หมายเหตุ ไม้ชีกขีดได้เขียนเรื่องผีในออสเตรเลียลงในหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ทั้งสิ้น ๒๑ ตอนด้วยกัน ตอนที่นำมาลงเป็นตอนที่ ๒๐ ลงในนสพ.ฉบับที่ ๖๐๗ วันที่ ๒๗ มีนาคม ถึง ๙ เมษายน ๒๐๑๓ เนื่องจากเนื้อหายาวกว่าปกติ จิงโจ้นิวส์จึงของแบ่งออกเป็นสองตอนครับ
สวัสดีครับ..ท่านผู้อ่านที่เคารพรัก.. ฉบับนี้กองบอ.กอ.มีเหตุฉุกเฉินต้องเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง จึงขอปิดต้นฉบับเร็วกว่าปกติถึง ๔ วัน บังเอิญผมมีตารางแผนงานเต็มเหยียด ฉบับนี้เลยต้องหาเรื่องฉุกเฉินเป็นการด่วนจี๋ จำต้องพึ่งเรื่องลึกลับในออสเตรเลียอีกครั้ง หนนี้ผมท่องอินเทอร์เน็ตไปจับผี.. ได้ไม่ไกลจากซิดนีย์ คือที่ “ไกแอมา” สถานที่ท่องเที่ยวโปรดแห่งหนึ่งของผม อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางใต้แค่ ๑๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น
ข้อมูลผีที่จะเอามาเสนอท่านผู้อ่านตนนี้มีเพียบ จากหลายสิบแห่งที่แตกต่างกัน แต่เวลามีไม่มาก จึงขออนุญาตเอามาแค่สี่ข้อมูลเท่านั้น โดยเฉพาะต้องขอชมเชยเทศบาลและห้องสมุดไกแอมาที่มีข้อมูลให้ค้นคว้าเพียบเลยครับ
ก่อนอื่น.. ถือเป็นธรรมเนียม ที่จะต้องมีการแนะนำให้ท่านรู้จัก “ไกแอมา” กันก่อนครับ ไกแอมา ถือเป็นนครภิบาล ปกครองภายใต้เทศบาลไกแอมา มีชื่อเขียนตามอักษรโรมันว่า “Kiama” ออกเสียงอย่างทางการว่า “kaɪˈæmə” ถอดเป็นเสียงภาษาไทยที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็น “ไก-แอเมะ” ครับ ภาษาเขียนมีทั้ง เกียมา, เคียมา, ไกอะมา, ไกอามา และอื่น ๆ ในที่นี้ผมจึงขอเขียนอย่างกลาง ๆ ว่า “ไกแอมา” ครับ
เมืองไกแอมามีประชากรประเมินเอาเองจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี ๒๐๐๖ ตอนนี้น่าจะออกมาประมาณ ๑๔,๐๐๐ คน (ผมไม่มีเวลาเข้าเว็ปสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อหาตัวเลขล่าสุด) ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทไปเช้าเย็นกลับสำหรับชาวซิดนีย์ หรือจะค้างคืนตามโรงแรมหลายสิบแห่ง เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย วันเดียวเที่ยวไม่หมด ภาพไกแอมาโบลว์โฮล์
มีชายหาดหลายแห่ง คลื่นจะแรงสักนิดแต่เหมาะมากสำหรับผู้ที่ชอบเล่นเซิร์ฟ เทศบาลเขายังจัดที่พักคาราวานปาร์ค มีร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์-อัลเฟสโกคาเฟ่ หรือการจัดโต๊ะอาหารนอกตัวอาคารหลายสิบร้าน มีสนามกอล์ฟและสนามกีฬาอื่น ๆ มีสวนสาธารณะ มีสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์
มีภูมิทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ โดยมีจุดท่องเที่ยวที่เป็นพระเอกของไกแอมา ที่แขกเวะเยือนต้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกก็คือน้ำพุโบลว์โฮล์ หรือ Kiama Blowhole และล่าสุดสำหรับท่านที่ชอบเดินสัมผัสธรรมชาติเทศบาลไกแอมาภูมิใจเสนอผลงานการใช้เวลาสร้างสรรค์ถึง ๑๑ ปีจึงเกิด Kiama Coast Walk เส้นทางเดินเท้าชมวิวเลาะชายทะเลระยะทาง ๖ กิโลเมตร เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒) นี้เอง
การเดินทางไปไกแอมาก็แสนสะดวกสบาย จะขับรถไปเองจากซิดนีย์ก็ประมาณชั่วโมงครึ่ง นั่งรถไฟจากซิดนีย์ไปถึงสถานีไกแอมาก็ราวสองชั่วโมงเศษ หรือไปกับรถทัวร์ซึ่งออกจากสถานีเซนทรัลก็ยังได้
@@@@
ภาพความสวยงามของ Cathedral Rocks ที่เกิดจากภูเขาไฟใน Bombo หนึ่งในอีกหลายสิบความสวยงามของไกแอมา
ในด้านประวัติศาลของไกแอมา สถานที่นี้เคยเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อ ๒๔๐ ล้านปีที่ผ่านมา และครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ ๖๖ ล้านปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เมืองตั้งอยู่บนหินบะซอลต์ (หินอัคนีพุ) การทับถมของลาวาทำให้เกิดเนินเขาแซนเดิลแบกเมาน์เทน ( Saddleback Mountain) บนยอดนี้มีจุดชมวิวสูงเหนือระดับน้ำทะเล ๖๐๐ เมตร ถือเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
น้ำพุไกแอมาโบลว์โฮล์จุดเด่นของไกแอมาเกิดขึ้นมาจากการกัดกร่อนของคลื่นที่ซัดเข้าปะทะหินจากภูเขาไฟ จนเกิดเป็นรูเป็นช่อง แล้วด้านบนถูกฝนกัดเซาะเป็นโพรงไปเจอกับรูด้านล่าง แรงอัดของคลื่นพัดเอาน้ำทะเลเข้าไปในช่องพุ่งขึ้นสู่ด้านบนกลายเป็นน้ำพุพุ่งขึ้นออกมา ประสานกับเสียงน้ำทะเลดังคลื่น ๆ กลายเป็นเสียงบรรเลงเพลงอัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้เอง เมืองนี้จึงถูกตั้งชื่อตามภาษาดะระวาล (Dharawal) ของชาวอะบอริจินเผ่าโวดิโวดิ ( Wodi Wodi) ผู้ซึ่งครอบครองพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่องมาหลายพันปีว่า”ไกแอรามา” (kiarama) แปลว่า “สถานที่ที่น้ำทะเลเกิดเสียงดัง” คนอังกฤษพูดอย่างลิ้นคนพื้นเมืองไม่ได้ เสียงเลยแปร่งออกมาเป็น “ไกแอมา” (kiama) ครับ
ชาวเผ่าอะบอริจินที่ไกแอมา ในยุคคนผิวขาวเข้าไปบุกเบิกใหม่ ๆ จะสังเกตเห็นผู้หญิงอะบอริจินในชุดชาวตะวันตก
ในยุคก่อนที่คนผิดขาวมาตั้งหลักแหล่ง พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าฝนขึ้นหนาทึบ และป่าต้นซีดาร์ขึ้นอย่างหนาแน่น
พอคนผิวขาวเข้ามาตั้งรกรากเมื่อสองร้อยปีเศษที่ผ่านมา ไกแอมาถูกเลือกเป็นที่ตั้งเมืองแห่งแรกทางใต้ของซิดนีย์มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่แจมเบอรู ( Jamberoo) ทางตะวันตกของไกแอมา คนกลุ่มแรกที่มาบุกเบิกคือ ผู้อพยพนับถือนิกายแองกลิกันจากไอร์แลนด์เหนือ พวกเขาเข้ามาทำไร่ปลูกข้าวสาลี เนื่องจากดินจากภูเขาไฟเป็นดินอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อข้าวสาลีเริ่มปลูกไม่ได้ผล เกษตรกรจึงเปลี่ยนมาเป็นทำฟาร์มโคนม จนกลายเป็นแหล่งกำเนิดโรงงานผลิตสินค้านมและเนยแห่งแรกของออสเตรเลีย
เหมืองหินบะซอลต์ที่ตำบลบอมโบเมืองไกแอมาในราวปี๑๙๐๐
พลเมืองรุ่นต่อมาของไกแอมาเป็นชาวไอริชนับถือนิกายคาทอลิก พวกเขาเข้ามาทำเหมืองระเบิดหิน เนื่องจากไกแอมามีหินบะซอลต์มากมาย ก้อนหินสีน้ำเงินหรือ blue metal ถูกนำไปทำถนนสายต่าง ๆ ในซิดนีย์ ก้อนกรวดหรือเศษหิน ถูกนำไปสร้างทางรถไฟ พอโลกเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ําครั้งใหญ่ ในราวปี ๑๙๒๙ ถึง ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๗๒ ถึงพ.ศ. ๒๔๘๒) เหมืองหินอัคนีพุทั้งหมดก็ถูกปิดลง
นอกจากเหมืองหินแล้ว ทรัพย์ยากรทางธรรมชาติอันมหาศาลที่เป็นที่ต้องการในการก่อร่างสร้างอาณานิคมก็คือไม้ซีดาร์ เริ่มมีการตัดกันอย่าง “เอาจริงเอาจัง” กันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาณานิคม ไม้ซีดาร์ที่ไกแอมาเป็นไม้ซีดาร์สีแดง ความมีค่าของมัมทำให้ถูกเรียกว่า “ทองคำสีแดง” และที่ผมกล่าวว่าเขาตัดต้นไม้กันอย่างเอาจริงเอาจัง ก็เพราะคนผิวขาวเข้ามาตัดเสียจนเหี้ยนเตียน จากป่าทึบกลายเป็นทุ่งหญ้า ตามปณิธานของชาวอังกฤษที่เข้าไปจัดการบ้านเมืองในเอเชียคือ “เปลี่ยนป่าให้เป็นสวน” และด้วยเหตุของการตัดไม้ซีดาร์นี้เอง ก็คือที่มาของเรื่องผีที่ผมจะเล่าต่อไป ไพลอตส์คอตเตจที่ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์
อาคารไปรษณีย์สีชมพูสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์อันหนึ่งของเมืองไกแอมา ไม่ไกลจากชายหาด Black Beach
แจมเบอรู เป็นศูนย์กลางของเมืองในระหว่างประมาณปี ๑๘๓๐ ถึง ๑๘๗๐ (พ.ศ. ๒๓๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๓) จากนั้นศูนย์กลางของเมืองจึงย้ายมาอยู่ที่ไกแอมา ท่าเทียบเรือไกแอมาฮาเบอร์ได้ถูกเร่งก่อสร้างด้วยการขุดเป็นเวลา ๑๗ ปี เมื่อสร้างเสร็จได้นำความเจริญรุ่งเรื่องมาสู่พื้นที่ บ้านพักชั่วคราวของผู้บังคับกองเรือ หรือ ไพลอตส์ คอตเตจ (Kiama Pilot’s Cottage) ถูกสร้างเสร็จในปี ๑๘๘๑ (พ.ศ. ๒๔๒๔) และประภาคารซึ่งปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองถูกสร้างเสร็จในปี ๑๘๘๗ (พ.ศ. ๒๔๓๐) แล้วยังมีที่ทำการไปรษณีย์สีชมพู อาคารประวัติศาสตร์ของเมืองสร้างเสร็จปีไหนหนอไม่มีเวลาค้นเสียด้วย!
@@@@
ผมปูพื้นเรื่องมาเสียยืดยาว ก็เพราะประเมินเอาว่าฝ่ายข่าวออสซี่ฉบับนี้ จะได้รับผลกระทบจากจำนวนวันรายงานหดหายไป เนื้อข่าวอาจจะน้อยลง ผมจึงขอเข้าไปกินเนื้อที่หน้า ๓๗ เอาไว้ฉบับหน้าจึงจะคืนเนื้อที่หน้ากระดาษให้บ้างเป็นการชดเชยกันครับ
เรื่องของผีที่ไกแอมาถูกบันทึกไว้หลายตน ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะได้แก่เรื่อง “ผีแห่งเดอะเกรน” (The Ghosts Of The Glen) หรือ “ผีแห่งหุบเขา”
เริ่มจากการตัดไม้ซีดาร์ในอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ นับจากปี ๑๘๐๒ (พ.ศ. ๒๓๔๕ ตัวเลขเรียงกันพอดี) การตัดไม้ซีดาร์ในอาณานิคมจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้สำเร็จราชการ แต่ผู้ที่แห่เข้ามาตัดไม้ซีดาร์ที่ไกแอมาร์ในราวปี ๑๘๑๕ (พ.ศ. ๒๓๕๘) ส่วนใหญ่เป็นพวกนักโทษที่ได้รับการปลดปล่อย เข้ามาทำการตัดไม้โดยไม่สนใจว่าต้องได้รับอนุญาตหรือไม่ หลายคนมีนิสัยกักขระและโหดเหี้ยม ซึ่งแตกต่างไปจากอดีตนักโทษที่ไปประกอบอาชีพอื่น ๆ อ่านต่อตอน ๒
เส้นทางจักรยานที่ไกแอมาฮาร์เบอร์
หมายเหตุ อ่านตอน ๒ คลิกที่นี่ “เรื่องลึกลับในออสเตรเลีย…ตอน ๒๐ “ผีคนตัดไม้กับผีชายหัวขาดที่..ไกแอมา” ตอน ๒”
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: บทความ ตามใจฉัน
Leave a Reply