เดอะแลนด์ลอร์ด ตอน ๑๔ ตอน อยู่อย่างออสซี่ ตอน ๑

Screen Shot 2014-05-18 at 1.32.26 AMหมายเหตุ บทความตามใจฉัน ของไม้ซีกขีดตอนนี้เป็นตอนที่ ๖๐๗ ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ฉบับที่ ๖๐๗ ประจำวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ถึง ๔ มิถุนายน ๒๐๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖) ครับ607Tamjai-Sydney

 ซิดนีย์เมืองที่ผมไม่ได้ตั้งใจมา พอได้มาเลยอยู่ยาว 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก..ในฉบับนี้ผมขออนุญาตสนองตามคำขอของท่านผู้อ่านทางอินเทอร์เน็ต ขอมาเมื่อราวสี่ห้าเดือนก่อน ที่ต้องการอ่านเรื่องราวการใช้ชีวิตในออสเตรเลีย ผมจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะขอเริ่มในฉบับนี้เลย   โดยขอแทรกให้เป็นส่วนหนึ่งของ “เดอะแลนด์ลอร์ด” เพราะไม่ต้องการที่จะแตกหัวข้อออกมาตั้งเรื่องใหม่อีก

 แล้วที่นี้จะเริ่มเรื่องอย่างไรล่ะ!.. เอาเป็นว่าขอเริ่มจากประสบการณ์ของผมตั้งแต่เข้ามาอยู่ในออสเตรเลียก็แล้วกัน.. ภายใต้เงื่อนไขว่า   ผมยังขอความเป็นส่วนตัวเหมือนเดิม เพราะการเอาเรื่องตัวเองมาเขียนโดยเปิดเผยตัวดูจะเป็นการโฆษณา หรืออีกมุนหนึ่งคือ ประจานตัวเองครับ

 @@@@

 ทีนี้จะเริ่มเรื่องตอนไหนดี..นะ ผมขออนุญาตย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังทำงานในเมืองไทย ตอนนั้นตำแหน่งหน้าที่การงานของผมอยู่ในขั้นดี มีลูกน้องเก่ง ๆ ระดับ เกียรตินิยมหรืออย่างน้อยก็สามกว่า ๆ ทั้งนั้น

มีเลขาส่วนตัวพิมพ์ดีดรัวด้วยความเร็วกว่าหกสิบคำต่อนาที เธอพูดภาษาอังกฤษเป็นไฟ ส่วนเจ้านายพูดได้แค่สเน็ก ๆ ฟิช ๆ เท่านั้น   เวลาเจอฝรั่งยังต้องหลบมุม เพราะกลัวเขาจะมาคุยด้วย

ผมก้าวเป็นหัวหน้าเพื่อน ๆ ในวัยใกล้เคียงกัน เพราะผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน โดยสำคัญผิดคิดว่าผมเก่ง   บริษัทที่ผมทำงานเป็นบริษัทในเครือ ที่มีนโยบายรับเด็กจบจากมหาวิทยาลัยมาแข่งขันกันเอง ถึงคราวใดที่มีการขยายบริษัทใหม่ก็จะดึงคนหนุ่มสาวเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในฝ่ายบริหารและคอยเป็นหูเป็นตาให้กับส่วนกลาง

บรรดาเพื่อนร่วมงานไฟแรงแถมมอดช้าพวกนี้แหละ   มีความทะเยอทะยานอันกระเจิดกระเจิง   ความฝันหนึ่งของพวกเขาก็คือการไปเรียนต่อต่างประเทศ   พวกเขาจะแสวงหาสถานที่ศึกษาในต่างประเทศ มีงานแนะแนวการศึกษาต่อที่ไหนเป็นต้องไปทุกครั้ง ส่วนผมไม่เคยไปกับเขาเลย ให้ตายสิ!

หัวข้อไปเรียนต่อเมืองนอกจึงเป็นหัวข้อยอดนิยมที่ถูกนำมาพูดกันบนโต๊ะอาหารเที่ยง   หรือในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่พวกเขามีโอกาส และก็คุยกันซ้ำซากอยู่นั่นแหละ   สำหรับผมมันน่าเบื่อเสียนี่กระไร

จุดหักเหแห่งชีวิตของผมอยู่ที่แผ่นกระดาษขนาด เอ. ๔ สีเหลืองที่พวกเขาหรือเธอทิ้งไว้บนโต๊ะห้องประชุมของวันหนึ่ง   มันเป็นใบโฆษณาเรียนต่อที่ออสเตรเลียของบริษัทไทย-ออสอินเตอเนชั่นแนลครับ

ชีวิตผมเหมือนเดินตามลิขิต เมื่อครั้งเลือกเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ไม่ได้เลือกเรียนในคณะที่ผมชอบ เมื่อวัยเด็กทุกครั้งที่ไปเยี่ยมตาที่จังหวัดสมุทปราการ แม่จะพาผมลงเรือหางยาวที่ท่าเรือวัดชะลอมาขึ้นที่ท่าช้าง   แล้วขึ้นรถประจำทางสีส้มสาย ๒๕ ท่าช้าง-ปากน้ำของบริษัทเอกชน เส้นทางเดินรถจะต้องผ่านหน้าจุฬาฯทุกครั้ง   และทุกครั้งที่ผ่านจิตสัมผัสของผมก็อยู่กับคณะนี้   ทั้งที่ใจจริงผมอยากเรียนคณะสถาปัตย์เป็นที่สุด   พอจบม.ศ. ๕ จึงเลือกคณะนี้ เป็นอันดับหนึ่ง   แล้วก็โชคช่วยที่สามารถสอบเข้าได้

ขออนุญาตย้อนกลับมาที่กระดาษ เอ. ๔ ของบริษัทไทยออสฯก็เหมือนกัน มันสะกิดใจ   ทำไมมันถูกทิ้งโดด ๆ ไว้บนโต๊ะ   ถ้าไม่ต้องการแล้วทำไมไม่ทิ้งถังขยะ   จึงหยิบขึ้นมาดู   ผมเจอมันในช่วงที่เบื่อหน่ายงานมากที่สุด เป็นช่วงแห่งการตัดสินใจครั้งใหญ่ ประเภทอยากก้าวหน้าต้องฆ่านาย (หมายถึง เลื่อยขาเก้าอี้คนที่มีบุญคุณสอนงานผมมาน่ะครับ) ประกอบกับผมต้องการหลบเลี่ยงเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่อยากเป็นเพื่อนสนิทต่อไป เธอคนนี้มีหน้าตาน่าสะสวย อันนี้ผมวัดจากจำนวนคนที่มารุมจีบเธอ   แถมรวยทรัพย์อีกต่างหาก   แต่ผมก็ไม่เคยคิดกับเธอเกินเลยกว่าความเป็นเพื่อน ให้ตายสิ!

รู้สึกจะเป็นวันนั้นเลยที่ผมขับรถไปยังสำนักงานไทยออสฯ   ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นอยู่แถว ๆ สถานีขนส่งสายเหนือเก่า ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน    เพื่อติดต่อมาเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย     ทั้งที่เรื่องเรียนต่อต่างประเทศไม่เคยอยู่ในความคิดแม้แต่นิดเดียว

แต่เรื่องออสเตรเลียประเทศที่ถูกระบายสีชมพูในสมุดแผนที่โลก   มันสัมผัสใจผมมาตั้งแต่เด็กแล้ว นี่ก็คือจุดเริ่มต้นแห่งโชคชะตาที่ได้ลิขิตให้ผมมาอยู่ยาวในออสเตรเลียอย่างไม่ตั้งใจ

ส่วนเพื่อนร่วมงานที่ใฝ่ฝันอยากไปเรียนต่อในต่างประเทศไม่มีใครได้ไปเรียนต่อประเทศไหน   ปัจจุบันหลายคนได้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน บางคนเรียนต่อภายในประเทศจนพิมพ์นามบัตรมีคำว่า ดร. นำหน้าชื่อ   ก็แสดงว่าพวกเขาเลือกงานและยังไม่ทิ้งความทะเยอทะยานในการศึกษาหาความรู้

 @@@@

ทีนี้ผมมาถึงออสเตรเลีย..   จะถ่วงเวลาออกนอกเรื่องต่อไปไม่ได้อีกแล้ว… ผมขออนุญาตเริ่มตรงที่ผมมาถึงออสเตรเลียในเดือนสิงหาคมปี ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐) เป็นช่วงที่ออสเตรเลียเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปีแห่งการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของคนผิวขาวพอดี

คุณสุรศักดิ์ ดวงรัตน์ผอ.ไทย-ออสเป็นผู้มารับผมจากสนามบิน แล้วพามายังสำนักงานของคุณวิชิตภายในอาคารของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ หรือ HSBC แถวไซน่าทาวน์   คุณวิชิตเป็นนักธุรกิจการลงทุนเชื้อสายไทย-จีน มีฐานอยู่ในฮ่องกง มีสำนักงานอยู่ในซิดนีย์ และมีบ้านพักราคาเลขแปดหลักอยู่ริมอ่าวซิดนีย์

คุณสุรศักดิ์พาผมมาที่สำนักงานคุณวิชิต   เพื่อรอเวลารับพี่ใหญ่ (คุณราตรี ดวงรัตน์) ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่ที่บริษัทเบิร์นฟิลลิปส์

607Tamjai-615 Georeg street ร้านก๋วยเตี๋ยวมินห์ไฮ จาก Google Map

อาหารมื้อกลางวัน (มื้อบ่าย) และเป็นมื้อแรกของผมในออสเตรเลียคือ ก๋วยเตี๋ยวที่ร้านก๋วยเตี๋ยวมินห์ไฮ ปัจจุบันอยู่ตรงเยื้องหัวมุมถนนจอร์จกับถนนโกลเบิร์น ร้านนี้เป็นร้านอาหารเวียดนาม   แต่ร้านดั่งเดิมที่ผมกินอยู่ฝั่งตรงกันข้าม เขาย้ายข้ามฝากมาอยู่ที่ปัจจุบันเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องข้าวไก่ฉีกเค็ม ยามที่ผมเข้าไปกินเพื่อสัมผัสกลิ่นอายอดีต   ผมจะสั่งกินอย่างอื่น ไม่สั่งไก่ฉีกเค็มกิน เพราะไก่คุณนายหรือชิกเก้นเฮเลนฝีมือผมซึ่งมีหน้าตาคล้ายกัน แต่รสฝีมือของผมอร่อยกว่า คือเหตุผลครับ

อยู่อย่างออสเตรเลียสัมผัสแรกที่ผมได้รับในวันแรกของการใช้ชีวิตในออสเตรเลียก็คือ ก๋วยเตี๋ยวที่ออสเตรเลียชามใหญ่มาก ตอนนั้นมันใหญ่จริง ๆ แม้ปัจจุบันขนาดจะเล็กลง     แต่ราคามันไม่เล็กลงตามขนาดที่ย่อลง เพราะเป็นไปตามกฎของเงินเฟ้อที่ว่า “ของหด ราคาเพิ่ม”   ตอนนั้นจานใหญ่เบ่อเร่อราคาไม่ถึง ๕ เหรียญ แต่ตอนนี้จานเล็กลงราคา ๑๐ เหรียญขึ้นไปครับ

607Tamjai-big Mac บิ๊กแมคขนาดปัจจุบัน เทียบกับบิ๊กแมคขนาดดั่งเดิมที่จำลองขึ้นมา

สมัยเมื่อยี่สิบปีก่อนอาหารสั่งกินออกมาในรูปแบบจานใหญ่ชามโตทั้งนั้น   จนอยากถามกลับไปว่า “ทำให้คนกินหรือ?”

แม้แต่บิ๊กแมคของร้านในเครือแมคโดนัลด์ ก็เป็นแฮมเบอร์เกอร์ก้อนใหญ่โตสมชื่อ  ไม่ได้เป็นบิ๊กแคระเหมือนปัจจุบัน ที่ขนาดของมันลดมาจากเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ราคาไม่ลดลง

สำนักงานใหญ่งัดเอาเรื่องหลักโภชณาการมาอ้าง ว่าด้วยเรื่องของหน่วยวัดแคลอรี ถ้าให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องเรียกเป็นกิโลจูล ในการลดขนาดบิ๊กแมคลงมา

ขนาดของบิ๊กแมค เคยเกิดเรื่องให้เห็นกับตาหลานชายคนโตของผม เขามาเล่าให้ฟังว่า   นักท่องเที่ยวอเมริกันถึงกับหัวเสีย เมื่อเขาสั่งบิ๊กแมคมากินในซิดนีย์   ปรากฎว่าได้บิ๊กแคระมาแทน   เขาโวยวายใหญ่   แต่ก็ไม่ก่อปัญหามากกว่านั้น นอกจากกลับไปเข้าคิวสั่งมากินอีกหนึ่งชุด   เป็นที่เข้าใจว่า ตอนนั้นในรัฐที่เขาจากมาบิ๊กแมคยังมีขนาดใหญ่อยู่   เมื่อมาเจอบิ๊กแคระแกรนเข้าเลยมีน้ำโห

เรื่องขนาดย่อส่วนของบิ๊กแมค เคยถูกรายการ A Current Affair ทางทีวี ๙ เอาไปยำเละมาแล้วในปี ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) รูปที่ผมเอามาลงก็มาจากเว็บไซท์ของเขาครับ

อยู่อย่างออสซี่ ในเรื่องของอาหารในยุคเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของนมสด ลิ้นคนไทยอาจไม่รับรู้ถึงความแตกต่าง   แต่ผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกและอเมริกาใต้รับทราบถึงความแตกต่างนี้ดี สิ่งที่พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ    เมื่อดื่มนมออสเตรเลียครั้งแรก พวกเขาสัมผัสถึงความอร่อยของมัน อย่างไม่เคยลิ้มลองมาก่อน      ผมไม่เคยเดินทางไปประเทศเหล่านั้น   เลยไม่ทราบว่านมสดในประเทศที่พวกเขาจากมารสชาติห่วยเพียงใด แต่เดาเอาว่า ในช่วงที่ประเทศของเขาประสบปัญหา   นมสดที่มีจำหน่ายอาจผสมน้ำจึงรสชาติย่ำแย่

นมสดที่วางขายตามซูเปอร์มาเก็ตในออสเตรเลียมีเกือบ ๒๐ ชนิด ในราคา (ปี ๒๐๑๓) ตั้งต้นที่ ๒ เหรียญไปถึง ๘ เหรียญต่อสองลิตร (ผมชอบซื้อชนิดขวดละ ๒ ลิตร) มีตั้งแต่นมสดทั่วไป หรือ regular milk หรือ full cream milk หรือ whole milk ถือเป็นนมสดที่มีราคาถูกที่สุด แล้วก็มีนมปรุงแต่งชนิดอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA สถานีรถไฟเซนทรัลบริเวณที่จอดรถรางเบา ตอนผมมาครั้งแรก ผมหลงไปออกอีกด้านหนึ่ง 

การเข้าเมืองซิดนีย์ครั้งแรกของผม จำได้ว่าผมลงรถไฟฟ้าที่สถานีเซนทรัล แล้วเดินรอดอุโมงค์ แต่แทนที่จะไปออกทางถนนจอร์จเพื่อเข้าเมือง ผมกลับเดินย้อนไปทางเซอร์รีฮิลส์   ไปได้รับมิตรภาพจากเจ้าของประเทศเป็นแหม่มสาวคนหนึ่ง เธอคงเห็นผมถือแผนที่ ท่าทางเป็น Karen ผลัดถิ่น จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เมื่อเธอทราบจุดประสงค์ว่าผมต้องการเข้าเมือง   เธอจึงบอกว่าผมมาผิดทางและเธอกำลังจะไปทางนั้นพอดี   เธอจึงชวนผมเดินย้อนกลับเข้าเมืองไปกับเธอ   ชาวออสเตรเลียเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ดูจะเป็นมิตรและให้การต้อนรับชาวต่างชาติมากกว่าในปัจจุบัน

 @@@@

 607tamjai-Lee Lin Chin ลี ลิน ชิน ผู้รายงานข่าวของทีวี SBS 

 เมื่อผมมาอยู่ออสเตรเลียใหม่ ๆ ผมคิดว่าผมคงจะรูปหล่อในสายตาสาวออสซี่   เหมือนอย่างฝรั่งที่มองเห็นผู้หญิงไทย คนเดียวกับที่สายตาของหนุ่มไทยด้วยกันมองว่าไม่สวย แต่หนุ่มฝรั่งกลับเห็นว่าสวย

ขอยกตัวอย่างให้ไกลตัวคนไทยสักหน่อยเพื่อกันถูกแอนตี้   ที่เป็นข้อเปรียบเทียบกันได้   ผมเคยมีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง   รู้จักกันเมื่อเกือบสิบปีก่อน   หมอนี่บอกว่า “ลี ลิน ชิน” (Lee Lin Chin) ผู้รายงานข่าวของทีวีเอส.บี.เอส.คือผู้หญิงในฝันของเขา เขามองว่าเธอเป็นผู้หญิงที่สวยจนจับใจเขา   แต่สำหรับผมมองว่าเธอเป็นเพียงผู้หญิงเก่งที่มีความสามารถคนหนึ่ง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของนานาจิตตังครับ

กลับมาเรื่องของผมในวันแรกที่เข้าเมือง   มีสาวออสซี่น่าตาดีเข้ามาทักผมถึงสองคนด้วยประโยคเดียวกันว่า   “Do you have the time?” คนแรกที่ถามเล่นเอาผมตั้งตัวไม่ทัน ได้แต่ตอบว่า “I am sorry, I don’t er! er!” แล้วเธอก็จากไปอย่างผิดหวัง     ในใจผมได้แต่นึกว่า ผู้หญิงออสซี่ทำไมใจช่างกล้านัก   เข้ามาถามผู้ชายว่า “คุณมีเวลาไหม?” หรือ “คุณพอจะมีเวลาบ้างไหม?” ทั้งที่ไม่รู้จักมักจี่กัน

พอเดินถึงเซอร์คิวล่าร์คีย์จะต่อไปยังซิดนีย์-โอเปร่าเฮาส์ก็มีสาวสวยอีกคนเข้ามาทัก “Do you have the time?” อีกแล้ว !!   หนนี้ผมเริ่มฉลาดขึ้น เพราะเวลาหล่อนพูด   เธอไม่ได้สบตาผม แต่เธอหลบสายตาลงมาที่ข้อมือ   ผมจึงถลกแขนเสื้อ แล้วชูนาฬิกาให้ดู แบบไม่แน่ใจ ความหมายของประโยค “Do you have the time?”

เมื่อเธอดูนาฬิกา กล่าวขอบคุณแล้วเดินจากไป   ผมจึงถึงบางอ้อว่า “Do you have the time?” หมายถึง “กี่โมงแล้ว?” ต่างหาก….

ก็ตอนเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย เคยเรียนแค่ “What time is it?” หรือให้สุภาพหน่อยก็ “Can you tell me what time it is?” เอาไว้สำหรับสอบถามเวลา และตั้งแต่มาอยู่ออสเตรเลียได้ยี่สิบกว่าปี ผมไม่เคยถูกออสซี่ชนถามเวลาด้วยประโยคที่ว่า “What time is it?” เลยครับ

ผมเคยมีหนังสือเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมออสเตรเลียเล่มหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่า ตอนนี้ไปอยู่ที่ใด ยังนึกเสียดายอยู่   แต่จำได้แม่นยำว่า หนังสือเล่มนี้อธิบายถึง   “Do you have the time?” หมายถึง การถามเวลาและอ้างว่า “Do you have a time?” หมายถึง “คุณมีเวลาบ้างไหม?” หรือ “คุณพอมีเวลาบ้างไหม?”   แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินใครพูดว่า “Do you have a time?” เหมือนกัน

คนรุ่นใหม่พูดว่า “Do you have time?” หรือ “Do you have a minute?” ซึ่งเป็นภาษาสากลที่หมายถึง “คุณมีเวลาบ้างไหม?” ครับ

เป็นอันว่าอยู่อย่างออสเตรเลียในวันนั้น ทำให้ผมรู้ตัวเองว่า ผมไม่ได้หล่อในสายตาสาวออสเตรเลียครับ

 @@@@

จะว่าไปแล้ว เมื่อครั้งไม้ชีกขีดในวัยหนุ่ม ก็เคยถูกผู้หญิงออสซี่จีบเหมือนกัน   อย่างน้อยสองคนครับ   ที่ผมว่าอย่างน้อยสองคนก็เพราะบางครั้งผมไม่รู้ตัวว่าถูกผู้หญิงจีบ   เพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เคยเล่าให้ฟังเมื่อเวลาผ่านไปว่า   ครั้งหนึ่งเธอก็เคยจีบผม อุตส่าห์ทอดสะพานแล้วทอดสะพานเล่า ผมก็ไม่ยอมข้ามสักที จนเธอต้องเลิกล้มไปแต่งงานมีลูกเต้าแล้ว   จึงกล้ามาเปิดเผยให้ฟัง   แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกเลยว่าถูกเธอจีบ นึกไม่ออกว่าถูกจีบตอนไหน!!

ส่วนสาวออสซี่ที่ผมเข้าใจว่ามาทอดสะพานรักให้ คนแรกเป็นสาวออสซี่ที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว อายุเธอตอนนั้นราว ๒๓ หรือ ๒๔ ปี นับได้ว่าเป็นม่ายสาวพราวเสน่ห์   ผมเคยรู้จักเธอมาก่อนอย่างผิวเผิน ที่เข้าใจว่าจีบเพราะก่อนที่เธอจะเริ่มสนทนาเธอ ได้แสดงกิริยาขวยเขินด้วยการหัวเราะในลำคอนิด ๆ ส่อกิริยาหน้าแดงและยิ้มเขิน ก่อนรับบทฝ่ายรุกส่ง “ซาวม่าย” มาให้ผม   ผู้รับบทฝ่ายรับที่ยังตั้งหลักไม่ถูก   ผมจำไม่ได้ว่าเราพูดอะไรกันบ้าง   แต่รับรู้ได้ว่ากำลังถูกฝ่ายหญิงจีบ

เธอติดต่อมาอีกครั้ง หนนี้ผมตั้งหลักได้พอที่จะพูดไปในเชิงรับไมตรีในฐานะพี่ชายและเพื่อน   จากนั้นเธอก็ไม่ติดต่อมาอีก   ผมทราบจากอดีตสามีของเธอว่า หลังจากนั้นไม่นานเธอได้สามีใหม่เป็นชายหนุ่มหน้ามนคนไทยคนหนึ่ง     แล้วไม่ทราบข่าวคราวของเธออีกเลย

607tamjai-Merewether

สาวอีกคนเป็นนักศึกษาหน้าตาดีมากอย่างสาวยุโรปใต้ไปทางกรีก อิตาลี หรือตุรกี ผมเจอเธอ… อันที่จริงควรพูดว่า เธอเจอผมที่ห้องสมุด วันแรกที่รู้จักกันเธอเข้ามาขอนั่งร่วมโต๊ะ ด้วยสไตล์เดิมคือหัวเราะในลำคอ ขวยเขิน ก่อนทักทายว่าเห็นผมนั่งอยู่ในห้องสมุดคนเดียวมาหลายวัน ขอเป็นเพื่อนด้วย

ถ้าคุณมีคนอยู่ในหัวใจเรียบร้อยแล้ว ต่อให้มีหญิงสาวหน้าตาสวยดุจนางงามมานั่งยั่ว ต่อหน้าก็จะไม่หวั่นไหว   วันต่อมาผมเจอแม่นักศึกษาสาวคนนี้อีก มานั่งชวนคุย   ผมได้แต่สงสัยแต่ไม่ได้ถามว่า เธอไม่สนใจตำรับตำราเรียนบ้างหรือเพราะใกล้จะสอบแล้ว

วันต่อ ๆ มาเธอก็หอบหนังสือมาอ่านได้ไม่เท่าไร ก็ชวนผมคุย พอได้ช่องก็บอกว่า เบื่ออ่านหนังสือชวนผมไปดูหนัง   ผมก็เลี่ยงไปว่า ดูหนังสือไม่ทัน รอไว้หลังสอบเสร็จแล้วจะไปดูด้วยกัน   เธอเปลี่ยนมาเป็นชวนไปหาอะไรกินที่คาเฟ่   อันที่จริงผมก็ยินดีจะออกไปหาอะไรกินกับเธอ เพราะไม่เห็นเสียหายอะไร ดีเสียอีกที่มีคนสวย ๆ เป็นเพื่อน   แต่บังเอิญใกล้ถึงเวลาเข้าเรียนพอดี   จากวันนั้นมาผมก็ไม่ได้เข้าห้องสมุดอีกเลย จนกระทั่งสอบเสร็จเทอมสุดท้ายพอดี

ในยุคของผมยังเป็นยุคที่ผู้ชายจีบผู้หญิง แต่ในยุคปัจจุบัน   หลายอย่างเปลี่ยนไป เลยไม่ทราบว่า เวลาสาวออสซี่จะจีบผู้ชาย   เธอยังมีอาการขวยเขินด้วยการหัวเราะในลำคอ เหมือนอย่างที่ผมมีประสบการณ์มาแล้วหรือเปล่า

ถึงวันนี้ผมยังนึกเล่น ๆ อยู่ว่า หากผมเกิดตกล่องปล่องชิ้นกับแม่สาวนักศึกษาคนนี้   ญาติพี่น้องผมจะเรียกชื่อเธอว่าอะไรดี!   ขนาดพ่อ “โกโบริ” ยังถูกญาติพี่น้องของแม่อังศุมาลินแห่งคลองบางกอกน้อยเรียกอย่างไทยว่า “พ่อดอกมะลิ”   ส่วนผมเห็นจะต้องตั้งชื่อให้เธอใหม่   หาไม่แล้วญาติพี่น้องของผมที่คลองบางกรวยคงจะเรียกเธอว่า “แม่………..” เป็นแน่       เพราะเธอบอกผมว่าเธอชื่อ “รูเปอเรอร์” ครับ……….พบกันใหม่ฉบับหน้า



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: