอะ ๆ แอะ ๆ ในยุคหิน แล้วผ่านกระบวนการพัฒนาตามแต่ละสังคมเรื่อยมา
“แต่ก่อนนานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเมืองก็ยังไม่มี”.…ข้อความนี้ผมพอจำเลือน ๆ อยู่ในแบบเรียนให้นักเรียนประถมรุ่นประมาณห้าสิบปีก่อน อ่านกันแบบนกแก้วนกขุนทอง… แต่ก็แปลก ผมว่าหลักสูตรของเขาได้ผลนะ ….ข้อความนี้อาจสอดคล้องกับข้อศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ประเมินว่าบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่เกิดขึ้นบนพื้นโลกเมื่อ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านปีที่ผ่านมา แล้วบรรพบุรุษของมวลมนุษย์โลกเริ่มมีการพัฒนาทางสมอง แยกแยะเหตุผลเชิงนามธรรม มีความคิดคำนึง สามารถแก้ปัญหา และพัฒนาภาษาพูดเพื่อใช้ในการสื่อสารแบบภาษาง่าย ๆ
มนุษย์โบราณอยู่กันอย่างกระจัดกระจายจนกระทั่งเมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ด้วยเหตุผลทางความอยู่รอด ช่วยกันปกป้องภัยอันตราย และทำมาหากิน เกิดการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์
แล้วเมื่อ ๖,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา จึงเกิดพัฒนาเป็นรัฐตามส่วนต่าง ๆ ของโลก มีการปกครองและมีการจัดกำลังทหาร ในช่วงใกล้เคียงกันบนแผ่นดินสุวรรณภูมิของเราได้เกิดอารยธรรมเช่นกัน ที่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดคือที่้บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีเกิดขึ้นเมื่อ ๕,๖๐๐ ปีมาแล้ว
เรื่องของบ้านเชียง ถือเป็นความภาคภูมิใจน้อย ๆ ของผม เพราะเมื่อสมัยเป็นนิสิต ผมเป็นคนวางแผนไปทัวร์ที่นั่น ได้ไปสถานที่นี้ก่อนที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตอนนั้นแม้แต่เพื่อนที่อยู่อุดรก็ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเมืองของเขามีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกนี้อยู่ด้วย
ท่องเที่ยวครั้งนั้นพวกเราผองเพื่อนนั่งรถไปตามทางสายเปลี่ยว ได้เจอพวกคอมมิวนิสต์ถือปืนกลยืนจังก้าอยู่บนโขดหินข้างทาง สมัยนั้นอีสานยังเป็นพื้นที่สีชมพู แต่พวกเขาไม่ทำอะไรเพราะเห็นว่า เราเป็นชาวบ้านไม่ใช่ศัตรูของพวกเขานั่นเอง
๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาจึงเริ่มพบหลักฐานว่า มีการทำสงครามระหว่างรัฐเกิดขึ้นทั้งในเปอร์เซีย, อินเดีย, จีน, โรม และกรีซ ซึ่งเป็นรัฐแรก ๆ ที่ใช้กำลังทหารรุกรานเพื่อนบ้านเพื่อขยายอาณาจักร
การพัฒนาภาษาพูดจาก แอะ ๆ อะ ๆ เมื่อ ๒๐๐,๐๐๐ ปีก่อนน่าจะถูกพัฒนาร้อยเรียงมาเป็นภาษาพูดที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ระดับการพัฒนาภาษามีความแตกต่างกันในแต่ละชุมชน แม้ในโลกปัจจุบันภาษาบนโลกมนุษย์บางภาษาได้พัฒนาจนมีความสลับซับซ้อน ที่นาย ก. อาจจะใช้เวลาเรียน ๑๐ ปีจึงจะลึกซึ่ง แต่ก็ยังมีบางชุมชนและบางประเทศที่นาย ก. คนเดิมใช้เวลา เพียงสัปดาห์เดียวก็เข้าใจภาษานั้นอย่างถ่องแท้
อันนี้ผมยืนยันได้จาก “เฮนรี” เพื่อนชาวโปแลนด์ของผม เขาถูกส่งไปเป็นพระสอนศาสนาในชนเผ่าหนึ่งในปาปัวนิกีนี เฮนรี่เขียนมาบอกว่าเรียนภาษาของชนเผ่านี้สัปดาห์เดียวก็รู้แจ้งหมดแล้ว
@@@@
ขออนุญาตย้อนกลับมาดินแดนสุวรรณภูมิ ในช่วงก่อน ๘๐๐ ปี ชนเผ่าไทยังมีพลเมืองไม่มากนัก และอยู่กันกระจัดกระจายมีการปกครองเป็นชุมชน แยกออกจากกัน ในขณะนั้นแทบจะมีจำนวนคนน้อยมากที่อ่านออกเขียนได้ พอผ่านพ้นปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ (ค.ศ. ๑,๒๘๓) ที่เขาว่ากันว่าเริ่มมีลายสือไทยเกิดขึ้น ตอนนั้นเผ่าไทส่วนใหญ่ก็คงเขียนไม่ได้อ่านไม่ออกเช่นเดิม
คนไทสมัยนั้นมีชื่อเรียกง่าย ๆ กันพยางค์เดียว แม้แต่คนระดับเจ้านายก็มีชื่อพยางค์เดียว หรืออย่างเก่งก็สองพยางค์อย่างเช่นชื่อ เสือง ลือ ร่วง ราม อ้าย ยี่ ไส คง จอด ผากอง และ พุ่งช้าง เป็นต้น
มาในสมัยอยุธยาประชากรเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ รวมตัวเป็นกันเพิ่มขึ้น ชื่อเรียกกันก็ยังเป็นชื่อง่าย ๆ อย่างเช่น จัน ทอง มา เลื่อน แดง เขียว ดำ ขาว อิน ดอก แผน ช้าง สี และ สา เป็นต้น
ต่อไปนี้เป็นการนั่งเทียนเขียนทฤษฎีวิวัฒนาการของชื่อนะครับ…เพื่ออ่านกันเล่น ๆ อย่าถือเป็นจริงจังคือ ยิ่งนานวันคนในหมู่บ้านเดียวกันเกิดมีชื่อซ้ำกันมากขึ้น เป็นต้นว่ามีชื่อแดง ๘ คน ชื่อสี ๗ คน ชื่อจัน ๖ คน ที่นี้ก็ยุ่งกันใหญ่ ผู้หญิงอาจจะตบตีกัน เพราะต่างบอกว่าผัวของ ตนชื่อ “แดง” โดยคิดว่าเป็นคนเดียวกับผัวของตน ทำให้ต้องมีฉายาต่อท้ายชื่อ อย่างเช่น “อ้ายแดง ลูกยายดำ” และ “อ้ายแดง ลูกยายเขียว” เป็นต้น การตบตีหึงหวงกันจึงหมดไป
วิวัฒนาการทำนองนี้น่าจะเหมือนกันไปทั่วโลก ผมขอยกตัวอย่างที่เกาะอังกฤษ ในอดีตพวกเขามีชื่อเรียกโหลที่สุดคือ จอห์น กับ เดวิด แล้วยังมี ปีเตอร์, วิลเลี่ยม และมาร์ค ถ้าเป็นผู้หญิงก็ชื่อแมรี เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นชื่ออยู่ในคำภีร์ไบเบิลที่พวกเขาหยิบยืมมาเรียกขานกันนั่นเอง
เมื่อคนในหมู่บ้านออกลูกมา ลูกคนโตเขามักจะมีชื่อเรียกตามชื่อพ่อ เมื่อต่างคนต่างออกลูกมากขึ้นก็สับสนจะทักคนที่เป็นพ่อหรือลูก เป็นต้นว่าพ่อชื่อ “จอห์น” ลูกก็ดันชื่อ “จอห์น” อีก จึงทำให้เกิดคำว่า “ลูกตาจอห์น” “ลูกตาเดวิด” “ลูกตาแจ็คสัน” และ “ลูกตาวิลเลี่ยม” หรือ “John’s son”, “David’s son”, “Jack’s son” และ “William’s son” เกิดขึ้น
กลับมาที่แดนสุวรรณภูมิ เราก็มีการเรียกชื่ออย่างอังกฤษเหมือนกัน เช่น “อีจุกลูกยายแปลก” เป็นคำที่ผมเคยได้ยินชาวบ้านเขาเรียกกันสมัยเด็ก ๆ จำได้ว่าพวกเขามีบ้านอยู่หลังวัด ในสมัยเด็ก ๆ คนในชุมชนแบบชนบทจะรู้จักกันหมด ตั้งแต่หัวคลองไปจดท้ายคลองว่า ใครเป็นลูกบ้านไหน ใครทำอะไรไม่ดีเป็นอันรู้กันทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นคำโบราณที่ว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” จึงเป็นคำที่ใช้ได้ แต่ปัจจุบันคนในชุมชนแทบจะไม่รู้จักกันแล้ว และทุกบ้านก็มีส้วมอยู่ในบ้าน ไม่นิยมปลูกแยกไว้หลังบ้านอีกต่อไป คำนี้จึงตกไปครับ
เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อเรียกได้พัฒนาไปตามสภาพแวดล้อมของชุมชน ไทยเราก็เพิ่มสร้อยด้วยบุคลิก อาชีพ และถิ่นฐาน อย่างเช่น นายจันหนวดเขี้ยว นายจันขาเป๋ นายจันช่างเขียน นายจันบ้านช่างหล่อ เป็นต้น
ที่เกาะอังกฤษพวกเขาเพิ่มเติมด้วยการนำเอาอาชีพมาต่อท้ายเรียกชื่อบุคคล เช่นคนชื่อ “จอห์น” ถ้าเขาเป็นช่างโลหะก็จะถูกเรียกว่า “John the Smith” ถ้าเป็นช่างไม้ก็เรียกว่า “John the Carpenter” คนทำโรงสีโรงโม่ก็จะเป็น “John the Miller” ถ้าทำขนมปังก็จะเป็น “John the Baker” เป็นช่างทำถังไม้ถังเหล้าเบียร์ก็เรียกว่า “John the Cooper” ช่างตัดผมก็เป็น “John the Barber” ช่างมุงหลังคาก็ “John the Thatcher” หรือ “John the Tyler” และถ้า John เป็นคนทำครัว เขาก็ถูกจะเรียกว่า “John the Cook” เป็นต้น
ชนเกาะอังกฤษยังเอาสถานที่มาใช้เรียกชื่อคนอีกด้วย ถ้าจอห์นอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็จะถูกเรียกว่า “John at water” จอห์นที่อยู่ใกล้ลำธารก็จะเป็น “John at the brook”, หากจอห์นมีบ้านอยู่ปลายทุ่งก็จะถูกเรียกว่า “John at the fields” อยู่ใกล้สะพานก็เป็น “John at the bridge” อยู่ใกล้หรือในป่าไม้ก็เป็น “John at the forest” หรือ “John at the wood” อยู่ใกล้ป่าละเมาก็เรียกว่า “John at the bush” และอยู่บนเขาก็เรียกว่า “John at the hills”
อ้อ…ที่ผมใช้ชื่อ “John” เป็นตัวอย่างก็เพราะเขาว่ากันว่ามันเป็นชื่อแรกที่คนยุคกลางบนเกาะอังกฤษใช้เรียกชื่อบุตร คงเหมือนกับคนไทยในอดีตที่เรียกลูกว่า “แดง” ไงละครับ ชื่อนี้ยังถูกนำไปใช้ในพื้นแผ่นดินยุโรปแต่ผิดเพี้ยนไป อย่างเช่น “Jean” ในฝรั่งเศส, “Juan” ในสเปน, “Jan” ในฮอลแลนด์, “Johan” ในเยอรมัน, “Janne” ในฟินแลนด์ และ “Jens” ในเดนมาร์กเป็นต้น

Amanda Beard เจ้าของเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิกผู้อื่อฉาวบนปก Playboy มีนามสกุลของคนเคราดก เป็นภาพเดียวที่ผมเปลี่ยนจากต้นฉบับครับ
หรือบางทีก็เรียกกันตามสภาพร่างกายของพวกเขาเช่นถ้านายจอห์นเป็นคนสูงก็จะเป็น John Long, ถ้าตัวเตี้ยก็เป็น John Short, ถ้าจอห์นไว้หนวดเคราก็จะเป็น John Beard ถ้าจอห์นมีร่างกายแข็งแรงก็จะถูกเรียกว่า John Strong ครับ
นักแสดงละครจักร ๆ วงศ์แบบอังกฤษยังถูกเรียกชื่อตามบทละครที่พวกเขาแสดง เป็นต้นว่า Mr King (ผู้รับบทเป็นพระราชา), Mr Knight (เป็นขุนนาง), Mr Duke (ขุนนางชั้นสูง) หรือ Mr Bishop (พระในคริสต์ศาสนา) เป็นต้น
ถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงพ่อของผม พ่อถูกเพื่อน ๆ เรียกว่า “ท่านขุน” เพราะครั้งหนึ่งท่านหลวมตัวไปรับบทขุน ในการละเล่นหมากรุกคนในงานประจำปีของวัดข้างบ้าน ฉายาท่านขุน จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา แต่ก็แปลกคนที่รับบทเป็นตัวม้า ตัวเรือ ตัวโคนไม่ยักกับถูกเรียกกับเขาบ้างครับ
คนไทยยังนิยมใช้ชื่อสัตว์เอามาตั้งชื่อเล่นเช่น ผึ้ง ปลา ไก่ กบ นก หมู หนู แมว ต่าย กระแต ช้าง เสือ ลูกน้ำ ตั๊กแตน แต่คนบนเกาะอังกฤษเอาชื่อสัตว์มาเรียกเพื่ออธิบายลักษณะบุคคล เป็นต้นว่า ถ้านายจอห์นมีรูปร่างหน้าตาเหมือนนกกระเรียนก็เรียกว่า “John Crane”, ถ้าเหมือนหมาจิ้งจอก ก็เรียกว่า John Fox, เหมือนกระต่ายก็ว่า “John Hare”, หน้าเหมือนเหยี่ยวเรียกว่า “John Hawk” และเหมือนปลาซาลมอนก็ว่า “John Salmon” ครับ
@@@@
ในยุคกลางเช่นกัน เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. ๑๙๑๘ (ค.ศ. ๑๓๗๕) อังกฤษได้กำหนดให้มีชื่อสกุล ใช้ต่อท้ายชื่อตัวเกิดขึ้น ชื่อฉายา หรือสร้อยต่อท้ายชื่อที่เคยใช้ หลายคนได้นำมาเป็นนามสกุลไปโดยบรรยาย
ที่เคยเรียกว่า “John’s son”, “David’s son”, “Jack’s son”, “Robin’s son”, “Thomp’s son”, “Robert’s son” และ “William’s son” ก็ถูกปรับมาเป็นนามสกุลว่า “Johnson” “Davidson” “Jackson” “Robinson” “Thompson”, “Robertson” และ “Williamson”
“John at water” ก็กลายเป็น “John Atwater”, “John at the brook” เป็น “John Brook”, “John at the fields” เป็น “John Fields”, “John at the bridge” เป็น “John Bridge” เป็นต้น
ฉายาที่ถูกเรียกตามอาชีพ เช่นช่างโลหะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างตีเหล็ก, ช่างเงิน, ช่างทอง, ช่างดีบุก และสารพัดช่างอื่น ๆ ก็จะใช้นามสกุลว่า Smith, ชาวนาก็ใช้นามสกุลว่า Farmer, ช่างไม้ก็ Carpenter, ต้นตระกูลทำธุรกิจขนมปังก็จะเป็น Baker, ประมงค์ก็ Fisher, นักธนูมือฉมังก็ใช้ Archer หรือ Bowman ช่างทำธนูก็เป็น Fletcher, เกษตรกรเลี้ยงแกะก็เป็น Shepherd, ช่างตัดเสื้อผ้าก็ Taylor ซึ่งมีรากศัพท์ว่า Tailor, คนขายของเร่ก็เป็น Chapman มาจากรากศัพท์ว่า Pedlar และคนทำธุรกิจโรงสีโรงโม่ก็เป็น Miller
ส่วน Long, Short, Beard, Strong, King, Knight, Duke, Bishop, Crane, Fox, Hare และ Salmon ก็กลายเป็นนามสกุลเช่นกัน
หรือบางคนก็เลือกเอาชื่อบรรพบุรุษมาตั้งเป็นชื่อสกุลอย่าง John, David, Peter, William, Mark, Robert ก็ถูกนำมาเปลี่ยนามสกุลด้วยการเติม s ข้างท้ายเป็น Johns, Davids, Peters, Williams, Marks, Roberts หรืออาจมีการเขียนเพี้ยนไปเช่น Jones (มีความหมายว่า บุตรของ John), Davis หรือ Davies แผลงมาจาก David เป็นต้น
ซึ่งแนวความคิดนี้ไม่ต่างจากคนไทยเรา เมื่อครั้งมีนามสกุลใช้ หลายคนก็เอาชื่อบิดา มารดา หรือปู่ย่าตายาย มารวมกันเป็นนามสกุลเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวครับ
@@@@
ผมข้อเพิ่มข้อมูลถึงผลสำรวจชื่อสกุลของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ โดยเลือกมา ๓ ประเทศในสามทวีปคืออังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แม้เวลาจะผ่านไปเนินนาน พลเมืองของประเทศเหล่านี้จำนวนไม่น้อยยังคงใช้ชื่อสกุลของบรรพบุรุษที่ตกทอด มากว่าพันปี
ในอังกฤษ ข้อมูลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยลอนดอนถึงนามสกุลที่ใช้มากที่สุดในอังกฤษ ๒๐ อันดับแรกมีชื่อที่ผมอ้างไว้ข้างบนดังนี้คือ อันดับที่ ๑. Smith ๒. Jones ๓. Taylor ๕. Williams ๗. Johnson ๘. Davies ๙. Robinson ๑๑. Thompson ๑๕. Roberts ๑๘. Wood ๑๙. Jackson
ในสหรัฐข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรพบว่าชื่อสกุลที่ใช้มากที่สุดคือ ๑. Smith ๒. Johnson ๓. Williams ๕. Jones ๖. Miller ๗. Davis ๑๓. Taylor ๑๘. Jackson ๑๙. Thompson
ในออสเตรเลียข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอันดับชื่อสกุลที่ใช้มากที่สุด ๒๐ อัน ดับแรกคือ ๑. Smith ๒. Jones ๓. Williams ๖.Taylor ๗. Johnson ๑๑. Thompson ๑๘. Robinson และ ๒๐. King ครับ
เขียนเรื่อยเปื่อยมาถึงตอนนี้ ยังไม่เข้าประเด็นเลย แต่เนื้อกระดาษหมดแล้ว เห็นจะต้องขออนุญาตมีต่อภาค ๒ นะครับ ในฉบับนี้ผมขออนุญาตนำคนดังในวงการบันเทิงและการเมืองของฝรั่งที่มีนามสกุลดังนี้ผมกล่าวไว้มาให้ดูด้วย พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
หมายเหตุ
อ่านชื่อตอน ๒ คลิกที่นี่ “เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒“
อ่านชื่อตอน ๓ คลิกที่นี่ “เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน.. จบ (แล้ว)“
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: บทความ ตามใจฉัน
Leave a Reply