ตามใจฉัน “เดอะแลนด์ลอร์ด” ตอน ๑๕ / ตอนอยู่อย่างออสเตรเลีย ตอน ๒ เป็นตอนที่ ๖๐๘ ของไม้ซีกขีด เขึยนลงในหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ฉบับที่ ๖๐๘ วันที่ ๕ ถึง ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ส่วนหลัง ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับผู้กำลังจะเดินทางไปอยู่ในประเทศที่เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เหมือนอย่างออสเตรเลียในขณะนี้ เนื้อหามีดังนี้ครับ
หนาวเนื้อหม่ผ้าก็หายหนาว
ออสเตรเลียตอนนี้อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง อากาศบางวันเย็นยะเยือกราวกับหน้าหนาว ญาติ ๆ ที่เมืองไทยบอกว่าที่นั่นอากาศ “ร้อนจนตับแตก” เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯแทบจะไม่มีบ้านหลังไหนใช้ตับจากมุงหลังคากันแล้ว เห็นที่ควรเปลี่ยนมาใช้ “ร้อนจนกระเบื้องแตก” แทนน่าจะเหมาะกว่า
อยู่อย่างออสซี่..ผมขออนุญาตพูดถึงการรับมือกับอากาศร้อนและอากาศหนาวในออสเตรเลีย จากประสบการณ์ดูแลหลาน ๆ และลูกบ้านในฐานะเดอะแลนด์ลอร์ด
เมื่อครั้งที่หลานสาวสุดที่รัก (ผมมักเรียกเธออย่างนี้) ตกลงแน่แล้วว่าจะมาเรียนต่อที่ออสเตรเลีย พี่สาวของผมซึ่งเป็นบิ๊กบอสของครอบครัว บอกให้ผมติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้รอรับ เพราะหลานสาวชินกับการนอนเปิดแอร์ ถ้าไม่เปิดเป็นนอนไม่หลับ
ส่วนผมนั้น ตั้งใจแล้วว่าอย่างไรเสียก็จะไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะอยู่บ้านหลังนี้มาสิบกว่าปีก็อยู่ได้อย่างสบายมาก ทั้ง ๆ ที่ผมเป็นคนขี้ร้อน แต่ผมก็ไม่เคยมีปัญหากับอากาศร้อนในซิดนีย์ แม้ในฤดูร้อนบางวันอุณหภูมิจะสูงถึงเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียสก็ตาม การรับมือกับอากาศหนาวหรือร้อนมันขึ้นอยู่กับใจและวิธีการครับ
@@@@
คนไทยหลายคน มาออสเตรเลียเจออากาศหนาว หลายคนคิดหาทางออกแบบง่าย ๆ คือเปิดฮีตเตอร์ก็หายหนาว แล้วก็กลายเป็นทาสของฮีตเตอร์ เจออากาศหนาวก็ทนไม่ได้เป็นต้องเปิดฮีตเตอร์
หัวข้อนี้น่าจะเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับคนไทยที่จะไปอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาว ที่ผมใช้สำเร็จมากับตัวเองและหลาน ๆ
ผมจะบอกหลาน ๆ ว่า ลองทนกับอากาศหนาวดูก่อน ถ้ารู้สึกหนาวก็เอาเสื้อกันหนาวมาใส่ให้อุ่น เวลานอนก็ห่มผ้านวมหนา ๆ คลุม แต่ถ้าทนไม่ได้ ก็เปิดฮีตเตอร์ เพราะทุกห้องมีจัดไว้พร้อมอยู่แล้ว
หลานผมทั้งสี่คน กับว่าที่หลานสะใภ้ และหลานที่มาจากลูกพี่ลูกน้องอีกสองสามคนที่เคยมาอยู่ในความดูแลของผม ทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งฮีตเตอร์ ทุกคนกลับรู้สึกอึดอัด เนื้อตัวแห้ง คัน และพาลไม่สบายเอาเมื่อเข้าไปอยู่ในห้องที่เปิดฮีตเตอร์ นอกจากนี้พวกเขายังได้เปรียบกว่าทุกคนยามออกนอกบ้านไปไหนมาไหน เพราะสามารถรับมือกับความหนาวเย็นได้ดีกว่าคนที่ต้องพึ่งฮีตเตอร์
การไม่พึ่งฮีตเตอร์ยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าในซิดนีย์ที่มีอัตราสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นคนดีของโลกต่อการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และลดอันตรายจากอุบัติเหตุไฟไหม้อีกด้วย
ผมเคยมีลูกบ้านคนไทยคนหนึ่ง เธอเป็นคนขี้หนาวเลยลากฮีตเตอร์เขาไปติดเตียงนอน ขณะหลับเกิดสะบัดผ้านวมคลุมฮีตเตอร์โดยไม่รู้ตัว จนเกิดไฟไหม้ผ้านวม ดีที่มาเรียช่วยปลุกให้เธอตื่นขึ้นทัน มิฉะนั้นอาจจะมีโศกนาฎกรรมเกิดขึ้น
และผมก็ถือเป็นแลนด์ลอร์ดที่โชคดี ที่ระยะหลัง ๆ มีลูกบ้านไม่นิยมใช้ฮีตเตอร์กันแทบทุกคน ทั้งที่ผมไม่เคยแนะนำให้ลองอยู่โดยไม่ใช้ฮิตเตอร์อย่างที่แนะนำหลาน ๆ “ไอ้น่ารัก” สาวชาวจีนที่อยู่กับผมมาหกปี ก็ไม่ใช้ฮีตเตอร์, “ไอ้แห้งสอง” สาวเปอร์เซียนักศึกษาเภสัชศาสตร์ซึ่งมาเป็นลูกบ้านในช่วงสั้น ๆ ของฤดูหนาวปีที่ผ่านมาก็ไม่ใช้ฮีตเตอร์ “ไอ้เสงียม” สาวชาวจีนที่มาเรียนในช่วงปี ๒๐๐๙ ถึง ๒๐๑๐ ใช้ฮีตเตอร์เพียงเปิดให้ห้องอุ่นประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน เพราะไอ้เหงี่ยมเธอเป็นสาวเจ้าสำอางกลัวผิวขาวนวลจะเสีย แล้วก็ไอ้คานะจังสาวชาวญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างปี ๒๐๐๘ ถึงปี ๒๐๑๑ ใช้ฮีตเตอร์นิดหน่อย ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพผิวเช่นเดียวกับไอ้เหงี่ยม
(เนื้อหาตอนนี้จิงโจ้นิวขอตัดออก เป็นการเอ่ยถึงบุคคลที่สาม หากผู้ถูกพาดพิงได้อ่านจะทราบทันทีว่า เป็นผู้ถูกพาดพิง)
สำหรับผมแล้วเรื่องไฟฟ้า แก๊ส น้ำประปา ผมไม่ขี้เหนียว ใครอยากใช้ก็ใช้ได้เต็มที่ แต่ก็อยากสอนให้พวกเขารู้จักหลักการอยู่อย่างพอเพียง เงินค่าเช่าที่ผมเก็บจากลูกบ้าน ผมเอามาใส่กระป๋อง แล้วเอาเงินส่วนนี้มาจับจ่ายซื้ออาหารมาทำให้พวกเขากินกัน หากเหลือก็พาไปกินของอร่อยตามร้านอาหารต่าง ๆ ถ้าเหลือมากก็จัดไปเที่ยว หรือไม่ก็คืนกำไรกลับไปให้คนที่สมควรได้รับ ด้วยการให้อยู่ฟรีเป็นสัปดาห์ ๆ ไป ซึ่งไอ้น่ารักจะได้โบนัสบ่อย ๆ เป็นการตอบแทนจากการช่วยประหยัดรายจ่าย และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลก ส่วนใครใช้ทรัพยากรสุรุ่ยสุร่าย ผลตอบแทนก็จะไม่มี เพราะได้ใช้เกินคุ้มไปแล้วครับ
@@@@
ภาพแสดงในขณะที่อุณหภูมิภายนอก ๓๘ องศา บ้านที่ติดตั้งฉนวนกันความร้อน ภายในตัวบ้านจะมีอุณหภูมิ ๒๔ องศา แต่บ้านที่ไม่ติดตั้งจะมีอุณหภูมิ ๓๖ องศา
ภาพบ้านที่ติดตั้งฉนวนกันความร้อนอย่างดี ในฤดูร้อนภายนอกอุณหภูมิ ๓๕ องศาขึ้นไป หรือฤดูหนาว ภายนอกอุณหภูมิติดลบ ๕ องศา แต่ภายในคงอุณหภูมิที่ ๒๑ องศา
เรื่องเครื่องปรับอากาศที่ถูกขอให้ติดตั้งให้หลานสาวก็เหมือนกัน เป็นเรื่องผู้ปกครองที่เมืองไทยเกิดวิตกจริตไปเอง หลานสาวสุดที่รักของผม ไม่บ่นใด ๆ เธอสามารถนอนหลับปุ๋ย ในห้องที่ไม่มีแอร์ หากร้อนเธอก็เปิดพัดลมนอนเท่านั้น
ก่อนที่เธอจะมาเรียน ผมมีแผนที่จะดัดนิสัยคุณหนูของหลานสาว ตามเสียงร่ำลือ แต่ก็ผิดคาด สรุปได้ว่าผู้ใหญ่ทำให้เด็กเป็นอย่างนั้นไปเอง ที่ซิดนีย์หลานสาวของผมกินอยู่ง่าย ไม่เรื่องมากในเรื่องอาหารการกิน ผิดกับหลานชายคนรองและว่าที่หลานสะใภ้ที่เลือกกินและปฏิเสธไม่กินอาหารซ้ำมือ เธอไปเรียนหนังสือเอง โดยผมไม่ต้องคอยขับรถไปรับไปส่ง อยู่บ้านก็ช่วยทำความสะอาดบ้าน รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งก่อนมาเธอบอกว่าไม่ขอทำ แต่เมื่อมาถึงเห็นทุกคนทำได้ เธอก็ต้องทำได้ แถมยังไปทำงานร้านอาหารไทย เอาประสบการณ์ไปอวดเพื่อน ๆ อีกด้วย
อยู่อย่างออสเตรเลีย เราสามารถอยู่อย่างสบายในฤดูร้อนโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศให้เกิดมลพิษต่อโลก อย่างบ้านผมเป็นบ้านอิฐคู่ ผมติดตั้งตัวระบายอากาศบนหลังคา มันได้ช่วยระบายความร้อนภายในบ้านออกไป ผมติดตั้งฉนวนกันความร้อนชนิดคุณภาพดี ในเวลากลางวันที่มีอุณหภูมิภายนอกสูงระดับ ๔๐ องศา หากปิดประตูหน้าต่าง ภายในบ้านร้อนที่สุดจะไม่เกิน ๒๘ องศา การเปิดพัดลมจะช่วยผ่อนคลายความร้อนลง พอตกกลางคืนก็เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้ลมพัดเอาความเย็นข้ามา
แต่โดยเฉลี่ยยามหน้าร้อน อุณหภูมิภายในบ้านของผมจะตกราว ๒๒ ถึง ๒๔ องศา ถือว่าไม่ร้อนมาก และอาจกำลังพอดีเสียอีกสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่สำหรับผมคนขี้ร้อน อุณหภูมิขนาดนี้ ผมยังต้องพึ่งพัดลม..ระดับความแรงอ่อน ๆ แค่นี้ก็อยู่อย่างสบายในหน้าร้อน โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ…….พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
Categories: บทความ ตามใจฉัน
Leave a Reply