ตามใจฉัน “เดอะแลนด์ลอร์ด” ตอน ๑๕ / ตอนอยู่อย่างออสเตรเลีย ตอน ๒ เป็นตอนที่ ๖๐๘ ของไม้ซีกขีด เขึยนลงในหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ฉบับที่ ๖๐๘ วันที่ ๕ ถึง ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ จิงโจ้นิวส์ขอคัดลอกนำมาลง โดยแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีดังนี้ครับ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ฉบับนี้ผมตั้งใจเปลี่ยนเรื่องเขียน แต่ต้องกลับมาเขียน “อยู่อย่างออสซี่” เป็นตอนที่สองติดต่อกัน เพราะนาน ๆ จะมีผู้แนะนำแปลกหน้าเข้ามาสักครั้ง เลยดีใจเป็นพิเศษ ด้วยการแนะนำว่าไม่ควรเขียนอะไรยาวเป็นพืด ผสมปนเปกันจนน่าเวียนหัว ควรมีหัวข้อย่อย เพราะยุคนี้เวลาทุกนาทีมีค่า ต่อการทำงานและพักผ่อน จะเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่ต้องการอ่านเท่านั้น ผมจึงสนองรับคำแนะนำนี้ครับ และขอประเดิมด้วย
ออสเตรเลียนแชร์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมตั้งใจจะไปดูหนัง “พี่มากพระโขนง” ที่โรงหนังอีเวนท์ ถนนจอร์จ เพราะไม่ได้ดูหนังโรงมานานแล้ว และอยากอุดหนุนหนังไทย จำได้ว่าเคยดูหนังโรงในออสเตรเลียครั้งสุดท้ายเมื่อครั้งที่ตรงนั้นยังเป็นโรงหนังฮอยท์ (Hoyts) และโรงหนังวิลเลจ (Village) ฝั่งตรงข้ามเป็นโรงหนังเดนดี (Dendy) โรงหนังนี้ปิดในปลายปี ๒๐๐๘ (พ.ศ. ๒๕๕๑)
การจะเข้าไปดูคนเดียวมันก็กระไรอยู่ ผมจึงชวนหลานชายคนโตไปดูเป็นเพื่อน เขาก็อยากไปดู แต่จัดเวลาว่างตรงกันไม่ได้ จึงต้องชวนคนอื่นไปดู แต่ก็ไม่มีใครว่าง ทั้งที่ผมออกค่าตั๋วดูหนังให้ แถมเลี้ยงอาหารค่ำอีกหนึ่งมื้อ เมื่อไม่มีใครไปดูด้วย ผมเลยอดดูพี่มากพระโขนง ตอนนี้จึงต้องรอซื้อดีวีดีจากฮ่องกง เพราะอยากดูหนังที่มีบรรยายภาษาอังกฤษด้วย
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการออกค่าใช้จ่าย.. ชาวออสเตรเลียเขาไม่ทำกัน เพราะชาวออสเตรเลียถึอหลัก “ต่างคนต่างจ่าย” ซึ่งก็น่าจะเป็นหลักการที่ยุติธรรมดี เพราะใครกินใครใช้เท่าไรก็ควรจ่ายเท่านั้น แต่เจ้าหลักการ “ต่างคนต่างจ่าย” ดูเหมือนไม่มีชาติไหน รับว่าเป็นวัฒนธรรมตึ๋งหนืดของชาติตน แต่กลับไปโยนให้ชาติอื่น ๆ รับไป โดยเฉพาะชาติที่พวกเขาไม่ชอบ หรือเคยมีเรื่องบาดหมางในอดีต แต่ก็มีเรียกตามประเทศที่ไปพบเห็นมาเหมือนกัน
เป็นต้นว่าคนอังกฤษโยนพฤติกรรมนี้ไปให้กับชาวเนเธอแลนด์ ประเทศคู่สงครามเมื่อกว่า ๓๕๐ ปีที่ผ่านมา พอถึงเวลา “เช็ค (เดอะ) บิล” ก็จะเรียกว่า “Going Dutch” หรือ ” Dutch treat” ในความหมายของ “ต่างคนต่างจ่าย” หากเป็นคนไทยก็โยนไปให้กับมหามิตรว่า “อเมริกันแชร์” เช่นเดียวกับคนในทวีปอเมริกาใต้หลายประเทศก็ใช้คำว่า “จ่ายแบบอเมริกัน” ชาวตุริกีโยนความตึ๋งหนืดไปให้กับคนเยอรมันเป็น “เยอรมันแชร์”, ชาวอาร์เจนตินาโยนภาระนี้ย้อนกลับในในยุคกลางว่า “จ่ายอย่างชาวโรม” แล้วคนอียิปต์โยนกลับไปให้คนอังกฤษเป็น “จ่ายอย่างอังกฤษ” ครับ
สำหรับคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยจากภูมิลำเนาต่าง ๆ เราเคยชินกับวัฒนธรรมไม่แบ่งแยกกันจ่าย ในเวลาเข้าไปกินอาหารตามร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อาวุโสด้วยอายุ หรือหน้าที่การงาน หรือผู้มากกว่าด้วยทุนทรัพย์รับเป็นเจ้ามือ หรือถ้าเป็นข้าราชการก็จะเป็นหน้าที่ของพ่อค้าวาณิชรับหน้าที่เลี้ยงดูปูเสื่อครับ
พฤติกรรมเยี่ยงนี้เราจะไม่เห็นในออสเตรเลีย เวลาชาวออสซี่นัดไปกินอาหาร พอกินเสร็จแล้ว ถึงเวลาจ่ายเงินก็ตัวใครตัวมัน ใครสั่งกินอะไรไปก็ต้องจ่ายตามที่สั่งกิน เรื่องนี้เจ้าของร้านอาหารน่าจะรู้ดีกว่าผม มิฉะนั้นบางร้านคงไม่เขียนป้ายตัวโตว่า “ไม่รับแยกบิล”
เมื่อหลายปีก่อน หลานชายคนรอง และหลานคู่แฝดถูกส่งมาเรียนภาษาอังกฤษในช่วงปิดเทอมใหญ่กับบริษัททัวร์ ผมได้โทรศัพท์เชิญครอบครัวที่รับเอาหลานคู่แฝดไปดูแลมารับประทานอาหารค่ำที่ร้านคุณหมอน ตอนนั้นร้านอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟคาร์รามาร์ เพื่อเป็นการตอบแทนที่เลี้ยงดูหลานแฝดของผมเป็นอย่างดีด้วยบะหมี่สำเร็จรูป “มาม่า” แทบทุกมื้อ ตามคำขอของหลานที่ทนกินสปาเก็ตตี้ทุกวันไม่ไหว ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตอบมาทันทีว่าพวกเขาไม่มีงบประมาณที่จะทำอย่างนั้นได้
ขออนุญาตหยุดพักขั้นเวลาสักหนึ่งย่อหน้าครับ…เพื่ออธิบายถึงการอยู่อย่างออสซี่ ครอบครัวชาวออสซี่โดยเฉลี่ยเขาจะควบคุมงบประมาณรายจ่ายของเขาอย่างลงตัว เพื่อให้อยู่รอดได้ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน และแต่ละปี ต่างจากคนไทยโดยเฉลี่ย ที่ต้นเดือนถือเป็นวันเงินเดือนออก พอวันที่ ๕ ก็เป็นวันปลายเดือน เพราะใช้เงินหมดแล้ว ที่เหลืออีก ๒๕ วันก็เที่ยวกู้หนี้ยืมสินต่อไป คนออสเตรเลียไม่มีอะไรต้องอาย ที่จะบอกว่าไม่มีงบที่จะออกมาร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วย
ขอกลับเข้าเรื่องต่อ พอผมบอกว่า ผมเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่าย เขาก็บอกว่า เขามีลูกอีกสองคน ผมก็บอกว่า ไม่มีปัญหาเพราะตั้งใจเชิญมาทั้งครอบครัว
ผมมาเจอปัญหาเดียวกัน ตอนเชิญแฟมิลี่ที่ดูแลหลานชายคนรอง แล้วก็จบลงที่ผมเชิญทั้งครอบครัวเหมือนกัน รวมถึงเด็กนักเรียนไทยอีกคนหนึ่งที่อยู่กับครอบครัวนี้
ทีนี้ข่าวกระจายไปถึงเด็กไทยที่มากลับทัวร์เดียวกันอีกประมาณเจ็ดแปดคนไม่อยากกินอาหารกับแฟมิลี่ ผมเลยเชิญเด็ก ๆ และครูที่บริษัททัวร์จ้างมาทำหน้าดูแลเด็ก แล้วก็เชิญคนขับรถมาด้วย คนขับรถชื่ออัลลัน ผมได้ทำความรู้จักในช่วงที่เขาทำหน้าที่รับส่งเด็ก ๆ ตามบ้านแฟมิลีไปส่งโรงเรียน คนนี้สำคัญเพราะจะต้องช่วยทำหน้าที่รับส่งเด็กเหล่านี้มาและกลับบ้านแฟมิลี่
อาหารค่ำมื้อนั้นจบลงด้วยทุกคนอิ่มหนำสำราญเป็นที่พอใจ ไม่มี bill-splitting เพราะผมเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นได้หน้าไปหลายนิ้ว ด้วยเงินกงสีจากเมืองไทยครับ
@@@@
ระบบ “ต่างคนต่างจ่าย” ถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุชาวออสซี่ ในการเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร, คาเฟ่, โรงแรม หรือแม้ได้สิ่งก่อสร้างที่ใช้ร่วมกันเช่นรั้วบ้าน
เมื่อไม่นานมานี้เจ้าของร้านอาหารไทยในย่านบาวล์เมนเกิดปัญหาท่อระบายน้ำเสีย เจ้าของร้านผู้นี้เป็นสถาปนิกมีใบรับอนุญาตด้วย จึงทำการซ่อมท่อระบายน้ำเอง เขาได้ขอให้เจ้าของร้านอาหารเกาหลีที่อยู่ติดกันและใช้ท่อระบายน้ำร่วมกัน ช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แต่เจ้าของร้านอาหารเกาหลีปฏิเสธ โดยอ้างว่าเขาไม่ได้ใช้ เจ้าของร้านอาหารไทยจึงซ่อมเฉพาะส่วนของเขา แล้วปิดท่อน้ำเสีย ที่นี้ความเดือดร้อนก็ย้อนมาสู่ร้านอาหารเกาหลีจอมเขี้ยว ทางระบายน้ำอุดตัน จนน้ำเอ่อเข้าร้าน ต้องไปจ้างช่างมาซ่อม เสียเงินมากกว่าอีกหลายเท่าตัวครับ
ท่านผู้อ่านจะเชื่อไหมครับว่า คนออสเตรเลียรุ่นใหม่ การคำนวณบวก-ลบ-คูณ-หารของพวกเขาอ่อนมาก ผิดกับรุ่นปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าเหล่านี้คิดเลขในใจเร็วระดับน้อง ๆ เครื่องคิดเลข
แต่ก็มีข้อยกเว้น คนรุ่นใหม่พอถึงเวลาคำนวณ แบ่งแยกค่าใช้จ่ายตามบิลเก็บเงินค่าอาหาร พวกเขาชำนาญมาก สามารถแยกแยะออกมาได้ว่าใครกินเข้าไปกี่จานกี่ชิ้น ชนิดชาติอื่นเทียบไม่ได้
อันนี้เหมือนกับคนไทยคนหนึ่งที่ในอดีตเคยทำงานเข็นของส่งตามร้านขายของชำใน ย่านแคบรามัตตา ตอนนี้ไม่ทราบว่ายังอยู่ในออสเตรเลียหรือไม่ เขาผู้นี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่มีความสามารถติดต่อเพื่อใช้บริการของร้านรับพนัน TAB และฟังบรรยายม้าแข่งรู้เรื่องอย่างน่าอัศจรรย์ ผมเองยังฟังไม่ออกเลยครับ
ก่อนจบตอนนี้ ผมมีเรื่อง “ต่างคนต่างจ่าย” ของชาวออสซี่ที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ตเรื่องหนึ่ง ขออนุญาตแปลแล้วต่อเติมเสริมแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่าเรื่อง… เรื่องนี้มีอยู่ว่า
“เพื่อนรัก ๖ คนได้นัดพบกัน และตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในย่านนิวทาวน์ การพบปะสังสรรค์คืนนั้นจบลงด้วยดี บรรยากาศสวยงาม อาหารอร่อย และราคาย่อมเยาว์ แล้วในที่สุดบิลเรียกเก็บเงินก็ถูกแนบแฟ้มใส่ถาดเงินใบเล็กมาวางที่โต๊ะ
บิลเก็บเงินได้ถูกส่งผ่านไปให้ทุกคนได้ศึกษา ทบทวนความทรงจำ แล้วส่งให้ผู้ทำหน้าที่ชี้ขาด ตอนนี้ทุกคนไม่มีใครพูดคุยกัน ทุกคนเฝ้าคอยคำตอบ ในที่สุดก็ออกมา
‘คนละ ๑๘ เหรียญ’
ขอฟันธงตรงนี้ได้เลยว่าบริกรสาวสวยประจำร้านจะยังไม่ได้รับการลงขันจ่ายเงินจำนวนนั้นจากทุกคน เนื่องจากจะต้องมีการคัดค้านเกิดขึ้น แล้วก็เป็นจริง
‘ฉันไม่ได้กินทอดมัน’
‘แต่เธอกินน้ำแร่นะ’
‘ผมกินหมูไม่ได้ แน่นอนผมไม่ได้แตะเจ้าลาบจานนั้น’
‘ฉันกินผัดไทยของฉันแค่ครึ่งเดียว’
‘แต่ผมเห็นคุณกิน ส้มตำปูนะ’
‘ผมไม่ได้สั่งปลาดุกฟูแน่นอน’
หลังจากถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอจนได้ข้อสรุป ทุกคนเอาเงินส่วนที่ได้กินออกมาว่างบนถาด ผู้ทำหน้าที่ตัวแทนนับเงิน เสร็จแล้วพูดว่า
‘ขาดไป ๔ เหรียญ’
‘ไม่ใช่ฉันแน่’
‘ไม่ใช่ผมเช่นกัน’
‘ผมก็เปล่า’
‘ฉันให้แบ๊งก์ ๒๐ ยังไม่ได้ทอนเลย’
ความเงียบเกิดขึ้นอีก ๘ วินาที ก่อนที่ผู้ทำหน้าที่ตัวแทนเอ่ยขึ้น
‘เราต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ ๘๐ เซนต์’
ทุกคนเอาเงินออกมาจ่ายเพิ่มเติม ก่อนจากไปด้วยอารมณ์หงุดหงิดเล็กน้อย โดยไม่ทิ้งค่าทิปไว้แม้แต่เซนต์เดียว.!.”
Categories: บทความ ตามใจฉัน
Leave a Reply