พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๑ เดอะบีทเทิลส์ The Beatles

466 tamjai-02

466Tamjai - Advertiser

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อออสเตรเลียแทบทุกฉบับได้เสนอข่าวและบทความถึงการเยือนออสเตรเลียของวงดนตรี “เดอะบีทเทิลส์” จากเกาะอังกฤษ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ “ดิ แอดเวอร์ไทเซอร์” หนังสือพิมพ์หลักในนครแอดิเลค ถึงกับนำขึ้นหน้าหนึ่ง เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันครอบรอบการมาเยื่อน ๕๐ ปีในดินแดนซีกโลกใต้

จิงโจ้นิวส์จึงขอนำเรื่องราว “เดอะบีทเทิลส์” ของไม้ซีกขีด ในหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ในฉบับวันที่ ๑๙ กันยายนถึง ๒ ตุลาคม ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐) อันเป็นตอนที่ ๔๖๖ ของไม้ซีกขีดที่เขียนให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ นำกลับมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งครับ

เก็บอดีตจากหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๑ เดอะบีทเทิลส์มาออสเตรเลียในนสพ.ไทยออสนิวส์  ฉบับ ๔๖๖

เก็บอดีตจากหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๑ เดอะบีทเทิลส์มาออสเตรเลียในนสพ.ไทยออสนิวส์ ฉบับ ๔๖๖

เก็บอดีตจากหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๑ เดอะบีทเทิลส์มาออสเตรเลียในนสพ.ไทยออสนิวส์  หน้าที่ ๒

เก็บอดีตจากหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน ตอน ๒๑ เดอะบีทเทิลส์มาออสเตรเลียในนสพ.ไทยออสนิวส์ หน้าที่ ๒

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก ผมห่างเหินไม่ได้อ่านหัสนิยายพล นิกร กิมหงวน มานานสี่ีห้าเดือนแล้ว… เพราะไม่มีเวลาและไม่ได้นั่งรถไฟในระยะนี้ (ปกติผมอ่านสามเกลอขณะนั่งรถไฟ)

เมื่อวันก่อนผมโทรศัพท์คุยกับหลานชายคนรอง สิ่งที่ผมชอบถามเขาบ่อย ๆ จนไม่รู้ว่าจะถามไปทำไมก็คือ “ตอนนี้ที่เมืองไทยเขาฟังเพลงอะไรกัน?” เพราะหลานคนนี้ชอบฟังดนตรี อีกทั้งเป็นการสอบถามวิถีชีวิตของสังคมไทย คำตอบที่ได้รับเสมอ ๆ จากพ่อหลานชายคนนี้ก็คือ “ไม่ทราบครับเพราะ (ชื่อเล่นหลาน) ไม่ได้ตามกระแส” ครั้งหลังสุดหลานชายบอกว่า ตอนนี้เขากำลังสนใจเพลงของ เดอะบีทเทิลส์อยู่

มาฉบับนี้ผมจึงเลือกที่จะเขียนเรื่อง “เดอะบีทเทิลส์” บ้างเพื่อเป็นการเอาใจหลาน ผมหลับตานึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเดอะบีทเทิลส์   ภาพที่ปรากฎในความทรงจำก็คือ ภาพของผมและเพื่อน ๆ ร้องเพลง Yesterday ในคาราโอเกะแห่งหนึ่งในซิดนีย์ มันเป็นเพลงแรกและเพลงเดียวที่ผมร้องในคาราโอเกะ จำได้ว่าปีนั้นเป็นปี ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ผมจำเพื่อนได้ทุกคน มีนายเฮนรี เพื่อนชาวโปแลนด์ ชาร์ลีเพื่อนชาวเกาหลี แล้วก็ซาชิโกะ โยโกะ และมิซูโยะ สามรายหลังเป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่น

Yesterday all my troubles seemed so far away. Now it looks as though they’re here to stay. Oh, I believe in yesterday……..

กลุ่มเพื่อนเหล่านี้มีชาร์ลีคนเดียวที่เจอกันบ่อย ๆ มิซูโยะแต่งงานมีลูกที่น่ารักสองคนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทุก ๆ คริสต์มาสผมและเธอจะส่งการ์ดและเขียนถึงกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง โยโกะแต่งงานกับสามีชาวออสซี่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในลิเวอร์พูลแต่ขาดการติดต่อกัน เฮนรีไปเป็นนักบวชอยู่ที่ปาปัวนิวกีนี ส่วนซาซิโกะหลังจากกลับไปญี่ปุ่นได้สองปีก็ขาดการติดต่อกัน… นี้คือความเป็นไปของเพื่อนเมื่อครั้งอดีตของเยสเตอร์เดย์

ผมนึกถึงภาพเดอะบีทเทิลส์ในอีกหลายเหตุการณ์ แต่ก็ยังไม่ได้หัวข้อที่จะเขียน นอกจากนึกขึ้นได้ว่า คุณป. อินทรปาลิตเคยพูดถึงวงดนตรีเดอะบีทเทิลส์เหมือนกันคือในตอน “สี่จิ้งจกทอง” ขอเชิญท่านผู้อ่านตามมาดูสิครับว่า ผมจะได้อะไรจากหัสนิยายสามเกลอตอนนี้บ้าง

 @@@@

ปกตอน “๔ จิ้งจกทอง”

ปกตอน “๔ จิ้งจกทอง”

พล นิกร กิมหงวนตอน “๔ จิ้งจกทอง” เป็นเหตุการณ์ในระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน ถึง ๔ กรกฎาคม ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ก่อนที่จะพูดเรื่องราวของเดอะบีทเทิลส์ ผมขอเล่าบรรยากาศของสังคมไทยร่วมสมัยในช่วงปี ๑๙๖๔ เพื่อจะได้เข้าถึงบรรยากาศในอดีตให้มากขึ้นกันก่อนครับ

ช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ไม่กี่เดือนหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๖๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) พล นิกร กิมหงวน ถ่ายทอดผลที่ตามมาของชะตาชีวิตของเหล่าบรรดาหม้ายผ้าขาวม้าแดงและความร่ำรวยผิดปกติของท่านเอาไว้หลายตอน โดยเฉพาะที่ถูกนำมาล้อเลียนอย่างจะ ๆ ก็ในตอน “แม่หม้าย โสร่งเขียว” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๑๘๖๔

ปกตอน “แม่หม้าย โสร่งเขียว”

ปกตอน “แม่หม้าย โสร่งเขียว”

ปกสวนสำราญ ตอน “ตะลุยราตรี”

ปกสวนสำราญ ตอน “ตะลุยราตรี”

นอกจากนั้นยังมีตอน “นางแมวผี” ซึ่งเอ่ยเลี่ยง ๆ ว่า “…….ท่านนายพลในโกศ ที่ลือกันว่าเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย…..

แต่ในตอน “๔ จิ้งจกทอง” ถึงกับเอ่ยชื่อกันตรง ๆ ว่า “….ใคร ๆ ก็อยากเห็นอาเสี่ยกิมหงวนเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย แม้กระทั่งท่านจอมพลสฤษดิ์ก็สู้ไม่ได้

ช่วงนั้นได้กำเนิดหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ขึ้นมาในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๑๙๖๔ (อ้างถึงในตอน “วายร้ายฆ่าเด็ก”)    กีฬามวยปล้ำหญิงเริ่มเป็นที่สนใจของคอกีฬาคนไทย โดยเฉพาะการนำเอาการแข่งขันมวยปล้ำสาวจากญี่ปุ่นมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ (จากตอน “กีฬามวยปล้ำหญิง”) และจากสามเกลอในหนังสือสวนสำราญในตอน “ตะลุยราตรี” บอกให้รู้ถึงสถานอาบอบนวดกำลังเป็นสิ่งเริงรมณ์ที่นิยมของหนุ่ม ๆ หัวใจซุกซนในสมัยนั้นครับ

@@@@

ในตอน “๔ จิ้งจกทอง” หน้าแรกบรรทัดที่สองก็บอกเลยว่า “……เป็นตอนสายของวันจันทร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ศกนี้….” นั่นก็คือวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๑๘๖๔ นั่นเอง   เป็นวันที่เจ้าคุณปัจจานึกพินาศ ดร.ดิเรก และสามเกลอเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อมารับคำตอบ เรื่องการขออนุญาตนำคณะ “เดอะบีทเทิลส์” หรือที่คนไทยให้ฉายาว่า “สี่เต่าทอง” มาเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ดร.ดิเรกอุตส่าห์เสียเงินเสียทองเดินทางไปถึงออสเตรเลีย ประเทศที่ที่คณะสี่เต่าทางมาเปิดการแสดง และตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่ายินดีจะมาเปิดการแสดงที่เมืองไทยในคืนวันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม เพื่อนำรายได้เข้าสภากาชาดไทย

แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะให้เดอะบีทเทิลส์เปิดการแสดง โดยให้เหตุผลว่า “….คณะสี่เต่าทองนี้มีลีการแสดงกระเดียดไปในแนวโยกคลึง เร่งเร้าอารมณ์เพศ และเพลงที่ร้องก็เป็นจังหวะเร่าร้อน ใต้เท้าก็คงทราบดีแล้วว่าเด็กหนุ่มสาวในอังกฤษ ในยุโรปกำลังคลั่งไคล้พวกนักร้องนักดนตรีสี่คนนี้อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ขณะนี้เขากำลังแสดงอยู่ที่ออสเตรเลีย เด็กหนุ่มสาวนับแสนคนกำลังหลงไหลเขา สำหรับเมืองไทยเรา เรามีจิ๊กโก๋และจิ๊กกี๋มากมายพอแล้วครับ…..”

ข้อความสั้น ๆ แค่นี้มิได้หมายความว่าคำว่า “กรี๊ด” ยังไม่เกิดในปี ๑๙๖๔ อันที่จริงในตอน “๔ จิ้งจกทอง” มีคำว่า “กรี๊ด” ให้กับกลุ่มนักร้องดังอย่างเดอะบีทเทิลส์แล้วครับ

ส่วนคำว่า “จิ๊กโก๋” มีใช้กันเรียบร้อยแล้ว เข้าใจกันว่าเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี ๑๙๕๖ (พ.ศ. ๒๔๙๙) คำนี้เพี้ยนมาจากคำฝรั่งว่า “gigolo” หมายถึงหนุ่มเจ้าสำอางที่ชอบแต่งตัวเนี๊ยบ ใส่น้ำมันหวีผมเรียบแป้ (คนละความหมายกับ“gigolo” ซึ่งหมายถึงบุคคลประเภท “ไอ้หนู” เครื่องเล่นยามเหงาของผู้หญิงมีเงิน  ตรงข้ามกับ “อีหนู” อนุลับของพวกผู้ชายครับ)

การร้องเพลงในยุคปี ๑๙๖๔ ผู้ร้องยังยืนตัวแข็งทื่อร้องเพลง คนไทยยังไม่ชินกับการร้องเพลงส่ายไปโยกมา แม้ว่าอิทธิพลของเอลวิส เพสลีย์เริ่มเข้ามาในไทยหลังปี ๑๙๕๖ และเพลงของเดอะบีทเทิลส์เริ่มเข้ามาในไทยในปี ๑๙๖๓ แล้วก็ตาม หรือเป็นยุคที่จังหวะร็อคและทวิสต์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยบ้างแล้ว

การแสดงของเดอะบีทเทิลส์ซึ่งคนสมัยนี้มองว่าจืดชืดไร้อารมณ์ แต่คนในสมัยปี ๑๙๖๔ บางคนมองว่า ล่อแหลมต่อการยั่วยุทางเพศครับ

เมื่อรัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้เดอะบีทเทิลส์มาแสดงในกรุงเทพฯ คณะสามเกลอและพวกพ้องจึงตั้งคณะ “๔ จิ้งจกทอง” ขึ้นมาแสดงเสียเอง

@@@@

 ที่นี้มาดูเหตุการณ์จริงที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณ ป. อินทรปาลิตนำมาเขียนตอน “๔ จิ้งจกทอง” จากการสอบทานข้อมูลพบว่า คณะสี่เต่าทองเดินทางมาเปิดการแสดงที่ฮ่องกง, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในปี ๑๙๖๔ จริง เท่าที่ผมค้นได้ในช่วงระยะเวลาอันจำกัดก็คือ พวกเขาแตะสนามบินที่เมืองดาร์วินในเวลา ๒.๕๓ น. ของวันที่ ๑๑ มิถุนายน นั่นหมายความว่าในตอนกลางคืนของวันที่ ๑๐ มิถุนายน เดอะบีทเทิลส์น่าจะอยู่ที่สนามบินดอนเมือง หรือสนามบินในสิงคโปร์ (ส่วนขากลับพวกเขาเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์) หรืออาจจะก่อนหน้านั้นคือวันที่ ๖ มิถุนายน ๑๙๖๔ คณะสี่เกลอบินมาเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯก่อนที่จะมุ่งสู่สนามบินไคตักในฮ่องกง

เท่าที่ผมทราบมา เดอะบีทเทิลส์เคยเหยียบแผ่นดินไทยแน่นอน ในการแวะเพื่อเปลี่ยนเที่ยวบิน รวมถึงมีการมอบเครื่องดนตรีไทยให้เป็นที่ระลึกแก่สมาชิกของวงอีกด้วย เพียงแต่ว่า ถ้าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ใข่ปี ๑๙๖๔ ก็ต้องเป็นปี ๑๙๖๖ ซึ่งเป็นอีกปีหนึ่งที่เดอะบีทเทิลส์เดินทางมาเปิดการแสดงในเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ โดยเมืองไทยพลาดการสร้างประวัติศาสตร์ในการมีเดอะบีทเทิลส์มาเปิดการแสดงในไทยอีกเป็นครั้งที่สอง …..อ้อ.. สมัยนั้นเขายังไม่ใช้คำว่า “คอนเสิร์ท” สำหรับการแสดงดนตรีแนวนี้ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยครับ

ทีนี้มาดูเส้นทางมาเปิดการแสดงในออสเตรเลีย.. คณะสี่เต่าทองออกเปิดการแสดงครั้งนี้ด้วยการเปิดการแสดงที่เดนมาร์ก แล้วจึงมาต่อที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนบินระยะยาวมาที่ฮ่องกง แล้วจึงมายังออสเตรเลีย

หลังจากเครื่องบินฝ่าพายุฝนมาแวะลงที่ดาร์วินแล้ว เครื่องบินได้นำคณะสี่เต่าทองมาลงที่สนามบินซิดนีย์ในเวลา ๗.๔๕ น.

การเดินทางเที่ยวนั้น มีสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ประกอบด้วย “จอห์น เลนนอน” “พอล แมคคาร์ทนีย์ และ “จอร์จ แฮริสัน” ขาดเพียงมือกลอง “ริงโก้ สตาร์” เนื่องจากป่วยเป็นโรคต่อมทอมซินอักเสบ ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน พวกเขาจึงจ้าง “จิมมี่ นิโคล” มาเป็นมือกลองแทนอยู่สี่รอบ ก่อนที่ริงโก้จะบินตามมาสมทบในวันที่ ๑๔ มิถุนายน

สมาชิกเดอะ Beatles ยกเว้นริงโก้ สตาร์ยื่นโบกมือให้แฟนเพลงอยู่ที่ระเบียงห้อง ๘๐๑ ของโรงแรมเชอราตัน

สมาชิกเดอะ Beatles ยกเว้นริงโก้ สตาร์ยื่นโบกมือให้แฟนเพลงอยู่ที่ระเบียงห้อง ๘๐๑ ของโรงแรมเชอราตัน

แฟนเพลงเดอะ Beatles ที่หน้าโรงแรมเชอราตัน ภาพเพิ่งเปิดเผยปี ๒๐๑๔

สมาชิกสี่เต่าทองเข้าพักที่โรงแรมเชอราตัน อยู่เลขที่ ๔๐ ถนนแมคคลีย์ ในย่านคิงส์ครอส ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอะซูร์อพาร์ทเมนท์

ในวันนั้นฝนตกหนักทั้งวัน แต่ก็มีแฟนเพลงไปเฝ้าชมสมาชิกสี่เต่าทองอย่างล้นหลาม สมาชิกสี่เต่าทองเอาใจแฟนเพลงของพวกเขาด้วยการออกมาโบกมือที่หน้าระเบียงห้องพักเป็นระยะ ๆ

พวกเขามีกำหนดการพักอยู่ในซิดนีย์ ๑ คืน ก่อนที่จะเดินทางไปแสดงยังนครแอดิเลคและเมลเบิร์น แต่จะว่าไปแล้วการแสดงของเดอะบีทเทิลส์บนแผ่นดินดาวน์อันเดอร์ ถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในซิดนีย์ โดยพวกเขาเอาใจแฟน ๆ ด้วยการออกมาแสดงที่ระเบียงเหล็กแคบ ๆ บนชั้นที่ ๘ ของโรงแรม ให้แฟนเพลงหลายคนข้างล่างได้กรี๊ดกัน (หมายเหตุ..ถ้านับอย่างไทยคือชั้นที่ ๙)

ในวันแรกพวกเขาต้องเก็บตัวอยู่ในโรงแรม อันเนื่องมาจากฝนตก และเกรงว่าถ้าออกไปข้างนอก อาจถูกแฟนรุมทึ้งเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเป็นของที่ระลึก จนเหลือแต่ตัวล่อนจ่อน เพราะยังมีแฟนเพลงอย่างน้อย ๕๐๐ คนเดินเตร่อยู่แถวนอกโรงแรม   และอาจเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคนภายในกระพริบตา ถ้าเกิดมีเสียงกรี๊ดพร้อมกับเรียกชื่อสมาชิกสี่เต่าทองคนใดคนหนึ่งขึ้นมา

@@@@

ที่นี้มาดูเส้นทางการมาเปิดการแสดงของเดอะบีทเทิลส์ในออสเตรเลียกันบ้าง ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ในเวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นการเปิดการแสดงประเดิมที่ห้องเซนเทนเนียลฮอลในนครแอดิเลค การแสดงในรัฐเซาท์ออสเตรเลียมีทั้งสิ้น ๒ วัน วันละ ๒ รอบโดยที่พวกเขาพักอยู่ที่โรงแรมเซาเทิร์นออสเตรเลีย

สมาชิก the Beatles ทั้ง ๔ และ  Jimmy Nicol โบกมือให้กับแฟนเพลงที่แห่มาตอนรับที่โรงแรม Southern Cross ในเมลเบิร์น

สมาชิก the Beatles ทั้ง ๔ และ Jimmy Nicol โบกมือให้กับแฟนเพลงที่แห่มาตอนรับที่โรงแรม Southern Cross ในเมลเบิร์น

Jimmy Nicol นั่งรอเครื่องบินอย่างหงอยเหงาเพื่อกลับลอนดอน ที่สนามบิน Essendon

Jimmie Nicol นั่งรอเครื่องบินอย่างหงอยเหงาเพื่อกลับลอนดอน ที่สนามบิน Essendon ในเมลเบิร์น ภาพเพิ่งเปิดเผยปี ๒๐๑๔

ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน เปิดการแสดงที่เฟสติวัลฮอล ในเมลเบิร์น และพักที่โรงแรมเซาเทิร์นครอส ในวันนั้นเองริงโก้ สตาร์ได้บินมาสมทบ

ในตอนเช้าของวันที่ ๑๕ มิถุนายน จิมมี่ นิโคล มือกลองสำรองจำต้องเก็บกระเป๋ากลับกรุงลอนดอน โดยเขาได้ค่าจ้างเป็นเช็คจำนวน ๕๐๐ ปอนด์และนาฬิกาทองคำอีกหนึ่งเรือน

ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน เดอะบีทเทิลส์ขึ้นเครื่องบินกลับมาเปิดการแสดงในซิดนีย์ที่ซิดนีย์สเตเดียม ในย่านรัสคัตเตอร์เบย์ และพักที่โรงแรมเชอราตัน ในคิงส์ครอสเช่นเดิม

ต่อมาในวันที่ ๒๑ มิถุนายน คณะสี่เต่าทองจึงเดินทางไปกรุงเวลลิงตันประเทศนิวซีแลนด์ มีกำหนดการแสดงในเวลลิงตัน, ไครสต์เชิร์ช และโอคแลนด์เป็นเวลา ๗ วัน

ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน เดอะบีทเทิลส์จึงบินกลับมาเปิดการแสดงที่ห้องเฟสติวัลฮอลในนครบริสเบน จนกระทั่งวันที่ ๑ กรกฎาคม เดอะบีทเทิลส์จึงกลับมาซิดนีย์ เพื่อต่อเครื่องบินสายแควนตัสไปยังสิงคโปร์ บินตรงไปยังแฟรงค์เฟิร์ทและถึงลอนดอนในเวลา ๑๑.๑๐ น. ของวันที่ ๒ กรกฎาคม

บีทเทิลเปิดการแสดงในออสเตรเลีย ในทุกเมืองจะเหมือนกันหมด คือเปิดแสดงวันละสองรอบ คือรอบ ๑๘.๐๐ น.และ ๒๐.๐๐ น. โดยแสดงรอบละ ๑๐ เพลงเหมือนกันหมดคือ “I Saw Her Standing There”, “I Want to Hold Your Hand”, “All My Loving”, “She Love You”, “Till There Was You”, “Roll Over Beethoven”, “Can’t Buy Me Love”, “This Boy”, “Long Tall Sally” และ “Twist and Shout” ตอนนั้นยังไม่มีเพลง Yesterday ที่ผมร้องกับเพื่อน ๆ ในคาราโอเกะ เพราะอัลบัมเพลงนี้ออกจำหน่ายในปีรุ่งขึ้นคือ ๑๙๖๕ ครับ

ภาพ เดอะบีทเทิลส์ครบชุดสี่เต่าทอง กำลังลองเป่าเครื่องดนตรีดิดเจอรีดู

ภาพ เดอะบีทเทิลส์ครบชุดสี่เต่าทอง กำลังลองเป่าเครื่องดนตรีดิดเจอรีดู ของชนเผ่าอะบอริจิน

@@@@

 นั้งก็คือเรื่องราวของเดอะบีทเทิลส์ในออสเตรเลียที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ ถูกนำมาเล่าขานกันสำหรับการเปิดแนวเพลงใหม่ให้กับโลก และการไว้ทรงผมที่ถือว่าประหลาดสำหรับคนสมัยนั้น แต่กลับก่อให้เกิดกระแสความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ จนเกิดปรากฎการณ์กรี๊ดสลบของวัยรุ่น โดยเฉพาะสาว ๆ ถึงกับวิ่งไล่ทึ้งคณะสี่เต่าทอง

ปกเพลงหนุ่มเนื้อหอม

ปกเพลงหนุ่มเนื้อหอม

เรื่องแฟนเพลงรุมทึ้งสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ถูกคุณป. อินทรปาลิตนำมาล้อเลียนในหนังสือศาลาโกหกตอน “หนุ่มเนื้อหอม” เป็นเหตุการณ์วันที่ ๗ พฤษภาคม ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ตอนที่ลูกชายของพล นิกร กิมหงวนและลูกชายดร.ดิเรกกลับเมืองไทยหลังจากจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พวกเขากลายเป็นขวัญใจของสาว ๆ

พอสี่หนุ่มผ่านด่านศุลกากร เดินออกมาภายนอกชั้นผู้โดยสารขาออกก็ถูกสาว ๆ รุมทึ้งแย่งเอาเสื้อ เอาเนคไท กางเกงไปฉีกแบ่งกันเป็นของที่ระลึก จนแต่ละคนเหลือแต่กางเกงใน ร้องเท้าและถุงเท้า

ดำรงบุตรชายดร.ดิเรกกล่าวว่า “มายก๊อด ช่วงเวลาที่เราอยู่อเมริกาไม่ถึงสิบปี ผู้หญิงไทยมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอีกมาก เคราะห์ดีเหลือเกินที่หล่อนไม่รุมฉีกกางเกงในของเรา…..”

ในขณะที่บรรดาพวกผู้ใหญ่ตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สี่หนุ่มกลับรู้สึกสนุกกับการกระทำของสาว ๆ สมนึกบุตรชายของกิมหงวนกล่าวตอบเจ้าคุณปัจจานึกฯ เมื่อถูกถามด้วยความเป็นห่วงว่า   “ไม่ดุเดือดหรอกครับคุณตา พวกสาว ๆ เขาสนใจและพอใจพวกผมหรอกครับ ผมคิดว่าถึงแม้คณะสี่เตาทองมาเมืองไทย ก็คงไม่ได้รับการต้อนรับเหมือนอย่างผม      อย่างนี้สนุกดีครับ

นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมค้นหาได้…. และเขียนรวดเดียวจบภายในระยะเวลาอันสั้น พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ…….

ไทย-ออส



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , ,

Leave a Reply

%d